*** การบินไทยเริ่มใช้หลักโลว์คอสต์มาบริหาร
จากจำนวนผู้โดยสารในไตรมาสแรกของปี 2561 ที่ตลาดรวมมีมากกว่า 10 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วกว่า 15% แต่การบินไทยยังไม่สามารถทำยอดผู้โดยสารมากกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว แต่ยังดีที่ทำกำไรแล้ว หลังขาดทุนมาต่อเนื่องหลายปี โดยปี 2557 ขาดทุน 15,611 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 13,067 ล้านบาท เว้นปี 2559 กำไร 15 ล้านบาท ส่วนปี 2560 กลับมาขาดทุนอีก 2,107 ล้านบาท
ปี 2561 และปี 2562 มีความหวังว่ากำลังจะกลับมามีกำไร มีการขึ้นค่าธรรมเนียมน้ำมัน และแผนปฏิรูปการบินไทย และผลกระทบจากการขาดทุนของการด้อยค่าของสินทรัพย์ลดลง คือเครื่องบินที่ไม่ได้ใช้งานและรอการขาย
ไตรมาสแรกมีรายได้รวม 53,466 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.4% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว แต่กำไรสุทธิ 2,717 ล้านบาท ลดลง 14% ส่วนผู้โดยสารแม้จะมีส่วนแบ่งมากที่สุดเพราะมีเส้นทาง เที่ยวบิน และทั่วโลก แต่ก็ลดลงจากปีที่แล้ว คือจาก 6.52 ล้านคน เป็น 6.25 ล้านคน หรือลดลง 4.1% แต่จากการบริหารตามแนวทาง 5 ข้อดังกล่าวจึงหวังว่าจะมีกำไรต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี
เหตุผล 5 ข้อที่การบินไทยผลประกอบการดีขึ้น เพราะมีการพัฒนางานหลายด้าน คือ 1.คุมต้นทุน นำรูปแบบสายการบินต้นทุนต่ำมาประยุกต์ใช้ 2.ปรับปรุงหน่วยธุรกิจให้เป็นศูนย์กำไร (Profit Center) 3.ให้บริการแบบครบวงจร 4.ใช้ดิจิทัลแอปพลิเคชั่นเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขัน และ 5.บริหารงานบุคคล โครงสร้างองค์กร วัฒนธรรมองค์กรพัฒนาบุคลากรให้มีความสามารถ
บริษัทหลักทรัพย์เคจีไอประเมินในบทวิเคราะห์ว่า การบินไทยจะมีกำไรปี 2561 จำนวน 4,850 ล้านบาท และปี 2562 จำนวน 6,780 ล้านบาท
*** ไทยแอร์เอเชียติดลมบน
ไทยแอร์เอเชีย ยังคงติดลมบน เพราะกวาดส่วนแบ่งตลาดผู้โดยสารในเส้นทางในประเทศจำนวนมาก จนทำให้มียอดรวมผู้โดยสาร รายได้ และกำไรเติบโตอย่างดี
ในไตรมาสแรกปี 2561 ไทยแอร์เอเชียมีรายได้ 11,642.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ประมาณ 22% กำไรสุทธิ 1,004.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ปี 2560 ถึง 76.1%
3 เหตุผลหลักที่ทำให้กำไรพุ่งมาก เพราะเป็นช่วงไฮซีซั่น และมีการขึ้นค่าตั๋วเฉลี่ย 6% เป็นเฉลี่ย 1,664 บาท แม้ราคาน้ำมันแพงขึ้น 21.3% แต่ชดเชยด้วยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์
สำหรับผู้โดยสารมี 5.64 ล้านคน เพิ่มขึ้น 16% เที่ยวบิน 34,506 เที่ยว เพิ่มขึ้น 15% อัตราบรรทุกผู้โดยสารเป็น 91%
จากกำไรที่เพิ่มขึ้นนี้ เท่ากับว่าเพียง 3 เดือนแรกของปี ทำได้ถึง 60% ของกำไรที่ประมาณการไว้ทั้งปี ทำให้ไทยแอร์เอเชียมั่นใจว่าปีนี้กำไรทะลุเป้าหมายแน่นอน จากผู้โดยสารที่คาดว่าจะมี 23.2 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17% โดยบริษัทหลักทรัพย์เคจีไอประเมินว่ากำไรปี 2561 และ 2562 จะทำได้ถึง 1,670 ล้านบาท และ 2,050 ล้านบาท
*** เช่าเหมาลำไปจีนช่วยพยุงนกแอร์
นกแอร์ ที่มีสายการบินนกสกู๊ตในเครือด้วย ที่ขาดทุนมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2560 คือปี 2557 ขาดทุน 471 ล้านบาท 2558 ขาดทุน 726 ล้านบาท 2559 ขาดทุน 2,795 ล้านบาท และปี 2560 ขาดทุน 1,854 ล้านบาท
ไตรมาสแรก ปี 2561 ที่ผ่านมา มีผู้โดยสารรวม 2.52 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.83% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่มีผู้โดยสาร 2.43 ล้านคน
มีรายได้รวม 6,083.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 6% ขาดทุน 1.18 ล้านบาท หรือลดประมาณ 99% แต่หากดูเจาะลึกเฉพาะสายการบินนกแอร์ ขาดทุน 26.88 ล้านบาท แม้จะขาดทุนแต่ก็ลดลงจากปีที่แล้วมาก เพราะมีการลดต้นทุนตามนโยบายบริษัทแม่คือการบินไทยที่ถือหุ้นใหญ่ในนกแอร์และปรับกลยุทธ์บินเช่าเหมาลำไปจีนมากขึ้น
สำหรับนกสกู๊ตมีรายได้ 1,772.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 32.6% กำไรสุทธิ 9.99 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 270.77% มีผู้โดยสาร 310,000 คน เพิ่มขึ้น 22.87%
นกแอร์ไม่ประกาศการประเมินกำไรในปีนี้ แต่คาดว่าจะมีรายได้ 2,800 ล้านบาท
****บางกอกแอร์เวย์สพึงพันธมิตรบุกต่างประเทศ
สำหรับบางกอกแอร์เวย์ส ที่มีการเพิ่มเที่ยวบินต่างประเทศ และร่วมมือกับสายการบินพันธมิตรมากขึ้น ทำให้มีรายได้รวม 7,830.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.8% และพลิกมากำไรในไตรมาสแรกของปีนี้ ถึง 710 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 29.6% จากไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้วขาดทุน 834 ล้านบาท
สำหรับจำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 1.75 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.4% จากปีที่แล้วมีผู้โดยสาร 1.62 ล้านคน
เที่ยวบิน และเส้นทางบินที่เพิ่มขึ้น เช่น กรุงเทพ–ฟูโกว๊ก จาก 4 เป็น 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ กรุงเทพ–เวียงจันทน์ จาก 7 เป็น 14 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เปิดส้นทางบิน เชียงใหม่–ฮานอย 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และในเดือนกุมภาพันธ์ลงนามบริกาเที่ยวบินร่วมกับสายการบิน เอแอล อิสราเอลแอร์ไลน์ ทำให้มีพันธมิตรรวม 24 สายการบิน
ส่วนเป้าหมายของรายได้ปี 2561 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10% จากปี 2560 ที่มีรายได้ 28,493.3 ล้านบาท.