เรียกข่าวดีได้ไหม ? “อสมท” รายได้ลด 6% แต่ก็ขาดทุน “น้อยลง” กว่า 85%

เรียกได้ว่าเป็นข่าวดีสำหรับ “สมท” เลยก็ว่าได้ แม้ “รายได้” จะน้อยลงกว่าเดิมแต่ตัวเลข “ขาดทุน” ก็น้อยลงตามไปด้วย

จากรายงานของนีลเส็นระบุการใช้งบโฆษณาในอุตสาหกรรมสื่อในปี 2561 กลับมาเติบโตอีกครั้งในรอบ 2 ปี หรือคิดเป็นเม็ดเงิน 105,455 ล้านบาท โดยสื่อที่เป็นรายได้หลักของอสมทต่างเติบโตทั้งคู่ ทั้งโทรทัศน์ เติบโต 8% มูลค่า 67,935 ล้านบาท และวิทยุ เติบโต 7% มูลค่า 4,802 ล้านบาท

แต่กระนั้นก็ตามผลการดำเนินงานของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)” สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 มีรายได้ทั้งสิ้น 2,562 ล้านบาท ลดลง 6% จากปีก่อนที่มีรายได้ 2,736 ล้านบาท เรียกได้ว่าสวนทางกับตลาด แต่สิ่งที่น่าจะทำให้ยิ้มได้อยู่บ้างคือตัวเลขขาดทุนที่ลดลง กว่า 85% เหลือเพียง 378 ล้านบาท จากปีก่อนที่ขาดทุนถึง 2,543 ล้านบาท

เมื่อมองลึกเข้าไปถึงโครงสร้างรายได้ของอสมท ถูกแบ่งออกเป็น 6 ส่วน ได้แก่

1. โทรทัศน์คิดเป็นสัดส่วน 30% มีรายได้ทั้งสิ้น 771 ล้านบาท ลดลง 23% จากปีก่อนที่ทำได้ 1,002 ล้านบาท โดยหลักๆ มาจากการขายโฆษณาให้เอเยนซี่ 48%, โครงการภาครัฐ / รัฐวิสาหกิจ 39%, ค่าเช่าเวลา 9% และ การดำเนินการอื่น 4%

ถึงในภาพรวมรายได้จะน้อยลงอสมท กลับมองว่าแนวโน้มกลับมีทิศทางที่ดีขึ้น ตั้งแต่ไตรมาสแรกถึงไตรมาสสุดท้าย เนื่องจากมีการปรับปรุงผังรายการโดยเฉพาะในครึ่งปีหลัง 2561 เติมรายการเชิงสาระ และรายการบันเทิงเชิงสาระมากขึ้น รวมถึงรายได้จากการเช่เวลา และส่นแบ่งจากการขายสินค้าทางช่อง MCOT Family ก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ได้มีการปรับปรุง MCOT Family หมายเลข 14 หาพันธมิตรมาเติม เพิ่มเวลารายการประเภท Home Shopping ที่มีแล้ว 3-4 ราย เตรียมการปรับ Positioning ของผังรายการมุ่งไปหากลุ่มครอบครัวและสูงวัยมากขึ้น คาดจะเห็นผลชัดเจนในต้นปี 2562

2. วิทยุ รายได้ลดลงเล็กน้อย 0.8% จาก 747 ล้านบาทเป็น 741 ล้านบาท รายได้หลัก 73.7% มาจากการขายโฆษณาในวิทยุส่วนกลาง 6 คลื่น รองลงมาวิทยุในส่วนภูมิภาค 25.8 ลดลงเล็กน้อย สุดท้ายโครงการภาครัฐและการจัดกิจกรรม 0.4% ตรงส่วนนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นจากคลื่น Mellow FM 97.5 MHz

อสมทระบุว่า ยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันกับตลาดได้ดี คลื่นที่โดดเด่นและทำรายได้สูงสุดคือ MET 107 MHz คลื่นเพลงสากลเติบโต 43% แต่หากถามถึงคลื่นที่ทำรายได้สูงสุดกลับเป็นคลื่นลูกทุ่งมหานคร FM 95 MHz

ที่ผ่านมาได้มีการทดลองเพื่อเพิ่มฐานคนฟัง ด้วยการผลิตเนื้อหารายการ (content) สู่แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น รายการ “Talk Together” รายการ Talk show ของกูรูตัวจริง สไตล์ Hard Talk ที่ได้ 5 กูรูตัวจริง และมีการทดลองระบบ Podcast ด้วย

3. โครงข่าวดิจิทัลทำรายได้ 427 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากตัวเลข 363 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในกระบบ Must Carry จาก กสทช. โดยมีโครงข่าวที่ครอบคลุม 95% ของครัวเรือนทั่วประเทศ

4. สัมปทานรายได้ 401 ล้านบาท ลดลง 13% จากปีก่อนที่ทำได้ 459 ล้านบาท หลังจากนี้รายได้ในส่วนนี้จะเริ่มลดลงจากอายุสัมปทาน ที่จะหมดลงในปี 2563 ทั้ง ช่อง 3 และทรูวิชั่นส์

5. สื่อใหม่ทั้งสื่อออนไลน์ต่างๆ และโทรทัศน์ดาวเทียม MCOT Satellite Network รายได้เติบโตถึง 65% จาก 59 ล้านบาท หลังจากนี้รายได้จากการเช่าช่องรายการบนดาวเทียมจะลงลงในปี 2562 เนื่องจากได้ยุติช่องสัญญาณดาวเทียม C-band บางส่วนไป

6. อื่นๆ” มีรายได้ 78 ล้านบาท เติบโตถึง 30% จากรายได้ 60 ล้านบาท

สำหรับในปี 2562 นี้อสมทปรับทัพใหม่เพื่อลดการพึ่งรายได้จากโทรทัศน์และวิทยุโดยเริ่มจากการดันไนน์เอ็นเตอร์เทนที่ประเมินแล้วว่ารายการเป็นที่รู้จักอย่างดี สามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่เป็นรายการข่าวบันเทิง ออกไปรับจ้างการผลิตให้ช่องอื่น เช่น ช่องวัน ออกกากาศในชื่อวันเอ็นเตอร์เทน” 

นอกจากนี้ยังได้มีการวางแผนรับมือโดยเตรียมนำที่ดิน 50 ไร่ ย่านรัชดาภิเษก ติดศูนย์วัฒนธรรม และที่ดินที่ทำการ อสมท 20 ไร่ ย่านพระราม 9 ซึ่งมีการประเมินมูลค่ารวม 2 แปลงกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่ง อสมท ได้เดินหน้าศึกษาโครงการนำสินทรัพย์ที่ดินมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้องค์กร (https://positioningmag.com/1214613)

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงธุรกิจสื่อที่อยู่ในภาวะชะลอตัว”.


ข่าวเกี่ยวเนื่อง