กลายเป็นประเด็นร้อนฉ่าขึ้นมาทันที เมื่อ AIS และ True ต้องเปิดศึกนอกสนาม จนทำให้ AIS Play และ AIS Play Box ต้องจอดำ ไม่สามารถถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ได้อีกต่อไป
เอไอเอสได้ส่งข่าวในตอนเย็นวันที่ 28 มิถุนายน ขออภัยลูกค้า ที่ใช้ AIS Play และ AIS Play Box ต้องระงับถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เพราะทรูยื่นฟ้องศาลให้ระงับการถ่ายทอดผ่าน AIS Play และ AIS Play Box
ส่งผลให้ลูกค้า AIS Play ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่น มีลูกค้าอยู่ประมาณ 5 ล้าน AIS Play Box กล่องรับสัญญาณผ่านไฟเบอร์ออพติก อีก 4 แสนราย ไม่สามารถรับชมฟุตบอลโลกได้
เอไอเอส ระบุว่า การถ่ายทอดที่ผ่านมา เป็นหน้าที่ที่บริษัทต้องปฏิบัติตามตามประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ประกาศ Must Carry) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับชมรายการโทรทัศน์ที่มีการออกอากาศทั่วไป (Free TV) ได้โดยตรงอย่างต่อเนื่องและไม่มีการเปลี่ยนแปลงทำซ้ำดัดแปลงผังรายการหรือเนื้อหารายการ เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้สามารถเข้าถึงข้อมูลอย่างเท่าเทียมและทั่วถึงในทุกช่องทาง
แต่มีความจำเป็นต้องยุติการออกอากาศการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2561 เวลา 17.00 น.เป็นต้นไป เนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้มีคำสั่งให้บริษัทยุติการเผยแพร่รายการดังกล่าวตามที่บริษัททรูวิชั่นส์กรุ๊ปจำกัดได้ร้องขอต่อศาลไว้
ทรูวิชั่นส์ จึงรีบชี้แจงตามมาทันทีว่า AIS Play ได้นำสิทธิการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ผ่านมือถือ โดยไม่เคยได้รับอนุญาตจากทาง FIFA ล่วงหน้าและไม่เคยดำเนินการแจ้งขอผ่านทรูวิชั่นส์กรุ๊ปในฐานะผู้ดูแลลิขสิทธิ์ในประเทศไทยที่จะต้องดูแลให้เป็นไปตามกติกาข้อกำหนดของ FIFA
ทรูวิชั่นส์ จึงยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2561 ให้ AIS ยุติแพร่ภาพให้ผู้ชมที่ใช้แอปพลิเคชั่น AIS PLAY เพราะเกรงว่ากระทบกระเทือนต่อสิทธิ์ของทรูวิชั่นส์โดยตรงและสุ่มเสี่ยงต่อการที่สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ (FIFA) อาจบอกเลิกสัญญากับทรูวิชั่นส์ จะส่งผลให้ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศจะไม่สามารถรับชมการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2018 ได้อีกต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า เอไอเอส จึงได้ขออุทธรณ์ที่ศาลให้มีการไต่สวนในเรื่องนี้โดยทันที แต่ศาลไม่รับการไต่สวนหรืออุทธรณ์ และมีคำสั่งคุ้มครองให้ทรูโดยมีผลภายใน 48 ชั่วโมง
ที่มาของปัญหาที่ทำให้ทั้งคู่ต้องเปิดศึกชิงสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เพราะเวลานี้ เอไอเอสต่างก็มีบริการแอปดูหนัง และบริการ IPTV ผ่านบรอดแบนด์ไม่ต่างจากทรู ทั้งคู่จึงต้องการคอนเทนต์อย่างถ่ายทอดฟุตบอลโลกมาดึงดูดคนดู
ทำให้ทรู ผู้มาในตลาดนี้ก่อน และเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2018 ในมือ จึงยอมไม่ได้ เพราะไม่ใช่แค่ทรูเท่านั้นที่ต้องการลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก แต่เอไอเอสก็เช่นเดียวกัน
ช่วงแรกเริ่ม ในการหาเอกชนมาลงขัน ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก ก็มีชื่อของ เอไอเอส ปรากฏอยู่ในรายชื่อ 1 ใน 7 ของเอกชนที่จะเข้ามาเป็นสปอนเซอร์ 1. คิงเพาเวอร์, 2. ไทยเบฟเวอเรจ 3. กลุ่มซีพี , 4. บีทีเอส , 5. บางจาก, 6. กัลฟ์อิเลคทริก “กัลฟ์” และ 7. เอไอเอส โดยมีคิงเพาเวอร์เป็นหัวเรือใหญ่
แต่คิงเพาเวอร์ไม่สามารถเจรจาลิขสิทธิ์ได้ เนื่องจากผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ต้องเป็นผู้ให้บริการสถานีทีวีในเครือข่าย โดยที่การกีฬาแห่งประเทศไทยระบุว่าอยู่ระหว่างการแก้ปัญหา แต่ยืนยันว่าจะสามารถซื้อลิขสิทธิ์ได้อย่างแน่นอน
ไม่นานนัก รัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้จัดแถลงข่าว ถึงการได้เอกชน 9 รายร่วมลงขันซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก คือ 1. คิงเพาเวอร์, 2. ไทยเบฟเวอเรจ, 3. กลุ่มซีพี, 4. บีทีเอส, 5. บางจาก, 6. กัลฟ์อิเลคทริก “กัลฟ์” 7.ธนาคารกสิกรไทย, 8.ปตท, 9. บางจาก และ 10. คาราบาวตะวันแดง
เป็นที่น่าสังเกตว่าชื่อเอไอเอสหายไปพร้อมๆ กับการประกาศว่าทรูวิชั่นส์ได้ป็นเจ้าของลิขสิทธิ์บอลโลกในครั้งนี้ในนามสปอนเซอร์ทั้งหมด
ไม่มีใครบอกเหตุผลของการเปลี่ยนแปลงรายชื่อสปอนเซอร์หลักครั้งนี้ แต่บรรดาสปอนเซอร์ก็รู้กันดีว่า ทั้งเอไอเอส และทรู เป็นคู่แข่งกัน จึงต้อง “เลือก” เพียงรายเดียว และหวยก็มาออกที่เอไอเอสที่ต้องหลุดวงจรการเป็นสปอนเซอร์ในครั้งนี้
อย่างที่รู้กันดีว่า ทั้งคู่แข่งขันกันอย่างดุเดือดมาตลอด ทั้งในสนามมือถือที่เวลานี้ทรูแซงดีแทคขึ้นมาเป็นเบอร์ 2 ด้วยยอดผู้ใช้ 27.63 ล้านราย แม้ว่ายังห่างจากเอไอเอส ที่มีผู้ใช้ 40.1 ล้านราย
ส่วนบริการบรอดแบนด์ ทรูในฐานะที่มาก่อน มีลูกค้า 3.3 ล้านราย ในขณะที่เอไอเอสเร่งเครื่องจนมีฐานลูกค้า 571,000 ราย
นอกจากนี้ เอไอเอส และ ทรู ยังมีธุรกิจทีวี IPTV เหมือนกันทั้งคู่ คือ AIS Play แอปพลิเคชั่นให้บริการคอนเทนต์วิดีโอทั้งดูหนัง ละคร กีฬาเช่นเดียวกับ True ID และ AIS Play Box ที่เป็นระบบให้บริการแบบบอกรับสมาชิกเช่นเดียวกับทรูวิชั่นส์
ที่ผ่านมา ทั้ง AIS Play, AIS Play Box , TrueID และทรูวิชั่นส์มีการออกอากาศช่องทีวีดิจิทัลทั้ง 25 ช่องตามกฏ Must Carry ของ กสทช.
กฎ Must Carry คือกฎระบุให้กิจการทีวีที่ได้รับใบอนุญาตของ กสทช.ทุกแพลตฟอร์มทั้งระบบดาวเทียม, เคเบิล และ IPTV ต้องนำช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมดไปออกอากาศในเครือข่ายของตัวเองเพื่อความครอบคลุมของช่องทางในการรับชมทีวีดิจิทัลทั้งหมดทั่วประเทศ ลูกค้าของเอไอเอสและทรูสามารถรับชมช่องทีวีดิจิทัลได้ทุกช่อง
เอไอเอส จึงอาศัยกฎ Must Carry นำสัญญาณภาพจากทีวีดิจิทัลทั้ง 3 ช่องมาออกอากาศตามปกติ โดยเอไอเอสได้หารือ กสทช.ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมก่อนมหกรรมฟุตบอลโลกจะเริ่มขึ้น ว่าจะสามารถใช้กฎ Must Carry มาใช้กับเอไอเอสใน AIS Play และ AIS Play BOX เพื่อถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกได้หรือไม่
บอร์ด กสทช.ชี้แจงว่า บริการที่เข้าข่ายเป็น IPTV ที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ต้องยึดกฎ Must Carry สามารถเผยแพร่ทุกรายการจากฟรีทีวีผ่านแพลตฟอร์มที่ให้บริการได้
ทรูวิชั่นส์ ได้ทำหนังสือแจ้งเตือน ผู้ให้บริการทีวีผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ว่า ไม่สามารถนำช่วงรายการถ่ายทอดสดบอลโลกออกอากาศได้เนื่องจากเป็นลิขสิทธิ์ของทรูวิชั่นส์ที่ได้จาก FIFA
แต่ก็ยังมีผู้ให้บริการบางรายยังปล่อยให้ออกอากาศผ่านทางฟรีทีวีในแพลตฟอร์มของตัวเองอยู่รวมถึงเอไอเอส ทรูจึงยื่น Notice ไปอีกรอบ ปรากฏว่า หลายช่องยอมตัดสัญญาณช่วงถ่ายทอดสดทันที มีเพียงเอไอเอสรายเดียวที่ยังคงยืนยันปล่อยภาพรายการถ่ายทอดสดทางช่องทีวีดิจิทัลในแพลตฟอร์มตัวเอง
จึงเป็นที่มา ที่ทรูวิชั่นส์ไปยื่นฟ้องศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จนศาลมีคำสั่งให้เอไอเอสต้องยุติการเผยแพร่ภาพการถ่ายทอดสดบอลโลกตั้งแต่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมา
คนที่เดือดร้อนที่สุดยามนี้คือผู้บริโภคในเครือข่ายเอไอเอสทั้งหมดนั่นเอง.
อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง
- ระงับด่วน! AIS Play และ AIS Play Box งดถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2018 หลังทรูยื่นฟ้องศาล
- ทรูวิชั่นส์แจงเหตุระงับ AIS Play ถ่ายทอดฟุตบอลโลก 2018 ไม่ได้ขออนุญาตฟีฟ่า