4 เกลอก๊วนเสื้อแดง The Ambitious

ปราศจากข้อสงสัย สำหรับแวดวงการเมือง บุคคลที่จัดว่า “อยากทรงอิทธิพล”มากที่สุด ต้องยกให้ “ก๊วน 3 เกลอ + 1 เจ๊” ชื่อฉายาที่ถูกเรียกขานกันติดปากของ 4 แกนนำ “ม็อบคนเสื้อแดง” “ วีระ มุสิกพงศ์ – จตุพร พรหรมพันธุ์ – ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ – จักรภพ เพ็ญแข” ซึ่งงานนี้ “กองทัพแดง” เริ่มต้นจากประกาศศักดาอย่างเกรียงไกรมีจำนวนแนวร่วมเรือนแสน แต่ลงเอยกับความปราชัยในที่สุด เพียงไม่กี่เดือนของความพยายามสร้างปรากฏการณ์ย้อนศร “พันธมิตร-รัฐบาล” กับภารกิจโค่นล้มระบอบอำมาตยาธิปไตย และขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

การชุมนุมคนเสื้อแดงจำนวนเรือนหมื่นบริเวณท้องสนามหลวง ก่อนเคลื่อนขบวนปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ และดาวกระจายต่อไปยังกระทรวงต่างประเทศ เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เพื่อทวงถามข้อเรียกร้อง 4 ข้อ ได้แก่ 1.ให้ปลดรัฐมนตรีต่างประเทศ กษิต ภิรมย์ 2.ดำเนินคดีกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เคยยึดทำเนียบรัฐบาลและสนามบิน 3.ให้นำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ และ 4.เมื่อนำรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้ ให้รัฐบาลประกาศยุบสภาทันที

ตามที่เคยบุกยื่นข้อเรียกร้องถึงหน้ารั้วทำเนียบมาแล้วรอบหนึ่ง เมื่อคราวชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 31 มกราคม ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่สร้างผลสะเทือนให้กับรัฐบาล และได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนทั้งในและต่างประเทศได้ไม่น้อย

ตามมาด้วยการผลักดันสถานการณ์การเมืองไทยให้เข้าสู่จุดวิกฤตอย่างหนักหน่วง เมื่อกลุ่มคนเสื้อแดงนำทีมโดย แกนนำทั้ง 4 นี้ นัดชุมนุมใหญ่อีกครั้งอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 8 เมษายน ด้วยจำนวนคนมากกว่า 1 แสนคน ขณะที่เป้าหมายของแกนนำม็อบเสื้อแดงถูกขยับให้สูงขึ้นเป็นการขับไล่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและองคมนตรีอีก 2 คน และโจมตีด้วยถ้อยคำหยาบคายอย่างรุนแรงแทบทุกชั่วโมงบนเวที

ควบคู่ไปกับรุมทุบรถนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลังการประชุม ครม.ที่พัทยา…บุกยึดสถานที่การประชุมอาเซียนซัมมิต …ปิดล้อมกระทรวงมหาดไทย รุมทุบตีรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี จนกระทั่งทำร้ายร่างกายทีมรักษาความปลอดภัยนายกฯ และเลขาที่ปรึกษาอย่างบ้าคลั่ง จนได้รับบาดเจ็บสาหัสไปหลายคน

ตามมาด้วยการปิดถนนสายสำคัญๆ ในทั่วกรุงเทพฯ ยึดอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและประชาธิปไตย …เผาบ้านเผาเมือง ด้วยยึดรถเมล์กว่า 60 คันมาจุดไฟเผา…ข่มขู่ระทึกขวัญคนไทย ด้วยกานำรถบรรทุกแก๊สไปจอดใกล้บ้านเรือนชุมชน จนทำให้เมืองไทยระหว่างวันที่ 8-14 เมษายน กลายเป็น “สงกรานต์วิปโยค” ซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจเมืองไทยอย่างน่าวิตก ตรึงเครียดสุดๆ ๆ

ทั้งหมดนี้ จึงส่งผลให้ “4 แกนนำ” ลงเอยด้วยการถูกจับกุม และหลบหนีไปต่างประเทศด้วยข้อหาติดตัวหลายกระทง เหตุที่เสื้อแดง “แตกพ่าย” ครั้งนี้ มีการวิเคราะห์กันว่า มาจากการวาง “ยุทธศาสตร์”การเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลที่ผิดพลาด ที่น่าสนใจ คือ ประเด็นแกนนำของกลุ่ม “ที่แตกคอกันเอง” เนื่องจากวิเคราะห์สถานการณ์ “ไม่แตก” จึงเพลี่ยงพล้ำออกนอกกรอบและสลายไปที่สุด

หากมองย้อนกลับไปยังปูมหลังของแต่ละคนพบว่า มีเส้นทางชีวิตที่แตกต่างกันพอสมควร ทั้งที่ในช่วงแรกมีเอกภาพในการเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันมาตลอด!!!

“วีระ มุสิกพงศ์” จัดว่าเป็นพี่ใหญ่ของกลุ่ม เพราะมีคุณวุฒิ-วัยวุฒิ สูงกว่าคนอื่นๆ อดีตรัฐมนตรีและ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย ผู้มีฉายาว่า “ไข่มุกดำ” เป็นผู้นำเคลื่อนไหวต่อต้าน คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อปี 2550 และยังเป็นอดีตผู้ดำเนินรายการ “ความจริงวันนี้” ทางเอ็นบีที โดยร่วมกับณัฐวุฒิ ใสเกื้อ และจตุพร พรหรมพันธุ์ ตอบโต้และวิพากษ์วิจารณ์การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ชุมนุมขับไล่รัฐบาลในขณะนั้น

วีระ เคยผ่านสนามการเมืองมาอย่างโชกโชน เคยเป็นนักเขียน นักข่าวของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เริ่มเส้นทางการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์ ปี 2518 เป็น ส.ส.เขตพญาไท โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมาก่อนในสมัยรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และยังเคยขัดแย้งกับสมัคร สุนทรเวช สมัยเป็น รมช.มหาดไทย สมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เขียนหนังสือ “สันดานรัฐมนตรี” และสร้างหนัง “ไอ้ซ่าส์…จอมเนรคุณ” เพื่อตอบโต้นายสมัครที่เปิดเกมด้วยการเขียนหนังสือ “สันดานนักหนังสือพิมพ์” ยิงเป้ามาที่วีระโดยตรงก่อน

จากนั้นก็กลายมาเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ แต่แตกขั้วกับชวน หลีกภัย ลาออกมาตั้งพรรคประชาชน แต่ยุบในเวลาต่อมา และกลายเป็นไปเป็นคนสนิทกับพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ พรรคความหวังใหม่ ที่ต่อมาควบรวมกับพรรคไทยรักไทย จึงทำให้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย

ด้านคดีความ วีระก็สร้างไว้ไม่ใช่น้อยเลย ตั้งแต่ปี 2531 ต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุกภาพ ในการปราศัยหาเสียง ที่บุรีรัมย์ ต้องโทษจำคุก 4 ปี ต่อมาได้รับพระราชทานอภัยโทษ โดยคำขอลงนามเสนอ โดยพลเอก ประจวบ สุนทรางกูร รัฐมนตรีมหาดไทย ในรัฐบาลเปรม ต่อมาในปี 2551 ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี และองค์รัชทายาท ซึ่งอยู่ระหว่างสรุปสำนวนของตำรวจเพื่อสั่งฟ้องอัยการต่อไป

อีกทั้งยังถูกแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทสนธิ ลิ้มทองกุล กรณีร่วมกันจัดรายการความจริงวันนี้ เมื่อวันที่ 21-21 สิงหาคม กล่าวอ้างว่าเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นหนี้แล้วไม่ยอมใช้ แต่อยากมากู้ชาติ โดยศาลรับคำร้องและไต่สวนมูลฟ้องไปแล้ว ล่าสุดยอมเข้ามอบตัวและถูกจับกุมในฐานะแกนนำม็อบคนเสื้อแดง ปิดล้อมทำเนียบและก่อจลาจล

เบื้องหลังความล้มเหลวครั้งนี้ ลือกันให้แซ่ดว่า “วีระ” ไม่ลงรอยกับ “จักรภพ และจตุพร” เกิดความแตกแยกทางความคิดสูงมาก ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ถูกรัฐบาลและทหารรุกหนัก ถึงขั้นทะเลาะกันอย่างรุนแรงกับจักรภพ โดยเฉพาะเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 และ 13 เมษายน 2552 เนื่องจากวีระอยากเน้นชุมนุมอยู่ในที่ตั้ง หรือไปชุมนุมในถนนที่ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด ต่างกับจักรภพ ที่เน้นความรุนแรงบุกตะลุยพิฆาตรัฐบาลอย่างเต็มกำลัง

ด้าน จักรภพ แกนนำคนเสื้อแดงนั้น แม้จะมีพรรษาทางการเมืองอ่อนกว่า แต่ถือว่าเติบโตอย่างก้าวกระโดดบนถนนการเมืองเลยทีเดียว เพราะเพิ่งมาก้าวเข้ามาเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายก สมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐบาลทักษิณ โดยก่อนหน้านั้นเป็นเพียงผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ อดีตนักวิเคราะห์ข่าวต่างประเทศ ที่ภายหลังเป็นรัฐมนตรี ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์พีทีวี และเป็นผู้เปลี่ยนแปลงการบริหารงานสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เดิมชื่อช่อง 11 ไปสู่ทีวีแห่งชาติ (National Broadcasting Services of Thailand)

ขณะที่คดีความของจักรภพนั้น ก็ไม่แตกต่างจากวีระมากนัก โดยเฉพาะการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เมื่อครั้งไปปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษ เรื่อง ระบบอุปถัมภ์ ที่ฐานะเป็นอุปสรรคขัดขวางความเป็นประชาธิปไตย ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2550 หลังจากถูกจับกุมหน้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ และบรรยายเป็นภาษาไทยต่อเครือข่ายคนรักทักษิณที่นครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน

ล่าสุดเขาหนีไปต่างประเทศหลังแกนนำคนอื่นๆ รวมถึงวีระประกาศยอมแพ้ยุติการชุมนุมคนเสื้อแดง โดยยังคงปักหลักสู้ ซึ่งก็ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์และสำนักข่าวบีบีซี จากที่ซ่อนตัวแห่งหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยเมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ระบุว่า คนเสื้อแดงยังคงพยายามขับไล่รัฐบาลชุดนี้ต่อไป แต่จะไม่ใช้กลยุทธ์การประท้วงแบบเดิมๆ ที่ใช้เวลานานอีกแล้ว แต่พร้อมจะต่อสู้ด้วยเกมใต้ดินมากขึ้น

ทางด้านอีก 2 แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. อย่าง “ณัฐวุฒิ-จตุพร” มีจุดร่วมกันมาตั้งแต่ต่อต้าน คมช. โดยณัฐวุฒิเคยเป็นพิธีร่วมในรายการความจริงวันนี้ทาง NBTสมัยรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ต่อมาถูกบทบาทให้เป็นโฆษกประสำนักนายรัฐมนตรี อดีตบัณฑิตนิเทศน์ฯ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้สร้างชื่อเสียงด้วยการเป็น “นักโต้วาที” ของโรงเรียน จนเป็นแชมป์ รายการโต้คารมมัธยมศึกษาทางช่อง 3

อีกทั้งยังเป็นดาราเงาเสียงของ “ไตรรงค์ สุวรรณคีรี” รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่แปลกที่เขาได้รับความไว้วางใจจากพรรคไทยรักรักไทยเป็นทีมโฆษกพรรค และเป็นแกนนำก่อตั้งบริษัท เพื่อนพ้องน้องพี่ และผู้อำนวยการสถานีพีทีวี ล่าสุดกับเหตุการณ์ชุมนุม และก่อจลาจลเมืองครั้งล่าสุด ณัฐวุฒิก็จัดว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมสมรู้ร่วมคิดเหมือนเช่นแกนนำคนอื่นๆ

ส่วนจตุพร แกนนำ นปช.อีกคนนั้น แม้เหตุการณ์ล่าสุดก่อนม็อบเสื้อแดงพ่ายนั้น จะเป็น 3 เกลอร่วมก๊วนกับวีระและณัฐวุฒิ แต่เมื่อถึงจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ครั้งสำคัญ เขาเลือกเดินร่วมทางกับจักรภพ ด้วยการหนีไปตั้งหลัก ก่อนออกมาเดินเกมทางสื่อ โดยไม่ถูกจับกุม เพราะได้รับเอกสิทธคุ้มครองในฐานะ ส.ส.ระบบสัดส่วน พรรคเพื่อไทย

จตุพรนั้นได้ชื่อว่า แจ้งเกิดทางการเมือง เพราะเป็นผู้นำนักศึกษาช่วงพฤษภาทมิฬ ปี 2535 เกิดการปราบปรามผู้ชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน ต่อมาได้ย้ายการชุมนุมไปปักหลักไฮด์ปาร์คที่รามคำแหง จนโดดเด่นเป็นที่จับตามอง
เขาเข้าสู่การเมืองครั้งแรกสังกัดพรรคพลังธรรม สมัยไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค ต่อมาใกล้ชิดกับ
“ภูมิธรรม เวชชยชัย” รองประธานมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ทำให้มีส่วนร่วมในการก่อตั้งพรรคไทยรักไทย

ไม่เพียงเท่านี้ ยังพยายามสร้างความโดดเด่นทำงานการเมือง ก่อตั้งพรรคศรัทธาธรรมเป็นของตัวเอง ตั้งแต่อยู่ในกลุ่มนักศึกษารามคำแหง จึงมีชื่อรู้จักกันดีว่า “ตู่ ศรัทธาธรรม” เป็นฐานกำลังเคลื่อนไหว จนกระทั่งเข้าร่วมเป็น 1 ใน 8 แกนนำ นปช.ที่เคลื่อนไหวต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. และหนึ่งในพิธีกรความจริงวันนี้ หลังยุบพรรคและเปลี่ยนขั้วรัฐบาล จตุพร ได้ทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภา และเป็นหนึ่งในผู้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล และเมื่อ นปช.ชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เขาก็ร่วมขึ้นปราศรัย เป็นฐานแกนนำบนเวทีคนเสื้อแดงอย่างเต็มตัว

จึงไม่แปลกที่วันนี้ ทั้ง 4 แกนนำม็อบเสื้อแดงจำต้องแยกย้ายแบบทางใครทางมันไปก่อน เพราะความเหมือนที่แตกต่างกัน ในแง่ด้านความคิด การต่อสู้ เมื่อครั้นต้องเผชิญกับจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตอย่างไม่คาดฝันนั่นเอง