ความทรงอิทธิพลอีกรูปแบบหนึ่งที่นอกเหนือไปจากตัวบุคคลแล้ว หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าเจ้า “วิทยุท้องถิ่น” ที่มีรัศมีของคลื่นไปได้ไม่ไกลนัก จะกลายเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ชนบทตามพื้นที่ห่างไกลที่มีข้อจำกัดในการรับชมโทรทัศน์หรือฟังวิทยุจากส่วนกลาง ซึ่งเจ้าวิทยุชุมชนนี้สามารถเข้าถึงทุกประตูบ้าน ไม่เว้นแม้แต่ในไร่-นาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หลายฝ่ายอาจประเมินความสามารถของวิทยุชุมชนต่ำเกินไป โดยมองว่าน่าจะมีผู้รับฟังไม่มากนัก จากข้อจำกัดในการออกอากาศ แต่ถ้าลองตรวจสอบให้ดี ในการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มเสื้อแดงที่กรุงเทพมหานครที่ผ่านมา มีผู้คนเข้ามาร่วมชุมนุมไม่น้อย มาจากความสำเร็จของเจ้าวิทยุชุมชน ที่สามารถทำหน้าที่เป็นทั้งกระบอกเสียง และเป็นศูนย์ระดมพลพรรคคนเสื้อแดงจากทุกพื้นที่ให้เข้ามาร่วมชุมนุม
ความได้เปรียบของวิทยุชุมชน คงต้องเริ่มกันที่ค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งสถานีที่ใช้เงินลงทุนเพียงหลักหมื่นกลางๆ ขึ้นไปก็สามารถเป็นเจ้าของวิทยุชุมชนได้แล้ว หากต้องการให้สามารถออกอากาศได้กว้างไกลขึ้นไปอีกเพิ่มงบแค่ 1 แสนบาทต้น ๆ ก็รับฟังได้ไกลเป็นสิบกิโลเมตร แถมจะเลือกแบบขออนุญาตถูกต้องตามหลักเกณฑ์หรือไม่ก็ย่อมได้
“เดิมเราเคยขออนุญาตกับกรมประชาสัมพันธ์และเปลี่ยนมาที่ไปรษณีย์โทรเลข ขณะนี้กฎหมายยังไม่มีความชัดเจน ต้องรอให้หลักเกณฑ์ในการควบคุมออกมาอย่างเป็นทางการเสียก่อน จึงทำให้มีบางคลื่นที่ออกอากาศโดยไม่ได้ขออนุญาตก็มีไม่น้อย” เจ้าของวิทยุชุมชนรายหนึ่งเล่าให้ฟัง
วิทยุชุมชนที่ยังไม่ได้รับอนุญาต หรือเรียกว่า “เถื่อน” นั้นมีอยู่มากมาย แต่ในการตรวจสอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนคนควบคุม จึงทำให้มีการตรวจสอบคลื่นไม่มากนัก ที่สำคัญคือหากจะปิดวิทยุชุมชนเถื่อนจะต้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่มาดำเนินการ กว่าจะถึงขั้นตอนนั้นไม่มีใครรออยู่ให้ถูกจับ อย่างมากก็แค่ยึดเครื่องส่งไปเท่านั้นเอง
เมื่อ “เกิดง่าย ใช้ทุนน้อย” ออกอากาศได้ภายใต้รัศมีสิบกว่ากิโลเมตร ไร้หน่วยงานควบคุม วิทยุชุมชนจำนวนไม่น้อยจึงถูกภาคการเมืองนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะช่วงที่มีการเดินเครื่องชุมนุมประท้วง คลื่นเหล่านี้แม้ว่าจุดประสงค์ในการขออนุญาตครั้งแรกจะเป็นแบบหนึ่ง แต่สุดท้ายก็กลายเป็นคลื่นที่ตอบสนองต่อการชุมนุมทางการเมือง ไม่ต้องกล่าวถึงคลื่นเถื่อนที่บางแห่งตั้งขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
ในจังหวัดเล็กบางจังหวัดมีวิทยุชุมชนเกือบ 100 คลื่น แม้ว่าสถานีวิทยุแต่ละแห่งจะออกอากาศได้ไม่ไกลนัก แต่ถ้าเจ้าของวิทยุมีข้อตกลงร่วมกันของแต่ละสถานีแล้วตรงนี้ก็เชื่อมสัญญาณต่อกันออกอากาศก็รับฟังครอบคลุมได้ทั้งจังหวัด
เจ้าของวิทยุชุมชนในพื้นที่สีแดงให้ความคิดเห็นว่า จริงๆ แล้ววิทยุชุมชนนั้นถือว่าเป็นจุดแข็งของแต่ละท้องถิ่น เพราะวิทยุจากส่วนกลางไม่สามารถรับฟังได้ทั้งประเทศ และผู้ฟังคือเพื่อนบ้านของเราเป็นทั้งญาติและเพื่อนกันทั้งนั้น คนฟังกับคนจัดรายการก็เห็นหน้าเห็นตากันทุกวัน พื้นที่รอบๆ สถานีไม่ต้องห่วงในเรื่องความไม่ชัดเจน ฟังกันแทบทุกครัวเรือน จะไปทุ่งนาหรือทำสวนก็ฟังได้
แน่นอนว่าเมื่อป้อนข้อมูลใดให้กับญาติๆ หรือเพื่อนฟัง พวกเขาย่อมเชื่อเรามากกว่าคนอื่น ที่สำคัญคนในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ชื่นชอบทักษิณ ชินวัตร เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เมื่อมีการบอกกล่าวว่าสิ่งที่ทักษิณถูกกระทำนั้นไม่เป็นธรรมยิ่งทำให้คนเหล่านี้เชื่ออย่างสนิทใจ และพร้อมที่จะออกมาตามที่แกนนำนัดหมาย
ที่ผ่านมาวิทยุชุมชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองนั้น ในช่วงที่ยังไม่มีการชุมนุมก็จะมีผู้จัดรายการที่ป้อนข้อมูลทางการเมืองให้กับผู้ฟัง พื้นที่ใดที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่อยู่ในสังกัดเพื่อไทยก็จะมีเงินสนับสนุนสถานีวิทยุที่ให้ความร่วมมือ แต่ในบางจังหวัดที่ไม่มี ส.ส.เพื่อไทยอยู่ก็จะมีผู้จัดรายการบางคนที่ชื่นชอบพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร ทำหน้าที่โฆษณาชวนเชื่อแทน
ตรงนี้อาจมีข้อสงสัยว่านักการเมืองเจ้าของพื้นที่ต่างพรรคเข้ามาห้ามปรามหรือไม่ คงต้องตอบว่าบางพรรคการเมืองก็ถูกยุบพรรคเช่นเดียวกับเพื่อไทย หากสิ่งใดที่ทำให้อายุการทำงานของรัฐบาลสั้นลงย่อมต้องเป็นผลดีกับ ส.ส.เหล่านี้ หรือแม้กระทั่งบางพื้นที่ที่เป็น ส.ส.ประชาธิปัตย์อยู่ก็ตาม แต่ ส.ส.เหล่านั้นไม่มีอำนาจปิดสถานีวิทยุชุมชน เพราะอำนาจดังกล่าวอยู่ที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)
เมื่อเป็นเช่นนี้วิทยุชุมชนนอกจากจะให้ข้อมูลเพียงด้านเดียวแล้ว ยังทำหน้าที่ปลุกระดมด้วยการผ่านตัวผู้จัดรายการและการเชื่อมสัญญาณการถ่ายทอดการชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้น วิทยุชุมชนยังเป็นศูนย์บัญชาการของพลพรรคเสื้อแดงตามต่างจังหวัดได้เป็นอย่างดี ทำหน้าที่นัดหมายรวบรวมไพร่พลเข้ามาสมทบในเมืองหลวงได้ทันที หากแกนนำผู้ชุมนุมในเมืองหลวงออกคำสั่ง
ในอีกด้านหนึ่งการที่มีวิทยุชุมชนแบ่งบานกันทั้งประเทศอย่างนี้ การเลือกคลื่นในการออกอากาศก็เลือกกันตามสะดวก บางแห่งใช้ความถี่ทับซ้อนกับคลื่นใหญ่ในกรุงเทพฯ บางพื้นที่ที่ใกล้กรุงเทพฯ เดิมเคยรับฟังรายการ จากนี้ไปก็จะไม่สามารถรับฟังได้ นั่นหมายถึงพื้นที่นั้นจะถูกปิดกั้นข้อมูลข่าวสารจากทางวิทยุไปทันที
การรุกเข้ามาควบคุมวิทยุชุมชนของนักการเมืองนั้น มีทั้งการให้คนใกล้ชิดเข้ามาขออนุญาต หรือลงทุนเองติดสถานีวิทยุเอง แม้ว่าจะเป็นวิทยุเถื่อน แต่หากสามารถใช้ประโยชน์ได้ช่วงระยะเวลาหนึ่งจนเป้าหมายของเขาสำเร็จก็คุ้ม
นอกจากนี้ยังมีการซื้อคลื่นทั้งคลื่นจากเจ้าของสถานีวิทยุเดิมก็มี วิธีการนี้ถือว่ามีความปลอดภัยสำหรับกลุ่มการเมือง เพราะชื่อผู้ขออนุญาตเป็นของคนที่ไม่เกี่ยวข้อง และหากเกิดปัญหาขึ้นมาก็มีผู้รับผิดชอบแทน
ดังนั้นปฏิบัติการณ์โค่นล้มรัฐบาลของกลุ่มคนเสื้อแดง ที่มีทักษิณ ชินวัตร เป็นผู้กำหนดทิศทางปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า “วิทยุชุมชน” เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญที่มีอิทธิพลไม่แพ้บุคคลในระดับแกนนำของการชุมนุม