นอกจากการทยอยขยายธุรกิจ เปิดสาขาของร้านขนมหวาน “อาฟเตอร์ยู” แบบค่อยเป็นค่อยไป มีเมนูใหม่ ๆ มาเอาใจคนรักขนมหวานและเบเกอรี่ อีกกลยุทธ์ที่ทำให้คอขนมหวานต้องร้องว้าว! คือการที่แบรนด์ “อาฟเตอร์ยู” ลุกมา Collaboration กับแบรนด์ใหญ่ระดับโลก
ปลายปี 2560 “อาฟเตอร์ยู X สตาร์บัคส์” ถือเป็นการเล่นใหญ่มากของแบรนด์ไทย (Local Brand) ที่ได้ผนึกกำลังกับร้านกาแฟแบรนด์ดังระดับโลก ทำให้ขนมหวานเมนูพระเอก “ชิบูย่า ฮันนี่ โทสต์” ของร้านอาฟเตอร์ยู ถูกนำไปเสิร์ฟที่ร้านกาแฟโมเดลใหม่ “Starbucks Reserve™” สาขาเมกาบางนา และสยามสแควร์วัน แน่นอนว่าผลลัพธ์ที่อาฟเตอร์ยูได้คือการขยายฐานลูกค้า คอกาแฟหันมากินขนมหวานแล้ว สิ่งที่เพิ่มมาหนีไม่พ้นสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับแบรนด์ เพราะการอาศัยชื่อชั้นของสตาร์บัคส์รวมกัน ย่อมดีกว่าสร้างแบรนด์เองลำพัง
กลยุทธ์การ Collaboration ของ “อาฟเตอร์ยู” ยังไม่หยุด เพราะล่าสุดเตรียมเสิร์ฟขนมหวานบนน่านฟ้า ซึ่งคราวนี้ “แอร์เอเชีย X อาฟเตอร์ยู” ส่วนเมนูจะถูกนำไปขยายฐานเอาใจผู้บริโภคกันบนเครื่อง เบื้องต้นมีการเผยออกมาบนโลกออนไลน์คือ Chocolate Lava และ Toast ซึ่งรับรองว่าติ่งขนมหวานที่เคยฟินกันบนดิน สามารถอินและฟินกันต่อบนเครื่องบินได้เวลาเดินทาง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้
หากชำแหละกลยุทธ์ของ 2 ค่าย ทางฝั่งแอร์เอเชีย เอ็กซ์ สายการบินต้นทุนต่ำหรือ Low cost Airline นอกจากหารายได้จากการขายตั๋วเครื่องบินแล้วบริการเสริมอื่น ๆ เช่นของที่ระลึกอาหาร ถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการหารายได้
ที่ผ่านมาหากใครเดินทางจะเห็นว่ารายการอาหารบนเครื่องบินที่แอร์เอเชียเสิร์ฟนั้นจะเป็นเมนูง่าย ๆ ข้าวบวกกับข้าว เครื่องดื่มซอฟต์ดริ้งก์และมีขนมขบเคี้ยวบ้างเล็กน้อย แต่คราวนี้มีขนมหวานและเบเกอรี่ไว้ล้างปากหลังทานของคาวมาเสริมเรียบร้อย
ส่วนอาฟเตอร์ยูนอกจากการมีหน้าร้านให้บริการทั้งสิ้น 28 สาขา และมีร้านเมโกริ 1 สาขา (ณ สิ้น 31 มี.ค. 61) บริษัทยังขยายธุรกิจสู่บริการจัดเลี้ยง (Catering) มากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโต และหาทางฉีกการแข่งขันของธุรกิจร้านอาหารเครื่องดื่มที่แข่งขันกันดุเดือด หลังรายงานของบริษัทระบุว่ายุคนี้ร้านอาหารเปิดกันเยอะมาก โดยข้อมูล ณ 31 มีนาคม 2560 มีธุรกิจภัตตาคารหรือร้านอาหารที่ดำเนินการอยู่ทั่วไทยมากถึง11,945 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบบริษัทจำกัดจำนวน 10,443 ราย คิดเป็น 87.43% ส่วนบริษัทมหาชนจำกัดมีจำนวนเพียง 5 ราย คิดเป็น 0.04% เท่านั้น ซึ่งอาฟเตอร์ยูคือหนึ่งใน 5 รายนั่นเอง
ส่วนทำเลที่ตั้งของธุรกิจภัตตาคารหรือร้านอาหาร ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมากที่สุดถึง 43.72% รองลงมาคือ ภาคใต้ 22.12% และภาคตะวันออก 14.93% และในบรรดาร้านอาหารที่มีบริษัทแบ่งเซ็กเมนต์ร้านเป็น 6 ประเภท ได้แก่ ร้านอาหารขนาดเล็ก, คาเฟ่ บาร์, ร้านอาหารที่ให้บริการเต็มรูปแบบ, ฟาสต์ฟู้ด, ร้านอาหารแบบสั่งกลับบ้าน (เดลิเวอรี) และฟู้ดคอร์ท
โดยอาฟเตอร์ยู อยู่ในเซ็กเมนต์คาเฟ่ บาร์ ซึ่งในหมวดนี้มีคู่แข่งทั้งทางตรงและทางอ้อมหลายร้าน เช่น ร้านน้ำผลไม้ ร้านกาแฟ ร้านขนมหวานและเครื่องดื่ม คาเฟ่ และหากดูจำนวนสาขาที่มี อาฟเตอร์ยูมีน้อยกว่าคู่แข่งบางรายหลายขุม เช่น คอฟฟี่เวิลด์ 52 สาขา (ข้อมูล ณ ก.พ. 60) การ Collaboration กับพันธมิตรจึงเป็นการขยายช่องทางขายมากขึ้น ได้ฐานลูกค้า และรายได้โตตามมาด้วย อีกนัยหนึ่งด้วยเมนูที่เสิร์ฟไม่ได้จัดเต็ม แต่อยู่ในรูปแบบกล่องเหมือน Snack Box ยังมองเป็นการขยาย Catering ให้โตขึ้นด้วย
สตาร์บัคส์ แอร์เอเชีย เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพันธมิตรที่อาฟเตอร์ยูไปร่วมมือ เพราะปัจจุบันยังมีการผนึกกับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณแบรนด์ดัง “Shiseido” สร้างสรรค์เครื่องดื่ม 2 รสชาติ ที่ดึงนวัตกรรม “Ultimune” ของแบรนด์มาเป็นจุดขาย
กลยุทธ์ Collaboration เกมนี้จึงมีแต่ win win!