พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ The Dependency Brother

ด้วยการเป็นเบอร์หนึ่งของวงการสีกากี ที่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาที่เสมือนเป็นขุมกำลังส่วนตัวเกือบสองแสนคน

ย่อมทำให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คือผู้มีอิทธิพลทางการเมือง และด้านความมั่นคงของชาติไปด้วยโดยมิต้องสงสัย

พล.ต.อ.พัชรวาทขึ้นเป็น ผบ.ตร.แทน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส อดีตผบ.ตร. ที่ถูกปลดกลางอากาศ ด้วยอำนาจที่มีอยู่มากล้นและการเปลี่ยนแปลงมาแล้ว 3 รัฐบาล ทั้งรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช – สมชาย วงศ์สวัสดิ์ จนมาถึงอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ

แต่ พล.ต.อ.พัชรวาทก็อยู่ในตำแหน่งนี้มาได้จนถึงทุกวันนี้ แม้ในช่วงรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เขาจะถูกย้ายไปช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี หลังเหตุการณ์ 7 ตุลาทมิฬ แต่สาเหตุที่แท้จริงหาใช่เพราะสมชายไม่พอใจการสั่งการหรือการสลายผู้ชุมนุมหน้ารัฐสภาและหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลจนทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก จนทำให้สมชายถูกตราหน้าว่าเป็นรัฐบาลมือเปื้อนเลือด

เพราะสาเหตุที่แท้จริงเกิดจาก พล.ต.อ.พัชรวาทไม่สนองคำสั่งของรัฐบาลสมชาย จึงหาเหตุย้าย โดยหยิบปัญหาเรื่องการบริหารงานกรณีถูกทำหนังสือร้องเรียนในเรื่องการทำสัญญาก่อสร้างกับบริษัทเอกชน โดยไม่มีการประมูลเหมือนเช่นโครงการทั่วไปแต่ใช้วิธีพิเศษ

ทำให้สมชายเซ็นคำสั่งเด้งจาก ผบ.ตร.

ด้วยความเป็นนายตำรวจที่ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะคอนเนกชั่นการเมืองที่แน่นปึ๊กกับทุกขั้วอำนาจ ทำให้ก่อนที่อภิสิทธิ์จะเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการวันแรก ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รักษาการนายกรัฐมนตรีตอนนั้น เซ็นคำสั่งทิ้งทวนดึง พล.ต.อ.พัชรวาทกลับมาเป็น ผบ.ตร.

เพื่อเป็นการตอบแทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ชายแท้ๆ พล.ต.อ.พัชรวาทที่มีบทบาทสำคัญในการสลายการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย

ภายใต้รหัสรัฐบาลราบ 11 ของบิ๊กทหาร “3 ป.” คือ ประวิตร, บิ๊กป๊อก-พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. และ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา เสนาธิการทหารบก

เพราะความที่เก้าอี้มีผู้ค้ำให้อย่างเหนียวแน่น จึงทำให้ พล.ต.อ.พัชรวาท ค่อนข้างมั่นใจในตัวเองแสดงรัศมีผู้มีอิทธิพลในวงการสีกากีในฐานะเบอร์หนึ่งของกรมปทุมวันให้ได้แลเห็นหลายครา

อาทิการดัน พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ สายตรงของพัชรวาทที่วางตัวไว้ให้เป็นว่าที่ ผบ.ตร.ในอนาคต ให้ขึ้นมาเป็นรอง ผบ.ตร.ได้สำเร็จ แม้สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะประธาน ก.ตร.จะพยายามผลักดันให้ พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว มาเป็นรอง ผบ.ตร. เช่นกัน

แต่เมื่อถึงเวลาต้องวัดใจกันในนาทีสุดท้าย สุเทพก็จำต้องยอมหลีกทางให้กับพัชรวาท น้องประวิตรแต่โดยดี
รวมถึงแม้แต่การพยากรณ์ไว้ล่วงหน้าของหลายฝ่ายเมื่อรัฐบาลผ่านพ้นวิกฤต ”เสื้อแดงจลาจล” ช่วงสงกรานต์ว่า ต้องมีการเปลี่ยนตัว ผบ.ตร.แน่นอน หลังจากหลายคนเห็นว่าพัชรวาทมือไม่ถึง และบกพร่องต่อหน้าที่หลายครั้ง จนทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์เจียนจะหมดลมหายใจอยู่แล้ว

ทั้งกรณีความล้มเหลวในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมอาเซียนซัมมิตที่พัทยาที่ต้องถูกยกเลิก การปิดถนนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิทำให้กรุงเทพมหานครเป็นจลาจลไปสองวัน รวมถึงชีวิตของอภิสิทธิ์ที่หวิดเกือบตายสองครั้งสองคราทั้งที่พัทยาและกระทรวงมหาดไทย จนหลายเสียงแม้แต่ ส.ส.ในพรรคประชาธิปัตย์ด้วยกันเองที่เห็นควรให้มีการทบทวนผู้บังคับหน่วยความมั่นคงทั้งหมดโดยเร็ววัน

หมายถึงการให้ปลด “พัชรวาท” ด้วย

แต่ทุกเสียงเรียกร้องก็ไม่สำเร็จ เพราะทั้งอภิสิทธิ์และสุเทพไม่ได้แตะเก้าอี้ผบ.ตร.เลย

เชื่อกันว่าสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เก้าอี้ของ ผบ.ตร.คนนี้ไม่มีใครโค่นลงได้เป็นเพราะความเป็นน้องชายพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ตอนนี้เริ่มชัดเจนมากขึ้นว่าเป็นหนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังพรรคภูมิใจไทยและขั้วอำนาจใหม่ของการเมืองไทยเวลานี้ จึงทำให้หลายคนเชื่อว่าพัชรวาทน่าจะอยู่ในเก้าอี้ ผบ.ตร.ได้จนเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายน 2552

แม้จะเจอแรงเสียดทานสารพัดเหตุ เพราะมียันต์ดี ทำให้เก้าอี้เหนียวหนึบ

ก็ขนาดผลสอบสวนของ ป.ป.ช.เรื่องการสลายการชุมนุม 7 ตุลาทมิฬ ใครๆ ก็คิดว่าพัชรวาทในฐานะ ผบ.ตร.ไม่น่ารอดไปได้ แต่สุดท้ายกับโดนแค่ผิดวินัยแบบชิวๆ ชนิดไม่ระคายเคืองถึงผิวหนังได้ เพราะมีภูมิคุ้มกันชั้นดี

เล่ากันว่าพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ”พี่ป้อมของพัชรวาท” ถึงกับพูดในวงสนทนาในหมู่ทหาร-นักการเมืองหลายคราว่า

”น้องชายผมจะอยู่ในตำแหน่งจนเกษียณ”

พล.ต.อ.พัชรวาทจึงกลายเป็น ผบ.ตร.คนหนึ่งที่คงถูกพูดถึงไปอีกนานในฐานะผู้นำตำรวจที่ทำงานให้กับนายกรัฐมนตรีสามคนในเวลาแค่สองปี ที่ได้ตำแหน่งก่อนเวลาอันสมควร เพราะเสรีพิศุทธ์ถูกเด้ง

ทั้งเป็น ผบ.ตร.ที่ถูกเด้งจากตำแหน่งแล้วยังกลับมาได้ ชนิดประวัติศาสตร์วงการตำรวจไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน เพราะเมื่อนับดูอดีตอธิบดีกรมตำรวจ-ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ถูกเด้งจากเก้าอี้ในช่วงหลังๆ

เช่น พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์, พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์, พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา, พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์, พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ล้วนแต่เกษียณไปโดยไม่ได้หวนคืนในตำแหน่ง ผบ.ตร. แม้จะมีกรณีของ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ แต่ก็เป็นการกลับมาเป็น ผบ.ตร.ในช่วงสุดท้ายแค่ในนามเท่านั้นกับคำสั่งศาลปกครอง แต่โกวิท วัฒนะ ก็ไม่ได้เป็น ผบ.ตร.ในทางพฤตินัย

ทำให้พัชรวาทเป็นผบ.ตร.ที่ถูกเด้งแล้วยังกลับมาได้ บนการเผชิญหน้ากับเหตุการณ์ร้อนๆ ทางการเมืองมานับไม่ถ้วนในช่วงวิกฤตการเมืองถึงขีดสุด แต่ก็ยังประคองตัวเองให้รอดมาได้ทุกครา