หลังจากร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกเปิดตัวโครงการอย่างยิ่งใหญ่ไปเมื่อปลายปี 2560 “The Forestias – เดอะ ฟอเรสเทียส์” โครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ รูปแบบ Mixed Use มูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท บนเนื้อที่ 300 ไร่ ริมถนนบางนา–ตราด กม.7 ภายใต้บริษัท MQDC ของตระกูลเจียรวนนท์ เดินเครื่องทุ่มงบ 70 ล้านบาท ผุดแคมเปญ แรก “Forest Rescue-ฟอเรส เรสคิว” ปฏิบัติการกู้ชีพต้นไม้รอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล กิจกรรมซีเอสอาร์ที่มีแนวคิดและรูปแบบต่างจากคนอื่น
จากการที่ต้นไม้ใหญ่ในหลาย ๆ พื้นที่มักจะถูกตัดโค่นเมื่อมีการก่อสร้างเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ หรือสาธารณูปโภคต่าง ๆ แคมเปญนี้เริ่มต้นด้วยมุมมองที่ต้องการช่วยเหลือและอนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับเมืองมากขึ้น ด้วยการจัดตั้งทีมปฏิบัติการที่เรียกว่า “Forest Rescue Team” นำโดย “สุรินทร์ วราชุน” ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศวิทยา ซึ่งอยู่เบื้องหลังกิจกรรมซีเอสอาร์ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วของหลายบริษัทใหญ่
กิจกรรมนี้เปิดให้ผู้ที่ต้องการช่วยเหลือต้นไม้ถ่ายรูปต้นไม้ แล้วส่งไปในเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ คือ www.facebook.com/theforestias หรือ #Forest Rescue เริ่มแล้วตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2561 โดยมีกฎเกณฑ์ในการพิจารณาหลัก ๆ เช่น ผู้แจ้งต้องเป็นเจ้าของต้นไม้หรือเจ้าของต้นไม้ต้องอนุญาตให้เคลื่อนย้ายอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ต้องไม่เป็นไม้ต่างถิ่นรุกรานหรือแพร่พันธุ์เร็วเกินไปจนส่งผลต่อระบบนิเวศ ต้องคำนึงถึงความอยู่รอดของต้นไม้ ฤดูกาลที่เหมาะสม และดุลพินิจของผู้เชี่ยวชาญเป็นสำคัญ สำหรับต้นไม้ที่ได้รับการช่วยเหลือทั้งหมดจะนำไปปลูกไว้ในโครงการ “The Forestias” ซึ่งจัดสรรพื้นที่ 3 ไร่ หรือ 4,800 ตารางเมตร โดยส่วนหนึ่งจะเปิดเป็นพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนทั่วไปเข้าไปพักผ่อนหรือศึกษาระบบนิเวศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้นไม้แต่ละต้นจะได้รับการติดป้ายบ่งบอกที่อยู่และเจ้าของเดิม
แคมเปญนี้ใช้งบ 70 ล้านบาท โดยมีการวางกลยุทธ์การสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เป็นหลัก เช่น โซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊ก บทความออนไลน์ และรายการทีวี เพื่อเจาะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ ยังใช้สื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบวิดีโอคอนเทนต์เรื่อง “Forest Rescue” โดยใช้เค้าโครงจากเรื่องจริงของต้นจามจุรีที่อยู่ในซอยลาดพร้าว 110 ซึ่งเป็นต้นไม้เดิมของบ้านหลังหนึ่งที่ต้องการขยายที่อยู่อาศัยจึงจำเป็นต้องนำต้นไม้ออกจากพื้นที่ จึงติดต่อทีมช่วยเหลือเพื่อขุดล้อมและนำไปปลูกในที่อยู่ใหม่ แทนการโค่นทิ้ง
แคมเปญนี้ไม่ได้วัดผลจากจำนวนต้นไม้ที่ได้รับความช่วยเหลือ แต่มีเป้าหมายหลักต้องการสื่อสารถึงความสำคัญของต้นไม้และระบบนิเวศ เพื่อกระตุ้นเตือนให้คนไทยและสังคมมองคุณค่าของพื้นที่สีเขียวใกล้ตัวและร่วมกันอนุรักษ์อย่างจริงจัง เพราะในตอนนี้กระแสการรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจอย่างมาก โครงการฯ จึงอยากมีส่วนร่วมในเรื่องพื้นที่สีเขียว โดยมุ่งเป้าหมายหลักไปในเรื่องของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่วนการสร้างแบรนด์เป็นเพียงผลพลอยได้เท่านั้น
การเลือกกิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมแรก เพราะ “ความหลากหลายในธรรมชาติ” หรือ “50 Shades of Nature” เป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่เป็นแกนหลักหรือจุดขายของโครงการ ที่ต้องการนำเสนอความสุขในการใช้ชีวิตท่ามกลางระบบนิเวศที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง เพราะในโครงการมีการออกแบบป่า 4 ระดับ และจะมีการรวมพืชพันธุ์กว่า 38 สายพันธุ์ และสัตว์ต่าง ๆ กว่า 123 สายพันธุ์ ที่พบจากการค้นหาข้อมูลและวิจัยว่าเคยมีอยู่บนพื้นที่เดิมให้มาอยู่ภายในโครงการนี้ ซึ่งมีการจัดสรรพื้นที่สีเขียวไว้ถึง 60% มากกว่าโครงการอื่น ๆ ที่มักจะทำตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเท่านั้นคือ 10% สำหรับพื้นที่การค้า และ 30% สำหรับที่อยู่อาศัย
ส่วนอีกสามแกนหลักคือ Connecting 4 Generation เพราะปัจจุบันสังคมมีช่องว่างระหว่างวัยมากขึ้นทุกที เช่น ผู้สูงอายุกับเด็กหรือวัยรุ่นคุยกันแทบจะไม่รู้เรื่อง ก็จะมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้คนต่างเจเนอเรชั่นมามีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น เป็นต้น รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะตามมาเพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในชุมชนหรือสังคมอย่างมีความสุขมากขึ้น ตามแกนหลักที่ใช้ชื่อว่า Community of Dreams และกิจกรรมที่ทำให้สัมผัสได้ถึงการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้อย่างสอดรับกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ยั่งยืนคือ Sustainable for Well-being
ที่ผ่านมา โครงการเดอะ ฟอเรสเทียส์ มีการสื่อสารการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย เช่น เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม เป็นหลัก ในการสื่อสารเบื้องต้นมีเนื้อหาเกี่ยวกับโครงการและเนื้อหาที่เป็นการให้ความรู้ต่าง ๆ ซึ่งเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับ 4 แกนหลักดังกล่าว ทั้งเรื่องธรรมชาติ เรื่องชุมชน เรื่องความยั่งยืน และเรื่องเทคโนโลยี เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ (Brand Awareness) ให้กับผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนทำงานที่ต้องการศึกษาหรือหาข้อมูลเกี่ยวกับโครงการมากขึ้น ขณะที่ผลตอบรับอยู่ในระดับน่าพอใจ เช่น วิดีโอแรกเกี่ยวกับการเปิดตัวโครงการมีผู้เข้าชมค่อนข้างสูงคือเกือบ 20 ล้านคน อย่างไรก็ตาม โครงการฯ กำลังจะทำวิจัยผู้บริโภค (Brand Health Check) เพื่อให้รู้ว่าปัจจุบันมีการรับรู้แบรนด์มากน้อยเพียงใด.