กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของ กสทช.ไปทันที หลังจากที่โดน 3 โอเปอเรเตอร์มือถือ เอไอเอส ทรู ดีแทค เท ไม่เข้าประมูลคลื่น 1800 MHz
เป็นเหตุการณ์ที่ช่างแตกต่างจากการประมูลที่ผ่านมา คลื่น 2100, 1800 และ 900 กสทช.เคยทำรายได้เข้ารัฐ หลายแสนล้านบาท ชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ
ค่ายทรู ประกาศชัดเจนตั้งแต่แรกเลยว่า ไม่เข้าร่วมประมูล ให้เหตุผลว่า คลื่นความถี่ในมือ 55 MHz มากเพียงพอที่จะรองรับจำนวนลูกค้าที่มีอยู่ 27.63 ล้านราย ซึ่งคลื่นเหล่านี้ทรูต้องประมูลมาในราคาแพงสูงลิ่ว ด้วยราคา 76,298 ล้านบาท สำหรับคลื่น 900 MHz และ 39,792 ล้านบาท
หากต้องเข้าประมูลคลื่น 1800 MHz ต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 37,457 ล้านบาท จึงหนักหนาสำหรับทรูเกินไป
และเมื่อดูจากกฎเกณฑ์การประมูล ทั้งเรื่องราคาและข้อกำหนดต่าง ๆ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้ผู้ที่ชนะประมูลในครั้งนี้จะมีความได้เปรียบอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใด
ไม่ต่างจาก เอไอเอส ที่ระบุว่า หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลครั้งนี้ไม่เหมาะสมต่อการลงทุนหรือก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทในขณะนี้ ซึ่งเทมาเส็กผู้ถือหุ้นใหญ่ก็ไม่สนับสนุนให้เข้าร่วมประมูล
เมื่อดีแทคไม่เข้า เอไอเอสเลยโบกมือไม่เข้าร่วมประมูล
แต่เอไอเอสก็ยังไม่ปิดกั้นโอกาสเสียทีเดียว จะดูเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องกับการประมูลที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคตก็จะพิจารณาทบทวนเรื่องการประมูลอีกที
จะว่าไปแล้ว การที่เอไอเอส และทรู ไม่เข้าประมูล ไม่เหนือความคาดหมายของ กสทช.เท่ากับ “ดีแทค” เพราะสัมปทานของดีแทคกำลังหมดลงในเดือนกันยายนนี้ อีกแค่ 3 เดือน ยังมีลูกค้าอยู่ในระบบ 4.7 แสนเลขหมาย ดีแทคจึงมีความจำเป็นต้องได้คลื่น 1800 MHz มากกว่าใคร
แต่ดีแทคก็ชี้แจงว่า ถึงแม้จะสิ้นสุดสัมปทาน ต้องคืนคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz ดีแทคยังมีปริมาณคลื่นความถี่ที่จะให้บริการต่อจำนวนลูกค้ามากกว่าผู้ประกอบการรายอื่น (ดีแทคมีจำนวนคลื่นเฉลี่ย 2.75 MHz ต่อจำนวนลูกค้า 1 ล้านราย ในขณะผู้ให้บริการรายอื่นมีจำนวน 1.37 MHz และ 1.99 MHz)
นอกจากนี้ยังมีคลื่นย่านความถี่สูงคลื่นใหม่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz สามารถนำมาให้บริการสำหรับคลื่นย่านความถี่สูงอย่างพอเพียง
ส่วนเครื่องมือถือที่รองรับคลื่น 2300 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของประเทศจีน มีมากขึ้น มีเครื่องรุ่นใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลา ซึ่งดีแทคเองกำลังออกแคมเปญ ซับซิไดซ์เครื่อง เพื่อผลักดันให้เปลี่ยนเครื่องที่ใช้กับคลื่น 1800 MHz มาเป็นเครื่องที่รองรับ 2300 MHz
หากมีการประมูลคลื่นในอนาคต ดีแทคให้ความสนใจกับคลื่นย่านความถี่ต่ำที่ช่วยในด้านการครอบคลุมพื้นที่ให้บริการมากกว่า ย่านความถี่สูง ดีแทคมีคลื่น 2300 MHz ใช้ในการรับส่งข้อมูลอยู่แล้ว
ดีแทคจึงประเมินแล้วว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเข้าประมูล ซึ่งดีแทคมองว่ามีราคาสูงมาก เพราะราคาเริ่มต้น เท่ากับที่เอไอเอส และทรู เคยประมูลได้ในครั้งที่แล้ว
ดีแทควางแผนรองรับไว้แล้ว เมื่อสิ้นสุดสัมปทาน ต้องคืนคลื่น 1800 MHz และ 850 MHz มั่นใจว่ายังคงให้บริการได้ต่อเนื่อง ยังไง “ซิมไม่ดับ” เพราะมีกฎหมายรองรับ เพราะเชื่อว่า กสทช.ต้องเยียวยาให้เหมือนกับคู่แข่งได้รับในช่วงสิ้นสุดสัมปทาน จนกว่าจะมีการประมูลคลื่น 1800 อีกครั้ง
ในมุมของ กสทช.เอง เมื่อต้องชวดหารายได้เข้ารัฐ จึงออกมาตีกันไว้เลย ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ออกมาระบุว่า ตามหลักการของประกาศ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 จะต้องเกิดจากการที่ กสทช.จัดประมูลไม่ทัน แต่กรณีนี้คือไม่มีคนเข้าประมูล และ กสทช.ก็จัดประมูลได้ทัน ดังนั้น กสทช.จะประกาศยกเลิกมาตรการเยียวยาดังกล่าว
“ใครที่ฝันไปไกล ระวังจะไปไม่ถึง บอกว่าคลื่นพอ เราจะทำให้ไม่พอเอง จะอ้างว่าราคาแพง เราก็บอกแล้วว่าลดราคาไม่ได้ เพราะมันเป็นราคาที่ เอไอเอส และทรูจ่ายเงินมา 75% แล้ว กสทช.ต้องจัดการเรื่องนี้ให้ได้ แต่หากให้แก้หลักเกณฑ์เป็น 9 ใบ ตรงนี้ ทำได้ “ ฐากร กล่าว
ขณะเดียวกัน ต้องเริ่มเปิดเกมใหม่อีกครั้ง ด้วยการทำเรื่องเสนอรัฐบาลเพื่อหาทางออกให้เอกชนเข้าร่วมประมูลคลื่น 1800 MHz อีกครั้ง
ความหวังจึงอยู่ที่เอไอเอส และทรู ให้เข้าประมูล แต่ทั้งคู่ติดปัญหาเรื่องเงินลงทุน เพราะทั้งคู่มีภาระต้องจ่ายค่าคลื่น 900 MHz ในปี 2563 ก้อนใหญ่ รายละประมาณ 60,000 ล้าน
แต่การลดราคาประมูลคลื่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั้ง 3 ราย ระบุมาว่า เป็นอุปสรรคสำคัญในการไม่เข้าประมูลนั้น กสทช.ไม่สามารถทำได้ เพราะ ทำให้รัฐเสียผลประโยชน์ ต้องถูกตรวจสอบ
เมื่อลดราคาไม่ได้ กสทช.จะยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลใช้ ม.44 ช่วยยืดระยะเวลาการชำระโดยแบ่งเป็นชำระ 7 งวด ภายใน 7 ปี เพื่อจูงใจให้ 2 โอเปอเรเตอร์เข้าประมูล
ขณะเดียวกันจะกดดันดีแทค ขอให้รัฐบาลใช้ ม.44 ไม่ให้เยียวยาให้ดีแทค ไม่ให้ใช้คลื่น 1800 MHz ต่อเมื่อหมดสัมปทาน ให้เหตุผลว่า ดีแทคทิ้งลูกค้า ไม่ยอมเข้าประมูล พร้อมกับจะเข้มงวดเรื่องการใช้คลื่นความถี่ของดีแทค ห้ามใช้ผิดข้อตกลง เช่น นำไปใช้โรมมิ่ง หรือคลื่น 2300 ใช้ได้เฉพาะดาต้า ห้ามใช้กับเสียง voice ถ้าใช้ผิด จะฟ้องเอาผิดคดีอาญาทันที
พร้อมกับปรับกฎเกณฑ์ในการประมูลใหม่ ด้วยการยกเลิกเงื่อนไข N-1 ที่กำหนดให้ใบอนุญาตน้อยกว่าจำนวนผู้เข้าประมูล และซอยคลื่นความถี่ เพื่อดึงดูดให้คนเข้าประมูลได้ง่ายขึ้น
กสทช.จะนำเรื่องเข้าบอร์ดพิจารณในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ว่าจะเลือกแนวทางใด ก่อนจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณาอีกครั้ง
ไม่รู้จะออกหัวหรือออกก้อย แต่ที่แน่ ๆ เกมการประมูลคลื่นความถี่เวลานี้ไม่เหมือนเดิม ไม่ต้องถูกบีบรัดเหมือนสมัยที่เอไอเอส และดีแทคหมดสัมปทานแล้วต้องรีบประมูลมาในราคาสูง
การประมูลคลื่นความถี่ด้วยราคาประมูลสูง ๆ อาจจะไม่ใช่ตำคอบสุดท้ายในสถานการณ์นี้อีกต่อไป มีแนวโน้มว่ามีจำนวนความถี่ที่อยู่ในแผนงานจัดการคลื่นของ กสทช.เรียงแถวเข้ามาเตรียมให้ประมูลใช้ประโยชน์ด้านโทรคมนาคมอีกจำนวนมาก
นอกจากจะมีคลื่น 850 MHz ที่ดีแทคต้องคืนให้ กสทช.ในอีก 3 เดือนแล้ว ยังมีคลื่น 700 MHz ที่ถูกใช้ใน “อนาล็อกทีวี” มาตลอดมานาน ได้ทยอยยุติออกอากาศระบบอนาล็อก หันมาใช้ระบบดิจิทัลทีวีเต็มตัว ทยอยคืนคลื่น 700 MHz ให้ กสทช. ช่อง 7 ไทยพีบีเอส และช่อง 5 ได้ส่งคืนคลื่น
ตามมาด้วย ช่อง 9 อสมท และ NBT ช่อง 11 จะปิดระบบอนาล็อกในวันที่ 16 กรกฎาคม และต้องคืนคลื่น 700 MHz ให้ กสทช.อีก เหลือแค่ช่อง 3 อายุสัมปทานหมดลงปี 2563
รวมทั้งหมด 90 เมก กสทช. ต้องเอามาประมูลใช้ในกิจการโทรคมนาคมตามที่ประกาศไว้ในแผนแม่บท.