ขายที่ความบาง

วิชัย พรพระตั้ง หัวหน้ากลุ่มธุรกิจภาพและเสียง บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด ใช้เวลาราวๆ ชั่วโมงพูดถึงคุณสมบัติ “LED TV” (Lighting Emitting Diode) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแหล่งกำเนิดแสงใหม่ที่ต่างจาก แอลซีดี ทีวี การประหยัดพลังงานกว่า 40% เมื่อเทียบกับแอลซีดี ทีวีขนาดเท่ากัน หรือแม้กระทั่งรูปแบบการดีไซน์เรียกว่าเป็นทีวีที่บางที่สุดในยุคนี้เพียง 1.16 นิ้ว ที่เห็นแล้วต้องร้องว้าว

สาเหตุที่วิชัยต้องอธิบายคุณสมบัติให้ยืดยาวขนาดนี้ เพราะเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดของซัมซุง ที่ออกมาเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันในตลาดแอลซีดี ทีวี ที่เน้นสงครามราคาทำให้ราคาตกลงมาอยู่ที่ 3-4 หมื่นบาท จากเดิมอยู่ในหลักแสนบาท

“มูลค่ารวมตลาดทีวีอยู่ที่ 2.7 หมื่นล้านบาท หรือ 3 ล้านยูนิต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสัดส่วนของซีอาร์ที ทีวี หรือทีวีตู้ปลามีอยู่ 2.3 ล้านยูนิต แอลซีดี ทีวี 6.2 แสนยูนิต และพลาสม่า ทีวี 6 หมื่นยูนิต จากผลสำรวจพบว่าโอกาสที่ผู้บริโภคจะเปลี่ยนจาก แอลซีดี ทีวี มาเป็น แอลอีดี ทีวี มีอยู่ 10-15% มีจุดเปลี่ยนที่สำคัญคือราคา เมื่อ 5 ปีก่อนแอลซีดี ทีวี เปิดตัวด้วยราคาในหลักแสน ส่วนแอลอีดี ทีวี เริ่มต้นด้วยราคา 8หมื่นบาท” วิชัย พรพระตั้ง หัวหน้ากลุ่มธุรกิจภาพและเสียง บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด บอกถึงได้เวลาเปลี่ยนเทคโนโลยีแล้ว

กระแสของแอลอีดี ทีวีเริ่มได้ยินหนาหูเมื่อปีที่ผ่านมา โดยฟิลิปส์เปิดตัวแอลอีดี ทีวี ขนาด 42 นิ้ว ด้วยราคา 1.79 แสนบาท ส่วนโซนี่มีแผนนำผลิตภัณฑ์แอลอีดี ทีวี ภายใต้ชื่อ “OLED” เข้ามาทำตลาดในไทย หลังการจัดแสดงเมื่อปีที่ผ่านมา แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่วางขายในไทย ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และบางประเทศในแถบยุโรป ที่วางจำหน่าย “OLED TV XEL-1” ขนาด 11 นิ้ว ด้วยราคา 8 หมื่นบาท

“พฤติกรรมการเลือกซื้อโทรทัศน์ของคนไทยคล้ายกับต่างประเทศ จะคำนึงถึงการจัดวางให้เข้ากับธีมในการตกแต่งห้องเป็นหลัก และต้องเชื่อมต่อกับกล้องดิจิตอล อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือได้ด้วย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นคนรุ่นใหม่ และกลุ่มครอบครัวที่สนใจในเทคโนโลยี (Early adapter) อยู่ในระดับบีบวกขึ้น ซึ่งปัจจัยด้านเศรษฐกิจจึงไม่มีผลต่อการตัดสินใจ เพราะกลุ่มนี้มีกำลังซื้อจริงๆ” วิชัย บอก

แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับ “First Mover” ต้องให้ผู้บริโภคยอมรับนวัตกรรมแอลอีดี ทีวี เพราะวิชัยเชื่อว่าหากคนยอมรับจะเป็นนวัตกรรมที่มี Circle Life นานเป็นสองเท่าของแอลซีดี จึงทำให้ครั้งนี้ต้องงบการตลาด 100 ล้านบาท มากกว่าปีที่แล้ว จากงบตลาดรวมผลิตภัณฑ์กลุ่มจอภาพที่ 700 ล้านบาท โดยจะเน้นหนักในเรื่องกิจกรรมส่งเสริมการขายหน้าร้าน โดยมีพนักงานขายคอยให้ข้อมูลและทำโปรโมชั่นผ่านบัตรเครดิตผ่อน 0% นาน 10 เดือน เพื่อลูกค้าได้มีโอกาสเพิ่มมากขึ้น และให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งเป้ายอดขายทั้งปีอยู่ 30,000 เครื่อง

ซัมซุง LED TV
Launched 9 เมษายน 2552 ณ ห้องจูเนียร์ 2-3 โรงแรมแกรนด์มิลเลเนียม สุขุมวิท มีผู้ร่วมงานประมาณ 200 คน ทั้งนักข่าวสายการตลาด ธุรกิจและไอที
Market Analysis ตลาดทีวี มีการแข่งขันที่รุนแรงเมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา โดยใช้กลยุทธ์ด้านราคากันแทบทุกค่าย โดยเฉพาะในตลาดแอลซีดี ทีวี ที่เริ่มมีราคาลดลงมาก จากเดิมอยู่ในหลักแสนบาท สู่หลักหมื่นต้นๆ ทำให้ซัมซุงนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาเป็นการสร้างเซ็กเมนต์ใหม่ขึ้นในตลาดทีวี แต่ต้องลงทุนมากในด้านการ Educated ผู้บริโภคให้เข้าใจและยอมรับนวัตกรรมแอลอีดี ทีวี หากทำสำเร็จเทคโนโลยีนี้จะอยู่นานถึง 10 ปี
Position เน้นความบาง และมีฟังก์ชันที่หลากหลาย เชื่อมต่อกล้องดิจิตอล อินเทอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือ ความบางของเครื่อง ทำให้ตอบสนองกลุ่มที่ชื่นชอบเทคโนโลยีและการตกแต่งบ้าน
Target กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็น Early Adapter และกลุ่มครอบครัวที่นิยมทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ทั้งเล่นเกม และดูหนัง จะมีทีวีอยู่หลายเครื่องในบ้าน อยู่ในฐานะระดับบีบวกขึ้นไป
Celebrity เจ เจตริน และ ปิ่น เก็จมณี สองสามีภรรยานักร้องและนักแสดง เพื่อตัวแทนของครอบครัวรุ่นใหม่ มีโทรทัศน์ที่บ้านมากกว่า 3 เครื่อง ตอบสนองคนในครอบครัว และ เอก ชมะนันท์ ผู้ประกาศข่าวหน้าใสและพิธีกรรายการฟ้าเมืองไทย เพื่อสะท้อนถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่
Promotion งบการตลาด 100 ล้านบาท แบ่งเป็นการใช้การประชาสัมพันธ์ โฆษณาผ่านสื่อแมส และกิจกรรมส่งเสริมการขายหน้าร้าน ตลอดระยะเวลา 1 ปี

Did you know?
แอลอีดี ทีวี ของซัมซุงบางกว่าแอลซีดี ทีวี ทั่วไปถึง 70%