จับตาการเทกออฟของ OR ในปี 68 ที่ชู ‘ธุรกิจไลฟ์สไตล์’ เป็นดาวรุ่ง และผลักดัน ‘คาเฟ่ อเมซอน’ สู่ตลาดต่างประเทศให้เหมือน ‘สตาร์บัคส์’

กำลังก้าวสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญอีกครั้ง สำหรับ OR หรือ ‘บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน)’ หลังจาก ‘ดิษทัต ปันยารชุน’ ครบวาระการทำงานในฐานะ ซีอีโอ OR ในวันนี้ (11 ธ.ค. 2567) ซึ่งก่อนหน้าที่จะหมดวาระเขาได้พูดถึงทิศทางการเติบโตของ OR ในอนาคตในหลายประเด็น โดยฟันธงว่า ปี 2568 จะเป็นปีแห่งการลงทุน และเทกออฟของ OR

 

แล้วธุรกิจอะไรจะเข้ามาเป็นตัวขับเคลื่อนให้เห็นภาพที่ว่า?

 

คำตอบคือ ‘ธุรกิจไลฟ์สไตล์’ ที่ทางดิษทัตบอกว่า จะเป็นดาวรุ่งสำหรับ OR ด้วยเหตุผล 1.เป็นธุรกิจที่มีช่องว่างให้เติบโตได้อีกมาก และ 2.ในปีนี้ได้มีเคลียร์พอร์ต ‘ตัด’ ธุรกิจไม่ก่อให้เกิดรายได้และกำไรที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตของกลุ่มธุรกิจนี้ออกไปแล้ว 5-6 ตัว นั่นหมายถึงโอกาสและศักยภาพการลงทุนในธุรกิจไลฟ์สไตล์ของ OR จะมีมากขึ้น

 

โดยธุรกิจที่ได้ตัดออกไปจากพอร์ต ได้แก่ ธุรกิจไก่ทอด ‘เท็กซัส ชิคเก้น’, ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น ‘โคเอ็น’, แอปพลิเคชันด้านอะไหล่รถยนต์ FIXX, ‘ลงทุนแมน’ และ OR CHINA บริษัทที่ดำเนินการคาเฟ่ อเมซอนในประเทศจีน

 

รวมถึงได้มีการทบทวนแผนลงทุนใน Orbit Digital บริษัทพัฒนาด้านดิจิทัล เทคโนโลยี ที่ทาง OR ร่วมลงทุนกับ ‘บลูบิค กรุ๊ป’ ภายใต้โจทย์ จะทำอย่างไรให้บริษัทแห่งนี้เป็นที่รู้จัก และมี Value มากขึ้น เพราะในอนาคต OR ต้องการให้ Orbit Digital เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

 

“ก่อนจะถอยหรือตัดธุรกิจอะไรออกไป จะมีการมอนิเตอร์ และอัดฉีดเงินเข้าไปในช่วง 8 เดือน ดูว่า จะฟื้นหรือกระเตื้องหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ต้องเอาออก อย่างเท็กซัส ชิกเก้น มันพิสูจน์มาสิบปีแล้วไม่มีกำไร ส่วนธุรกิจกาแฟในจีน เราสู้ไม่ได้ เพราะบิสิเนสโมเดลของที่นั้นเป็นการเผาเงิน เราไม่อยากทำแบบนั้น”

 

การตัดธุรกิจไม่ก่อรายได้และกำไรออกจากพอร์ต จะส่งผลให้ EBITDA Margin ในปี 2568 ของ OR ปรับเพิ่มขึ้นจาก 27% เป็น 30% แต่สิ่งสำคัญหลังจากอุดรูรั่วที่ไม่เอื้อต่อการเติบโตแล้ว คือ ในปีหน้าต้องมีการลงทุนในธุรกิจไลฟ์สไตล์เพิ่ม และต้องเป็นการลงทุนในตัวใหญ่ ๆ ให้ได้ ซึ่งตามไปป์ไลน์จะมีลงทุนเพิ่มอีก 2-3 ธุรกิจ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้

 

“คอนเซ็ปต์ลงทุนของเราต่อไปจะต้อง ‘เล็ก ๆ ไม่ ใหญ่ ๆ เอา’ เพราะเมื่อลงทุนธุรกิจเล็ก เราเจ็บตัวทุกครั้ง เพราะ SME ไม่สามารถสเกลอัพขึ้นไม่ได้ และไม่มีอิมแพคต่อ OR คือ ลงทุนร้อยล้าน แต่เราเป็นธุรกิจแสนล้าน มันไม่เวิร์ก”

เดินหน้าบุก Beauty & Wellness

สำหรับธุรกิจไลฟ์สไตล์ที่ OR ได้เพิ่มเข้ามาในพอร์ตแล้วในปีนี้ ก็คือ found&found ร้าน Beauty & Wellness ภายใต้แนวคิด SIMPLE . EASY. EVERYSKIN ที่จะคัดสรรผลิตภัณฑ์และแบรนด์ชั้นนำจากไทย เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ที่มีราคาเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นธุรกิจที่หลายคนอาจสงสัยว่า เป็นธุรกิจที่ ‘ใช่’ สำหรับ OR หรือไม่

 

ดิษทัตยืนยันว่า ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่เป็นอนาคต และถือเป็นการก้าวออกไปจาก Comfort Zone ของ OR เพราะเป็นธุรกิจที่ตอบสนองกับเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง ประกอบกับสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันที่กำลังจะเข้าสู่ Ageing society อย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้ Beauty & Wellness ยังไม่มีเจ้าของตลาดชัดเจน ซึ่ง OR เองมีศักยภาพและความพร้อมในเรื่อง ‘เงินทุน’ สำหรับบุกตลาดนี้ โดยตอนนี้ร้าน found&found มีด้วยกัน 5 สาขา ได้แก่ สาขา EnCo ศูนย์เอนเนอร์ยี่คอมเพล็กซ์, สาขา พีทีที สเตชั่น สายไหม 56, สาขา พีทีที สเตชั่น บรมราชชนนี 97, สาขา OR Space รามคำแหง 129 และศูนย์การค้าแพชชั่น ช้อปปิ้งเดสติเนชั่น ระยอง

 

ส่วนแผนที่จะผลักดันให้ร้าน found&found สร้างอิมแพ็คและมีการเติบโตได้ดี ในช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 ทาง found&found จะมีการไปลงทุนกับพาร์ทเนอร์รายใหญ่ และขยายสาขาต่อเนื่องให้ครบ 10 สาขา ภายในปี 2568

 

‘คาเฟ่ อเมซอน’ ต้องลุยต่างประเทศให้เหมือน ‘สตาร์บัคส์’ ถึงอยู่รอด

 

ขณะที่ ‘คาเฟ่ อเมซอน’ เรือธงหลักของธุรกิจไลฟ์สไตล์ที่ดำเนินธุรกิจมานาน 22 ปี โดยปัจจุบันมีสาขาในประเทศมากกว่า 4,500 สาขา และในต่างประเทศ 400-500 สาขา ถือเป็นเชนร้านกาแฟใหญ่ที่สุดอันดับ 6 ของโลก จะต้องพยายามไปขยายสาขาในต่างประเทศให้มากขึ้นเหมือนกับ ‘สตาร์บัคส์’

 

หากไม่สามารถทำได้ ดิษทัตบอกว่า ในอีก 5 ปี ธุรกิจจะ ‘ไปไม่รอด’ เพราะปัจจุบันตลาดร้านกาแฟในประเทศล้น จนขยายสาขาใหม่ได้ยากแล้ว 

 

“กว่า 20 ปีที่ผ่านมา คาเฟ่ อเมซอน เป็นธุรกิจที่ทำได้ดีมาก มียอดขายมากกว่า 1 ล้านแก้วต่อวัน แต่มาถึงตอนนี้ความดีนั้นต้องมีการปรับ เพื่อให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้นไปอีก ที่ผ่านมาเราพยายามมองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เช่น เริ่มดำเนินการโรงผลิตแก้ว ช่วงไตรมาส 4 ปี 2568 และต้องจัด World Coffee Seminar พัฒนาด้านต่าง ๆ เพื่อให้แตกต่างจากคู่แข่งที่ตามเรามา”

ความจริงการชูธุรกิจไลฟ์สไตล์ ให้เป็นดาวรุ่งสร้างการเติบโต เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ OR ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง นั่นคือ การผลักดันสัดส่วนของธุรกิจ Non-oil ให้มีสัดส่วนใกล้เคียงกับรายได้จากธุรกิจหลักและเป็นธุรกิจรากฐานของ OR นั่นคือกลุ่ม oil

 

อย่างไรก็ตาม ความชัดเจนทั้งหมด ตั้งแต่ทิศทาง กลยุทธ์ และงบลงทุน คงต้องรอทาง ซีอีโอ คนใหม่ของ OR  ‘ม.ล. ปีกทอง ทองใหญ่’ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค. 2567) มาแถลงอีกครั้ง โดยคาดว่า จะเกิดขึ้นช่วงเดือน ม.ค.หรือ ก.พ.2568