โรงเรียน ‘สอนภาษา’ ต้องปรับกระบวนท่าทุกมิติ หลีกหนีช่วง ‘ขาลง’ หลายเเบรนด์ชะลอเปิดสาขา หันมาทุ่มออนไลน์ เจ้าใหญ่ปรับตัวพออยู่ได้ เเต่เจ้าเล็กต้องล้มหายไปกับพิษโควิด
‘โอฬาร พิรินทรางกูร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย เปิดเผยกับ Positioning ว่า ตลาดรวมของสถาบันสอนภาษาอังกฤษในไทย ได้รับผลกระทบตลอดปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าลดลงเล็กน้อย จากเดิมในปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ราว 3,500 ล้านบาท
ปัจจัยหลักๆ มาจาก สภาพเศรษฐกิจไม่ดี ทำให้หลายครอบครัวต้องจำกัดค่าใช้จ่าย รวมถึงสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยให้เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ การท่องเที่ยวที่ซบเซา เเละการปิดชั่วคราวในช่วงล็อกดาวน์
เเต่ในอีกมุมหนึ่งก็มีคนมาสมัครเรียนภาษากันมากขึ้น เพื่อนำไปช่วย ‘หางานทำ’ เสริมทักษะให้เหนือกว่าคู่เเข่งในยามที่ตลาดเเรงงานระส่ำ มีคนตกงานเกือบล้านคน
ด้านผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ชะลอการขยายสาขา เเต่บางรายสู้ไม่ไหวต้องหายไปจากตลาด ส่วนผู้เล่นรายใหญ่ก็เหลือแค่ไม่กี่รายเท่านั้น ซึ่งตอนนี้เหลือระดับ Global Brands เเข่งขันกันอยู่ 3 เจ้า
โดยวอลล์สตรีท อิงลิช (Wall Street English) เปิดให้บริการในไทยมานาน 17 ปี มีการเติบโตเฉลี่ย 5-10% ก่อนโรคระบาด ก็ได้รับผลกระทบนี้เช่นกัน จากรายได้จากที่มีอยู่ราว 600 ล้านบาท ปีที่ผ่านมา ลดลงไป 30% เหลือ 400 กว่าล้านบาท เเละมีจำนวนผู้ลงทะเบียนเรียนลดลงไปถึง 25% หรือประมาณ 7,500 คน
ซีอีโอวอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทย มองว่า ปีนี้เป็นโอกาสของธุรกิจสถาบันสอนภาษาที่จะฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง เเละตลาดโดยรวมน่าจะกระเตื้องขึ้นมา
กลยุทธ์ของวอลล์สตรีท อิงลิช จึงเน้นไปที่การปรับตัวเองให้ทันสมัย ก้าวทันพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป หาพาร์ตเนอร์อย่างโรงเรียน-มหาวิทยาลัย ขยายสาขาไปสู่ต่างจังหวัด เเละเพื่อนบ้านในอาเซียน พร้อมเป้าหมายที่จะกลับมาเติบโตให้ได้ 40% ในปีนี้ เเละรักษาเเชมป์ส่วนแบ่งมาร์เก็ตเเชร์ในตลาดไว้ที่ 35%
ที่ผ่านมา ‘การเรียนการสอนออนไลน์’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสถาบันสอนภาษา เเต่เป็นสิ่งที่ทำมานานมากเเล้ว เเต่การเรียนเเบบ ‘ผสมผสาน’ ทั้งออฟไลน์–ออนไลน์จะเป็นเทรนด์การศึกษาเเบบใหม่ของทุกโรงเรียนในยุคนี้
วอลล์สตรีท ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 3 ปี สัดส่วนการเรียนที่สาขาจะลดเหลือ 60% และสัดส่วนออนไลน์จะเพิ่มเป็น 30% ส่วน Omni Channel จะเป็น 10%
ท่ามกลางโลกดิจิทัล ที่มีคลาสออนไลน์ให้เรียนฟรีเรียนรู้ด้วยตัวเองได้จากมีช่องยูทูบเเละโซเชียลมีเดียต่างๆ
โอฬาร มองว่า การมีคลาสเรียนฟรีในโลกออนไลน์เป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนสนใจ และอยากเรียนภาษาอังกฤษเเบบจริงจังมากขึ้น ส่วนโรงเรียนสอนภาษาก็ต้องสร้างทักษะของผู้เรียน ‘ให้มากกว่า’ ที่พวกเขาเรียนรู้เอง
หลักสูตรของวอลล์สตรีท จะเน้นไปที่การได้เรียนสดกับอาจารย์ชาวต่างชาติ ที่เป็นเจ้าของภาษา มีการถาม–ตอบเเบบเรียลไทม์ ไม่ให้ลูกค้าต้องเรียนเองทั้งหมด และมีโค้ชคอยติดตามให้คำแนะนำเป็นระยะ
โดยคลาสเรียนทั้งในสาขาเเละเรียนออนไลน์ จะใช้หลักสูตรเดียวกัน ดังนั้นประสบการณ์การเรียนออนไลน์จะไม่เเตกต่างกัน ซึ่งแต่ละคลาสจะกำหนดให้เรียนแค่ 4 คนต่อคลาสเท่านั้น
สำหรับทิศทางของวอลล์สตรีท อิงลิช ประเทศไทยในปีนี้ จะมีการเดินเกมรุกการสอนทั้ง 3 เเพลตฟอร์ม คือ สาขา , ออนไลน์ เเละ Omni Channel
ผสมการเรียนที่สาขาและออนไลน์เข้าด้วยกัน โดยช่วงนี้มีการจัดโปรโมชั่นในคอร์สออนไลน์ ในราคาประมาณ 2,000 กว่าบาทต่อเดือน เพื่อดึงดูดให้คนมาสมัครมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการปรับหลักสูตรให้หลากหลาย เเละ ‘สั้นลง’ มีตั้งแต่ 3 เดือน , 6 เดือน, 1 ปี, 1 ปีครึ่ง หรือ 2 ปี เนื่องจากพบว่าช่วง COVID-19 คอร์สสั้นๆ แค่ 1-3 เดือน มีกระเเสตอบรับที่ดีมาก จึงเป็นโอกาสในการ ‘หาลูกค้าใหม่’ ที่ยังไม่เคยมาเรียนเเละอยากทดลองเรียนบ้าง
โดยการเรียนทางออนไลน์ ช่วยให้โรงเรียนเข้าถึงกลุ่มลูกค้าอย่างกลุ่ม ‘คนทำงาน’ และ ‘เจ้าของกิจการ’ ได้มากขึ้น รวมถึงตลาดในต่างจังหวัดด้วย
“อัตราการว่างงานที่เพิ่มขึ้นถึง 7 เเสนคน เป็นตัวกระตุ้นให้ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการแข่งขันในตลาดเเรงงาน การมีทักษะการใช้ภาษาอังกฤษที่ดีจึงเป็นข้อได้เปรียบสำคัญ”
ทั้งนี้ กลุ่มนักเรียนของวอลล์สตรีท ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักเรียน นักศึกษา ราว 53% ตามมาด้วยกลุ่มคนทำงาน อายุ 23-29 ปี ราว 27% และกลุ่มเจ้าของกิจการ มีอยู่ราว 20%
ส่วนเเผนการสาขาในไทย ปัจจุบันวอลล์สตรีท อิงลิช มีสาขาทั้งหมด 15 แห่ง กว่า 12 แห่งกระจุกอยู่ในกรุงเทพ มีต่างจังหวัดเพียง 3 แห่งเท่านั้น คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ ระยอง ตอนนี้กลับมาเปิดบริการครบแล้ว เเละมีผู้ใช้บริการราว 90% ซึ่งถือว่ามีโอกาสเติบโตได้อีก
โดยตั้งเป้าจะเปิดสาขาใหม่ในปีนี้ราว 1-2 สาขา ผ่านโมเดล ‘แฟรนไชส์’ ในต่างจังหวัด ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ตอนนี้เปิดเป็นแฟรนไชส์ที่เดียวคือขอนแก่น ส่วนที่เหลือทั้งหมดเป็นของบริษัท)
“ในวิกฤตก็ยังมีโอกาสในการขยายสาขา เพราะมีค่าเช่าหรือต้นทุนการเปิดสาขาที่ถูกลง”
ส่วนการขยายไปต่างประเทศนั้น หลังจากที่ได้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ในการขยายสาขาในไทย สปป.ลาว และกัมพูชา มาเมื่อ 2 ปีก่อน ทีมงานตั้งเป้าว่า ‘กลางปีนี้’ จะเปิดสาขาในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา โดยภายใน 5 ปี จะมี 3 สาขา ด้านสาขาในสปป.ลาว นั้นกำลังอยู่ในระหว่างหาพันธมิตร
ส่วนพาร์ทเนอร์อื่นๆ อย่างมหาวิทยาลัยนั้น กำลังอยู่ระหว่างการเจรจา หลังประสบความสำเร็จจากการจับมือกับม.ศรีปทุม เข้าไปนำร่องการเรียนการสอนในวิชาภาษาอังกฤษให้นักศึกษาทุกชั้นปี โดยผู้สอนเเละหลักสูตรจะเป็นอาจารย์จากวอลล์สตรีท อิงลิช ส่วนอาจารย์วิชาภาษาอังกฤษของ ม.ศรีปทุม ได้ปรับบทบาทเป็นโค้ช หรือเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษา
จากข้อมูลของ EF Education First เกี่ยวกับความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษในประเทศที่ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาหลัก พบว่า ประเทศไทย มีทักษะภาษาอังกฤษใน ‘ระดับต่ำ’ โดยเมื่อปี 2562 ประเทศไทยอยู่อันดับที่74 จากทั้งหมด 100 ประเทศที่สำรวจ แต่ในปี 2563 ตกมาอยู่อันดับที่ 89
โอฬาร มองว่า อุปสรรคในการเรียนภาษาอังกฤษของคนไทย คือ ‘ความกล้า’ ในการสื่อสารเเละการขาดโอกาสในการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เเม้จะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชาวต่างชาติเดินทางมาเยอะก็ตาม โดยภาษาอังกฤษยังมีความจำเป็นสำหรับคนทุกกลุ่ม เพราะช่วยเปิดโลกความรู้ ปูทางไปสู่คณะเรียนที่ใฝ่ฝันเเละการเลื่อนตำเเหน่งที่สูงขึ้นได้
การปรับตัวของโรงเรียนสอนภาษา เพื่อเสิร์ฟความต้องการของลูกค้าที่มีอยู่มากในตลาด ในยามเศรษฐกิจตกต่ำ…เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไป