ผู้บริโภคทั่วไปคุ้นเคยกับสินค้าของเบทาโกร ในชื่อ S-Pure ที่ถือเป็นหัวหอกในการเจาะตลาดวัตถุดิบ ซึ่งผู้ผลิตอาหารสัตว์ เลี้ยงสัตว์ และจำหน่ายเนื้อสัตว์ประเภท หมู ไก่ ไข่ไก่ โดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าพรีเมียม จนเวลานี้มีส่วนแบ่งในเซ็กเมนต์นี้ 90%
แต่ในอีกด้านหนึ่ง เบทาโกร ก็ต้องเร่งมือขยายเข้าสู่ธุรกิจอาหารแปรรูปและอาหารพร้อมทานเพื่อรองรับกับสภาพตลาดในไทยที่ขยายตัวเพิ่มทุกปี รวมถึงสินค้าอาหารแปรรูปของเครือเบทาโกร ช่วงไตรมาสแรกก็เติบโต 22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
เพราะนอกจากจะมีแนวโน้มสดใสแค่ไหน ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าจากการขายเนื้อสด หรือผลิตภัณฑ์แช่แข็งอีกด้วย ทำให้เบทาโกรตัดสินใจใช้งบลงทุน 750 ล้านบาท สร้างโรงงาน หรือ Betagro Central Kitchen เพื่อเป็นศูนย์นวัตกรรมอาหาร (FIC) เพื่อรองรับเทรนด์อาหารในอนาคต
โดยจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ทั้งวัตถุดิบคุณภาพ ด้านโภชนาการ มากกว่า 1,000 รายการ ใน 6 หมวดสินค้า ได้แก่ 1) อาหารทานเล่นและสินค้าทอด (Appetizer) ประเภทหมู ไก่ 2) ผลิตภัณฑ์ไข่ปรุงสุก (Processed Egg) เช่น ไข่ต้มปอกเปลือก ไข่ตุ๋น 3) ข้าวกล่องพร้อมรับประทาน (Ready Meal) 4) กับข้าวสำเร็จรูป (Cuisine) 5) เบเกอรี่ (Bakery) และ 6) ผลิตภัณฑ์ปรุงรส (Seasoning) เช่น น้ำยำ น้ำจิ้ม เป็นต้น
โดยมีกำลังการผลิตอาหาร 8,000 ตันต่อปี ซึ่งเบทาโกรตั้งเป้าว่าจะสามารถทำยอดขายจากผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากโรงงานแห่งนี้อย่างน้อย 4,800 ล้านบาท ภายในปี 2562
“เดิมเรามียอดขายจากธุรกิจอาหารสำเร็จรูปเพียงปีละ 650 ล้านบาท และคาดว่าจะดันยอดขายจากอาหารแปรรูปให้เติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว” สมศักดิ์ บุญลาภ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร สายงานปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจอาหารเครือเบทาโกร บอกว่า
นอกจากจะเป็นฐานการผลิตอาหารหลักแล้ว เบทาโกรมีแผนผลักดันให้โรงงานแห่งนี้เป็นศูนย์กลางของนวัตกรรม เพื่อใช้แบ่งปันความรู้ให้กับลูกค้า และเป็น Meat Lap สนับสนุนการวิจัยไปพร้อมกัน
จากผลการสำรวจความต้องการผู้บริโภคโดยเฉพาะคนเมือง พบว่า สินค้าประเภทแปรรูปและพร้อมทาน หรือ Ready to Eat กลายเป็นทางเลือกสำคัญของผู้บริโภคในปัจจุบัน เพราะประหยัดเวลา และช่วยลดขั้นตอนในการเตรียมอาหารลง
“ผู้บริโภคทานอาหารนอกบ้านกว่าครึ่งหนึ่งของมื้ออาหารทั้งหมดต่อเดือน หรือเฉลี่ย 56 ครั้งต่อเดือน เข้าร้านสะดวกซื้อ 21 ครั้งต่อเดือน เพื่อทานอาหารรองท้อง จนกลายเป็นไลฟ์สไตล์ไปแล้ว”
เรียกได้ว่าอาหารแปรรูปและพร้อมทาน เหมาะกับคนไทยยุค4.0 ซึ่งนั่นอาจเป็นหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้ตลาดอาหารแปรรูปเติบโตได้รวดเร็วขนาดนี้
นอกจากนี้ เครือเบทาโกร ยังได้ร่วมกับพันธมิตร คือ ห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ ในการพัฒนาความหลากหลายของอาหารพร้อมทาน ทั้งคุณภาพ รสชาติ รวมทั้งขนาด น้ำหนัก และ รูปแบบบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ตอบโจทย์ความสะดวกของผู้บริโภค โดยคาดว่าจะเพิ่มยอดขายให้บริษัทถึง 650 ล้านบาท.