อยากเพิ่มลูกค้าต้องให้อ่านฟรี กลยุทธ์ร้านนายอินทร์ ปรับสู่ Omni Channel บุกรถไฟฟ้าใต้ดิน ให้อ่านอีบุ๊กฟรี 24 ชั่วโมง

เมื่อธุรกิจสิ่งพิมพ์ถือเป็นอีกหนึ่งในธุรกิจที่ถูก “ดิสรัปต์” เป็นกลุ่มแรก ๆ ต้องหาทางรอดด้วยการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัล โจทย์ต่อไป ทำอย่างไรให้ผู้บริโภครับรู้ และเข้าถึงได้มากที่สุด

ร้านนายอินทร์ ในเครืออมรินทร์ เป็นอีกรายที่ต้องปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล ด้วยการลดสาขาลงเหลือ 150 สาขาทั่วประเทศ จากเดิมมี 190 สาขา เนื่องจากมองเห็นช่องทางการจำหน่ายผ่านทางออนไลน์ที่มีการเติบโตขึ้น 2-3 เท่า เพราะสามารถซื้อหนังสือได้ทุกที่ ทุกเวลา จึงลดจำนวนสาขาที่มีค่าบริหารจัดการสูงลง และปรับรูปแบบร้านนายอินทร์ใหม่ให้มีหลากหลายขนาด และเตรียมเปิด Smart Store แห่งแรกที่จามจุรีสแควร์ ชั้น 1 โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาผสานในร้านด้วย

“ปีที่แล้วยอดขายหนังสือผ่านออนไลน์เราโต 70% ปีนี้เราตั้งเป้าโต 100% หนังสือทุกเล่มของเราขายออนไลน์หมด บางเล่มอาจจะไม่มีแบบ E-Book แต่เกิน 50% มีแล้ว ปัจจุบันยอดขายหนังสือ E-Book ของเราจะอยู่ที่ 5% ของยอดขายทั้งหมด ตอนนี้เราเป็น Omni Channel และปลายปีจะมีกลยุทธ์ใหม่ออกมาอีก ปีนี้เราตั้งเป้าการเติบโตทั้งหมดไว้ที่ 10%” ระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าว

ในมุมของ “อมรินทร์” มองว่า แม้ว่าวันนี้จำนวนร้านหนังสือจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ไม่ได้แปลว่าจำนวน “คนอ่าน” จะลดลงตาม เพียงแค่เปลี่ยนแพลตฟอร์มจากหนังสือเล่ม มาสู่ “E-Book” ที่ตอบรับไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ให้พกพาไปทุกที่

สเต็ปต่อไปของอมรินทร์จึงต้องสร้างการรับรู้ให้ได้มากที่สุด โดยเลือกสถานที่ที่มีกลุ่มเป้าหมายอีบุ๊กอยู่มากที่สุด นั่นคือรถไฟฟ้า

จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่างร้านนายอินทร์ ในเครือบริษัท อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) กับบริษัท แบงคอก เมโทร เน็ตเวิร์คส์ จำกัด หรือ บีเอ็มเอ็น เปิดตัวโครงการ “นายอินทร์ X BMN Read Around” สร้างชั้นหนังสือแบบ Digital Book Download

โดยคัดหนังสือขายดีร่วม 100 เล่มจากกว่า 20 สำนักพิมพ์ มาให้ดาวน์โหลดอ่าน E-Book ฟรี! 24 ชั่วโมง

“เราพบว่าปัจจุบันคนอ่านหนังสือทั้งแบบเป็นเล่มและแบบ E-Book มีการเติบโต แต่เป็นคนละกลุ่มกัน คนที่อ่านบนดิจิทัลมักจะเป็นคนรุ่นใหม่ นิสิต นักศึกษา รวมถึงคนที่ต้องการอ่านหนังสือขณะเดินทาง เพราะไม่อยากถือหนังสือให้หนักเลยอ่านบนอุปกรณ์แท็บเล็ตหรือมือถือแทน ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการอ่านรูปแบบไหน ในมุมของสำนักพิมพ์ทำให้มีคนอ่านเพิ่มขึ้น” ระริน กล่าว

การเลือกสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นสถานที่ให้ดาวน์โหลด E-Book ก็เพื่อให้คนทั่วไปที่ใช้เวลาเดินทางบนรถไฟฟ้าได้ทดลองอ่านหนังสือรูปแบบนี้ และสร้างประสบการณ์ OMNI Reading Experience

ที่สำคัญ เธอเชื่อว่าจะทำให้ภาพรวมของตลาดหนังสือโตขึ้น เพราะเมื่ออ่านแล้วชอบก็จะต่อยอดไปที่การซื้อหนังสือจริง หรือดาวน์โหลด E-Book มาอ่าน

เบื้องต้นสามารถดาวน์โหลดได้ที่ 5 สถานีหลัก คือ สวนจตุจักร พหลโยธิน เพชรบุรี ศูนย์วัฒนธรรม และสามย่าน โดยหนังสือที่นำมาให้ดาวน์โหลดจะติดอันดับ Best Seller และมีหลากหลายประเภท ทั้ง How to, ท่องเที่ยว, เรื่องสั้น, นิยาย, วรรณกรรม, วิทยาศาสตร์, ประวัติศาสตร์ และความรู้ทั่วไป มีการสับเปลี่ยนเล่มใหม่ทุก 2 สัปดาห์ ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ร่วมโครงการ พร้อมตั้งเป้ายอดดาวน์โหลดไว้ที่ 250,000 เล่ม

ในมุมมองของณัฐวุฒิ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด ผู้บริหารร้านค้าเมโทรมอลล์ บอกว่า โครงการนี้ถือเป็นการส่งเสริมการอ่านในชีวิตประจำวันคนกรุงเทพฯ ให้มากขึ้น เพราะรถไฟฟ้าใต้ดินมีจำนวนผู้ใช้เฉลี่ยถึง 300,000 คนต่อวัน และมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมและค้าปลีกค่อนข้างมาก การร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นการนำไลฟ์สไตล์มาผสานกัน ซึ่งในอนาคตมีแผนร่วมมือกับอมรินทร์พริ้นติ้งฯ ในเชิงธุรกิจแต่ยังไม่ขอเปิดเผยข้อมูลในตอนนี้

แน่นอนว่าในแง่ของเมโทรมอลล์เองก็มี “กิมมิก” ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ มาเป็นอีกหนึ่งแม่เหล็กในการดึงดูดให้ลูกค้ามาใช้บริการ งานนี้เลยเป็นการร่วมมือแบบ “win-win” ทั้งอมรินทร์และเมโทรมอลล์.