"สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" The Powerless Ma

สาทิตย์ วงศ์หนองเตย เป็นหนึ่งในผู้มีอิทธิพลอีกคนหนึ่ง ที่มีทั้งอำนาจในการสั่งการหน่วยงานราชการต่างๆ ภายใต้ความรับผิดชอบอยู่ในมือ โดยเฉพาะสื่อภาครัฐ แต่ในรอบ 3 เดือนนับตั้งแต่รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนเขากลายเป็น “ผู้ทรงอิทธิพลแต่ไร้อิทธิพล” ไปอย่างสิ้นเชิง

จนเป็นส่วนหนึ่งของการก่อให้เกิดการชุมนุมใหญ่ของคนเสื้อแดงและออกอาละวาดป่วนการประชุมผู้นำอาเซียนจนต้องประกาศยกเลิก รวมไปถึงการทำร้ายนายกรัฐมนตรีถึง 2 ครั้งทั้งที่พัทยาและกระทรวงมหาดไทย และประกาศศักดาด้วยการป่วนกรุงในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา

ผู้คนในสังคมรวมถึงคนในรัฐบาลได้พุ่งเป้ามาที่ประสิทธิภาพในการทำงานของ “สาทิตย์ วงศ์หนองเตย” ทันที เนื่องจากตลอดระยะเวลาที่เข้ามารับตำแหน่งยังไม่สามารถปฏิบัติการในเชิงรุกด้านข้อมูลข่าวสาร เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้ ทั้งๆ ที่รัฐมนตรีผู้นี้มีสื่อของรัฐอยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นกรมประชาสัมพันธ์ ที่มีทั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 วิทยุในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์ที่มีทั่วประเทศ และช่อง 9 อ.ส.ม.ท.

ด้วยความเกรงต่อข้อครหาในเรื่อง “แทรกแซงสื่อ” และ “ความสมานฉันท์” กลายเป็นแรงบีบให้รัฐมนตรีผู้นี้เปิดโอกาสให้กลุ่มคนเสื้อแดงขยายเครือข่ายได้อย่างรวดเร็วปราศจากการปิดกั้น

คนเสื้อแดงที่เข้ามาร่วมชุมนุมในกรุงเทพฯ จำนวนมากนั้นเป็นบทสะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารงานของผู้ที่คุมสื่อภาครัฐได้เป็นอย่างดี

ตลอดระยะเวลา 3 เดือน มีการเปลี่ยนแปลงในสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 เพียงแค่การเปลี่ยนโลโก้ของสถานีและยกเลิกสัญญาในการผลิตข่าวกับบริษัทดิจิตอล มีเดียส์ โฮลดิ้ง ที่มาตามความต้องการของจักรภพ เพ็ญแข เท่านั้น คนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นสายเลือดของสถานีโทรทัศน์ไอทีวีที่บริษัทในเครือของทักษิณ ชินวัตร ถือหุ้นใหญ่

ที่น่าประหลาดใจไปกว่านั้นคือบริษัทใหม่ที่เข้ามารับผิดชอบข่าวของช่อง 11 กลายเป็นบริษัท อินดิเพนเด้นท์ นิวส์ เซ็นเตอร์ ที่รับช่วงผลิตข่าวต่อจากดิจิตอล มีเดียส์ โฮลดิ้ง อีกที ซึ่งก็เป็นทีมงานชุดเดิม นำโดย ฉัตรชัย ตะวันธรงค์ ที่ออกจากฐานเศรษฐกิจ มาร่วมงานไอทีวี ตามคำชวนของบุญคลี ปลั่งศิริ อดีตซีอีโอ กลุ่มชินคอร์ป ซึ่งนำเสนอข่าวให้กับฝ่ายทักษิณ ชินวัตร มาโดยตลอด แถมผังรายการใหม่กว่าจะเดินเครื่องได้ก็ย่างเข้าเดือนเมษายน 2552

การตัดสินแบบฝืนความรู้สึกของผู้คน ด้วยการเลือก “กลุ่มเก่า” เข้ามามีบทบาทเช่นเดิม หากพลิกปูมผู้บริหารของบริษัทดิจิตอล มีเดียส์ โฮลดิ้ง ไม่ใช่คนอื่นไกล แต่เป็นคนคุ้นเคยกับกลุ่มอีสานใต้ ภายใต้การนำของ เนวิน ชิดชอบ ซึ่งสนิทชิดเชื้อกับ สุเทพ เทือกสุบรรณ

แม้จะขัดแย้งความรู้สึกของคนทั่วไป แต่สาทิตย์ ยังคงเลือกที่จะเปิดไฟเขียวปล่อยให้ NBT ไปอยู่ในมือของ กลุ่มหมอผีดังเดิม

ขณะที่สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม D Station เริ่มออกอากาศในช่วงเดือนมกราคม 2552 พร้อมๆ กับการเข้ามารับตำแหน่งของรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีผู้นี้ เขาออกอากาศ 24 ชั่วโมง แน่นอนว่าเนื้อหาสาระส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะรายการความจริงวันนี้ที่หลุดผังมาจากช่อง 11

จากนั้นได้มีการเปิดฉากรุกด้วยการชุมนุมทางการเมืองในกรุงเทพมหานครหลายครั้งหลายครา และเปิดศึกอย่างจริงจังในปลายเดือนมีนาคม ซึ่งในระหว่างนั้นสาทิตย์ ยังอยู่ในขั้นตอนของการจัดกระบวนทัพของช่อง 11 ที่บางครั้งการนำเสนอข่าวของผู้ดำเนินรายการก็ทำหน้าที่แทนฝ่ายค้านไปในตัว

เมื่อฝ่ายตรงข้ามเปิดแนวรุกทางสื่อทุกช่องทาง ป้อนข้อมูลทุกอย่างให้กับแนวร่วมโดยที่รัฐตอบโต้อะไรไม่ได้ถนัด จึงทำให้สถานะของรัฐบาลตกเป็นรองทันที ผู้ร่วมชุมนุมเสื้อแดงตามจังหวัดต่างๆ มีทั้งมาด้วยใจและมาด้วยเงินจึงพรั่งพรูเข้าสู่เมืองหลวงของประเทศไทยอย่างพร้อมเพรียง

“จริงๆ แล้วรัฐมนตรีประจำสำนักนายกมีสื่อทั้งวิทยุและโทรทัศน์ช่อง 11 ของกรมประชาสัมพันธ์ ดูแลช่อง 9 อ.ส.ม.ท. แม้จะมีโทรทัศน์อีกช่องหนึ่งอย่างทีวีไทย ที่เป็นหน่วยงานอิสระนั้น แต่ด้วยอำนาจของรัฐมนตรีภายใต้สถานการณ์ที่เกิดวิกฤตขึ้น ต้องมีการตัดสินใจอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่รอให้ทุกอย่างเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เมื่อครั้งที่ไทยรักไทยหรือพลังประชาชนเข้ามาเขาก็เปลี่ยนกะทันหันทั้งสิ้น” คนในวงการสื่อสารมวลชนตั้งข้อสังเกต

นอกจากนี้แม้จะมีบางสื่อที่อยู่นอกเหนืออำนาจของรัฐมนตรีประจำสำนักนายก อย่างเช่น D Station วิทยุชุมชนหรือเว็บไซต์ที่โจมตีรัฐบาล รวมถึงบริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ที่เป็นตัวกลางในการรับส่งสัญญาณ เรื่องเหล่านี้ต้องมีการประสานงานไปยังรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งก็เป็นพรรคร่วมรัฐบาล ให้ดำเนินการอย่างฉับพลัน แต่ทุกอย่างก็ถูกปล่อยปละละเลยปล่อยให้มีการโฟนอินและวิดีโอลิงค์จนสถานการณ์บานปลาย

เมื่อภาคประชาชนถูกกรอกข้อมูลตลอดเวลาว่ารัฐบาลนี้ไม่ชอบธรรม รังแกทักษิณ ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่รัฐกลับไม่มีการชี้แจงเรื่องราวที่ถูกกล่าวหาว่ามีความเป็นมาอย่างไร ถือว่าช้าเกินไปสำหรับการเดินเกมรับมือกับคนเสื้อแดง

ทุกอย่างดำเนินการล่าช้า จึงทำให้การจะตัดสินใจทำอะไรก็เกรงว่าเป็นการยั่วยุให้ประชาชนลุกฮือขึ้นมา จึงกลายเป็นที่มาของความปั่นป่วนในช่วงสงกรานต์

แม้ว่าสถานการณ์จะผ่านพ้นไปแล้วก็ตาม แต่การดำเนินการเชิงรุกก็ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน ช่อง 11 ทำหน้าที่เพียงอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเท่านั้น ยังไม่ได้ทำหน้าที่ให้ข้อมูลถึงต้นตอของปัญหาอย่างละเอียดและต่อเนื่อง ยิ่งเมื่อรัฐบาลยกเลิกประกาศพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว เสื้อแดงก็เริ่มชุมนุมทันทีและเรียกร้องให้รัฐคืนสถานีโทรทัศน์ D Station และวิทยุชุมชนคืนทันที จึงเป็นโจทย์ใหญ่ให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนนี้ได้พิสูจน์ผลงานอีกครั้ง