กำลังเป็นที่จับตามองถึงการประมูลคลื่นความถี 1800 MHz เมื่อ ดีแทค ประกาศไม่เข้าร่วมประมูล 1800 MHz
ดีแทค แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า จะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ ย่าน 1740 -1785 และ 1835-1880 MHz ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) เปิดให้มีการประมูล
ขณะเดียวกันได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า มีคลื่นความถี่สูงเพียงพอแล้ว พร้อมให้ความสำคัญแผนคุ้มครองลูกค้าหลังหมดสัมปทาน กระตุ้นหน่วยงานกำกับดูแลจัดสรรคลื่นย่านความถี่ต่ำ (low-band spectrum) ในอนาคต
ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้พิจารณาการเข้าร่วมประมูลอย่างรอบคอบ ได้ข้อสรุปว่า ดีแทคถือครองคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) มีปริมาณมากพอที่จะรองรับการใช้งานดาต้าที่เติบโตขึ้นในอนาคต
ปัจจุบัน ดีแทคได้ถือครองความถี่ย่าน 2100 MHz จำนวน 2×15 MHz และมีคลื่นใหม่ความถี่ 2300 MHz จำนวน 1x60MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่เดียวที่กว้างที่สุดในประเทศไทย
ถ้าหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และสิ้นสุดระยะเวลาเยียวยาแล้ว ดีแทคยังมีคลื่นย่านความถี่สูงเพิ่มมากกว่าอีกเดิม 10 MHz จากคลื่นใหม่ 2300 MHz ที่จะนำมาให้บริการสำหรับคลื่นย่านความถี่สูงอย่างพอเพียง
คลื่น 2300 MHz ได้ถูกนำมาให้บริการ 4G TDD เพื่อตอบสนองการใช้งานดาต้าที่เน้นการดาวน์โหลด สอดคล้องกับพฤติกรรมลูกค้าที่หันมานิยมการรับชมวิดีโอผ่านสมาร์ทโฟนจำนวนหลายชั่วโมงต่อวัน
ถึงแม้ว่าดีแทคจะสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ดีแทคยังมีปริมาณคลื่นความถี่ที่จะให้บริการต่อจำนวนลูกค้ามากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น (ดีแทคมีจำนวนคลื่นเฉลี่ย 2.75 MHz ต่อจำนวนลูกค้า 1 ล้านราย ในขณะผู้ให้บริการรายอื่นมีจำนวน 1.37 MHz และ 1.99 MHz)
*** แผนขยายโครงข่าย
ดีแทค ได้ยืนยันถึงเร่งขยายสถานีฐานอย่างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา โดยได้ขยายสถานีฐาน 3G/4G บนโครงข่าย 2100 MHz จำนวน 4,000 แห่งต่อปีในช่วง 2560-2561 ซึ่งขยายรวดเร็วกว่าเดิมถึง 2 เท่าเมื่อเทียบกับปีก่อน
รวมถึงขยายสถานีฐานสำหรับการใช้งานบนคลื่นความถี่ 2300MHz dtac TURBO ด้วยเทคโนโลยี 4G TDD ให้ได้อีกอย่างน้อย 4,000 แห่งในปีนี้ตามข้อตกลงกับทีโอที และหากดีแทคสามารถทำได้เต็มกำลังการติดตั้งสถานีฐานคาดว่าจะขยายได้มากถึง 7,000 แห่งในปลายปีนี้
*** ต้องการคลื่นย่านความถี่ต่ำ
ดีแทคระบุว่า ประเทศไทยมีคลื่นย่านความถี่สูง (high-band spectrum) รองรับบริการมากพอแล้ว ผู้ให้บริการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องการมากที่สุด คือ การจัดสรรคลื่นย่านความถี่ต่ำ (low-band spectrum) ที่มีความชัดเจน เพื่อวางแผนในการให้บริการผู้ใช้งานดาต้าได้ครอบคลุมทั้งในเมืองและทุกพื้นที่ทั่วไทย
นอกจากนี้ ยังมองว่า ประเทศไทยยังติดกับดักต้นทุนของคลื่นความถี่ที่สูงระดับโลก เมื่อรวมกับข้อกำหนดกรณีผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนใบอนุญาต หรือ N-1 จะนำประเทศไปสู่สภาวะขาดคลื่นความถี่เพื่อนำมาใช้งาน
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน ประเทศไทยจ่ายค่าบริการอินเทอร์เน็ตที่สูงกว่าแต่กลับได้ใช้งานความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ช้ากว่าประเทศอื่น การตั้งหลักเกณฑ์ที่ไม่เหมาะสมจะนำไปสู่ภาวะการขาดแคลนคลื่นความถี่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ช้าลง โดยจะส่งผลเสียต่อภาพรวมในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของประเทศไทย
นอกจากนี้ การประมูล ยังคงหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ไม่เอื้อประโยชน์ให้บริษัทฯ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับลูกค้าและผู้ถือหุ้นได้ในระยะยาว ดีแทคมั่นใจในการให้บริการอย่างต่อเนื่องจากจำนวนคลื่นความถี่ทั้งหมดที่ถือครองมากพอที่จะรองรับการเติบโตการใช้งานดาต้าของลูกค้า และเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการคุ้มครองลูกค้าเพื่อไม่กระทบการใช้งานจากกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่
*** แผนคุ้มครองลูกค้า
ดีแทคยืนยันว่าแม้จะไม่ประมูลแต่ยังให้บริการต่อเนื่อง หรือ “ซิมไม่ดับ” เพราะถือเป็นหน้าที่ร่วมกันกสทช.ผู้ให้สัมปทาน ซึ่งดีแทค และ CAT ได้ร่วมยื่นแผนคุ้มครองลูกค้าใช้งานมือถือหลังหมดสัมปทานคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ต่อ กสทช. เมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา
เพื่อให้ลูกค้าดีแทคที่ยังอยู่ในระบบสัมปทานเดิม จะต้องได้รับความคุ้มครองและไม่กระทบการใช้งานตามที่เคยมีกรณีสิ้นสุดสัมปทานคลื่นความถี่กับผู้ให้บริการรายอื่น จะได้รับระยะเวลา 9-26 เดือนในช่วงเยียวยา
ดีแทคยืนยันที่ลูกค้าจะต้องได้รับการคุ้มครองตามประกาศ กสทช. คลื่น 1800 MHz ควรนำมาสู่การใช้งานสำหรับมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทานจนกระทั่งผู้ชนะการประมูลได้ทำตามกฎเกณฑ์และเปิดให้บริการวันแรก
สำหรับคลื่น 850 MHz ที่ไม่ได้นำไปประมูลดีแทคจะต้องได้รับสิทธิ์จนกระทั่งคลื่นได้ถูกนำไปจัดสรรให้กับผู้ได้รับอนุญาตใช้งานต่อไป
จากการที่ดีแทคได้เร่งโอนย้ายลูกค้าที่ใช้บริการ 2G และเร่งขยายโครงข่ายทั้งคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz จะเป็นมาตรการยืนยันเพื่อลูกค้าดีแทคที่ใช้งานบนทุกคลื่นความถี่ทั้ง 2G, 3G และ 4G จะมั่นใจได้อย่างเต็มที่สำหรับการใช้งานอย่างต่อเนื่องไม่มีความเสี่ยงจากซิมดับ
*** จับตาเอไอเอส
ที่ต้องจับตาคือ เอไอเอส จะเป็นรายเดียวที่เหลือว่า ตัดสินใจเข้าประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz หรือไม่
แต่ในส่วนของทรู ได้แจ้งแล้วว่าไม่เข้าประมูล เพราะมีคลื่นความถี่รองรับได้เพียงพอแล้ว.