งานใหญ่ ความท้าทายของซีอีโอหญิงคนใหม่ของดีแทค

ถือเป็นความท้าทายไม่น้อยเลย สำหรับ อเล็กซานดรา ไรช์ กับการเข้าดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือซีอีโอหญิงคนใหม่ของดีแทค แทน ลาร์ส นอร์ลิ่ง ซีอีโอคนเก่า ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 กันยายนปีนี้

เป็นช่วงที่ ดีแทค จะต้องเดินเกมเรื่องของคลื่นความถี่อย่างรัดกุมให้มากที่สุด เพราะหลัง กสทช.ต้องคว้าน้ำเหลวจากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ในวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา จากการที่ 3 โอเปอเรเตอร์ ดีแทค เอไอเอส ทรู พร้อมใจกันไม่เข้าประมูล

ล่าสุด (19 มิ.ย) กสทช.ที่เพิ่งออกมาประกาศเปิดประมูลคลื่นรอบใหม่ ที่หวังจะผลักดันให้ดีแทคเข้าร่วมการประมูลอีกครั้ง จึงเร่งนำเรื่องการประมูลรอบใหม่นี้ เพื่อเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช.ในวันจันทร์ที่ 25 มิถุนายนนี้

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.บอกว่า จะจัดให้เปิดประมูลคลื่นความถี่พร้อมกัน 2 ย่านคือ คลื่น 1800 MHz จำนวน 45 เมก และ 850 MHz จำนวน 5 เมก โดยยึดตามกฎเกณฑ์ราคาประมูลคลื่น 1800 MHz เดิม ที่เริ่มต้นประมูล 15 เมก ด้วยราคา 37,457 ล้านบาท เป็นราคาเดิมเหมือนรอบที่แล้ว

ส่วนคลื่น 850 MHz นั้น มีราคาตั้งต้นอยู่ที่ 37,988 ล้านบาท จำนวน 5 เมก ซึ่งมาจากราคาจากการประมูลคลื่น 900 MHz ในปี 2558 ที่ทั้งทรูและเอไอเอส ต่างประมูลไปด้วยราคา 76,298 ล้านบาท และ 75,654 ล้านบาทสำหรับคลื่นจำนวน10 เมก เมื่อประมูล 5 เมก

กสทช.บอกว่าจะจัดการเปิดประมูลคลื่นทั้งสองย่านให้เสร็จก่อน 15 กันยายนปีนี้ ซึ่งเป็นวันที่สัญญาสัมปทานการใช้คลื่นของดีแทคกับกสทช.จะหมดอายุลง

การประกาศเปิดประมูลใหม่ แถมพ่วงเอาคลื่น 850 มาพ่วงประมูลด้วยครั้งนี้ เพื่อต้องการผลักดันให้ ดีแทค ร่วมประมูล

โดย กสทช.ยืนยันว่าจะไม่ออกมาตรการเยียวยาผู้ใช้บริการบนคลื่น 1800 และ 850 ให้กับดีแทค หลังจากที่สัญญาสัมปทานหมดสิ้นลงเหมือนในกรณีของ เอไอเอส และทรู โดยให้เหตุผลว่า ดีแทคมีคลื่นใช้อย่างเพียงพอเพื่อให้บริการลูกค้าทั้งหมดแล้ว

คลื่น 850 และ คลื่น 1800 เป็นสองย่านคลื่นที่มีความสำคัญกับดีแทคมาก โดยเฉพาะคลื่นย่านต่ำอย่าง 850 MHz ซึ่งดีแทคต้องการ เพราะเป็นคลื่นที่ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้ทั่วประเทศ และคลื่นที่ดีแทคมีอยู่ในมือหลังหมดอายุสัมปทาน ล้วนเป็นคลื่นย่านสูง ตั้งแต่ 2100 และ 2300 MHz ดีแทคจึงจำเป็นต้องการคลื่นย่าน 850 MHz โดยหวังจะได้ใช้งานต่อในช่วงเยียวยา เนื่องจาก กสทช.ไม่ได้มีแผนนำคลื่นย่านนี้มาประมูลตั้งแต่แรก

สำหรับคลื่น 850 MHz ที่จะหมดสัมปทานนี้มีจำนวน 10 เมก กสทช.ได้ประกาศกันไว้ 5 เมก สำหรับการรับส่งระบบสัญญาณของรถไฟความเร็วสูงของไทย ส่วนอีก 5 เมก ต้องกันไว้ไม่ให้รบกวน โดยไม่มีแผนที่จะนำออกมาประมูลตั้งแต่แรก ทำให้ดีแทคเล็งที่จะใช้งานต่อเนื่องจนกว่าจะมีรถไฟความเร็วสูง

แต่เมื่อเกมเปลี่ยน กสทช.จึงจำเป็นต้องงัดเอาคลื่น 850 MHz ออกมาประมูลจำนวน 5 เมก ด้วยราคาสูงลิ่ว เกือบ 4 หมื่นล้านบาท โดยที่รู้กันดีว่าหาคนเข้าประมูลได้ยาก

ส่วนคลื่น 1800 นั้นเป็นคลื่นมาตรฐานของ 4G ซึ่งดีแทคยังจำเป็นต้องใช้สำหรับการโรมมิ่งกับลูกค้าทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง

ในขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการปิดทางป้องกันการฟ้องกลับหากไม่มีมาตรการเยียวยา หากถึงที่สุดแล้วกฎหมายต้องให้ กสทช.ออกมาตรการเยียวยา กสทช.ก็ยังหวังที่จะพึ่งพา ม.44 จากรัฐบาลเป็นทางเลือกสุดท้ายในการไม่เปิดให้มีมาตรการเยียวยา

สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการของดีแทคที่มีอยู่ประมาณกว่า 4 แสนรายนั้น กสทช.จะโยนให้เป็นหน้าที่ของดีแทคที่จะต้องรับผิดชอบลูกค้าทั้งหมดเองหลังหมดสัมปทาน ซึ่งดูจะขัดหลักการของการเป็นหน่วยงานกำกับดูแล ที่ไม่เข้ามาช่วยดูแล และคุ้มครองผู้ใช้บริการเสียเอง

แค่ยังไม่ทันรับตำแหน่งใหม่ จึงดูเหมือนว่า ว่าที่ซีอีโอหญิงคนใหม่ที่ถูกส่งตรงมาจากเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของดีแทค ก็มีงานล้นมือ ที่ต้องรอการจัดการเสียแล้ว

จากประวัติการทำงานของ อเล็กซานดรา ไรช์ ว่าที่ซีอีโอคนใหม่ชาวออสเตรียนี้ จบการศึกษาทางด้านการจัดการธุรกิจ คณะเศรษฐศาสตร์และธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ผ่านงานด้านการบริหารจัดการ เริ่มจากธุรกิจธนาคาร อเล็กซานดราเป็นผู้ริเริ่มในการเปิดตัวธุรกิจออนไลน์ และทำธุรกิจดิจิทัลสตาร์ตอัพ ในปี 2529

โดยในปี 2544 อเล็กซานดรา ได้เริ่มงานในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ในตำแหน่ง ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ที-ออนไลน์ ออสเตรีย (T-Online Austria) หลังจากนั้นดำรงตำแหน่ง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ 3G ฮัทชิสัน ออสเตรีย และ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการ ซันไรส์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์การทำงานในประเทศยุโรปทั้งหมด และถือเป็นครั้งแรกในการเข้ามาทำงานประเทศแถบเอเชียในตำแหน่งซีอีโอ ของดีแทค.