เบื้องลึก อสมท เปิดทีวีรูปแบบใหม่ Broadband Television เดินเกมยึดคลื่น 2600 MHz พลิกสู่ธุรกิจโทรคมนาคม

สิ้นสุดการรอคอย อสมท ประกาศสิทธิในการใช้คลื่น 2600 MHz อย่างเป็นทางการในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ หลังจากใช้ความพยายามมานานเกือบ 10 ปี 

อสมท ได้เปิดแถลงข่าวให้บริการ Broadband Television ด้วยการใช้เทคโนโลยี Broadband Wireless Access (BWA) บนคลื่น 2600 MHz โดยร่วมมือกับบริษัทเพลย์เวิร์ค ซึ่งทำหน้าที่บริหารโครงการนี้ และใช้โครงข่ายของบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (ในเครือ AIS) บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ในเครือ True)

ความสำคัญของงานนี้ อสมท ต้องการ “ตอกหมุด” การใช้งานคลื่นย่านนี้อย่างเป็นทางการ เพื่อใช้ประโยชน์จากคลื่นนี้ในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคมในอนาคต นับเป็นการขยายขอบเขตการทำธุรกิจของ อสมท ให้กว้างขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะการทำช่องทีวี หรือกิจการกระจายเสียงเท่านั้น แต่ต้องการให้เป็นแหล่งรายได้ใหม่ของ อสมท โทรทัศน์ หลังจากที่ต้องเจอศึกหนัก คู่แข่งที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับงบโฆษณาทีวีลดลงต่อเนื่อง

คลื่น 2600 MHz เป็นอีกย่านคลื่นหนึ่งที่มีความสำคัญสำหรับให้บริการ 4G แต่ที่ผ่านมาคลื่นย่านนี้อยู่ในความครอบครองของ อสมท เพื่อใช้ในกิจการทีวีบอกรับสมาชิก หรือเพย์ทีวี ตั้งแต่ปี 2532 เริ่มจาก IBC เคเบิลทีวี ที่เข้ามารับสัมปทาน และตามมาด้วยไทยสกายทีวี ที่ให้บริการบนระบบ MMDS (Multichanel Multipoint Distrubution Service)

จนกระทั่งกิจการเพย์ทีวีเปลี่ยนแปลงไป IBC ซึ่งปัจจุบันคือทรูวิชั่นส์ ได้ใช้เทคโนโลยีอื่น และไทยสกายเลิกกิจการไป จึงไม่มีการใช้คลื่นนี้

แต่ในระหว่างนั้น กสทช.ได้จัดระเบียบการใช้คลื่นต่าง ๆ ของหน่วยงานรัฐต่าง ๆ คลื่นไหนไม่ถูกใช้งานจะถูกนำมาจัดสรรใหม่

อสมท จึงได้พยายามฟื้นการใช้งานบนคลื่นนี้ โดยไปทำสัญญากับบริษัท เพลย์เวิร์ค เพื่อให้บริการเพย์ทีวี ด้วยการใช้เทคโนโลยี Broadband Wireless Access (BWA) บนคลื่น 2600 MHz มาตั้งแต่ปี 2553

ทั้งจากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัทเพลย์เวิร์ค จำกัด ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2548 ทำธุรกิจด้านไอที และให้บริการพัฒนาระบบโครงสร้างทางเทคโนโลยีในรูปแบบของ Platform อันได้แก่ Broadband TV, Cloud Solutions, Digital TV และ Smart Grid และให้บริการด้าน Mobile Entertainment  และ Mobile Marketing

แต่ก็ติดปัญหาเรื่องสิทธิการใช้คลื่น และการให้บริการที่ กสทช.ระบุว่า อาจจะเข้าข่ายเป็นการให้บริการโทรคมนาคม ไม่ใช่กิจการกระจายเสียงตามเงื่อนไขในการใช้คลื่น อีกทั้งสัญญาที่ อสมท ทำกับเพลย์เวิร์คไม่ใช่สัญญาสัมปทาน เป็นเพียงสัญญาจ้างทำบริการเท่านั้น

ทั้ง อสมท และเพลย์เวิร์คต่างใช้เวลาต่อสู้ขอสิทธิในการใช้คลื่นย่านนี้กับ กสทช.ตั้งแต่เริ่มต้นทำสัญญา ผ่านไปหลายรัฐบาล เกี่ยวข้องทั้งการเมืองหลายพรรค และรัฐมนตรีหลายคน รวมถึง กทช. หรือคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม จนกลายมาเป็น กสทช.ในปัจจุบัน

 แต่มาฉลุยในรัฐบาลนี้ ที่ได้ข้อสรุปที่พลิกผัน เมื่อบอร์ด กสทช.เสียงข้างมากรับรองว่าสัญญาของ อสมท และเพลย์เวิร์คเป็นสัญญาสัมปทานอายุ 15 ปี

ส่งผลให้ อสมท และเพลย์เวิร์ค ได้รับสิทธิในการใช้คลื่นนี้ไปจนหมดอายุสัมปทานในปี 2568 แทนที่จะได้สิทธิถึงแค่เพียง 10 ปี สิ้นสุดในปี 2565 ตามที่ กสทช.เคยมีมติไปก่อนหน้านี้

เพื่อเป็นการแสดงว่าได้ใช้คลื่นอยู่จริง อสมท และเพลย์เวิร์คยังได้ยื่นเรื่องมาที่ กสทช. เพื่อให้เอไอเอส และทรู นำเข้าอุปกรณ์โทรคมนาคม ที่จะใช้ในบริการ Broadband Wireless Access บนคลื่น 2600 MHz

โดยที่บทบาทของเอไอเอส และทรู จะเป็นแค่เพียงผู้ให้บริการเครือข่ายบนคลื่น 2600 MHz ที่ อสมท เป็นเจ้าของเท่านั้น แต่เนื่องจาก อสมท ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม อีกทั้งติดขัดที่คลื่นนี้ถูกจำกัดไม่ให้ใช้ในกิจการโทรคมนาคม จึงจำเป็นต้องอาศัยผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้งเอไอเอสและทรูแทน

ไม่รู้ว่าบังเอิญหรือตั้งใจ กสทช.และ สนช.อยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. สาระสำคัญคือ การเปิดให้คลื่นความถี่ที่จัดสรรไป สามารถนำไปใช้ทั้งกิจการโทรคมนาคมและกระจายเสียงได้ถ้าได้รับไฟเขียว ก็จะเป็นการเปิดโอกาสให้ อสมท สามารถนำคลื่นนี้ไปให้บริการโทรคมนาคมในอนาคตได้ ซึ่งขณะนี้ร่างแก้ไข พ.ร.บ. กสทช.อยู่ระหว่างการรอเข้าพิจารณาที่ สนช.

เนื่องจากคลื่นย่าน 2600 มีจำนวนถึง 144 เมก อสมท และกสทช.ได้มีการปรึกษาหารือกันเพื่อจะนำคลื่นบางส่วนมา  Refarming หรือส่งคืนให้ กสทช.นำไปใช้ประโยชน์ ภายใต้เงื่อนไขที่จะมีการจ่ายเงินชดเชยให้กับ อสมท ด้วย ซึ่ง กสทช.ได้มีแผนที่นำคลื่น 2600 MHz นี้ มาเปิดประมูลคลื่น 4G ด้วยเช่นกัน.