รวมพลังสร้างฐาน

นอกจากโอเปอเรเตอร์โทรศัพท์มือถือ เครือข่ายสัญญาณโทรศัพท์ แอพพลิเคชั่น และร้านค้าออนไลน์จะแข่งขันกันแล้ว แพลตฟอร์มก็ออกมาสร้างจุดขาย กระจายจุดเด่น แย่งยูสเซอร์ไม่แพ้กัน และในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แอนดรอยต์ (Android) แพลตฟอร์มที่ผลิตขึ้นโดยกูเกิลก็เข้ามาแจ้งเกิดในไทย พร้อมสมาร์ทโฟนแบรนด์เอชทีซี เมจิก หวังเติบโตในช่วงคนเสพติดอินเทอร์เน็ต

ที่น่าแปลกคือ เอชทีซีไม่ได้เป็นฝ่ายออกโรงจัดงานแถลงข่าว แต่เป็นเอไอเอส ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ โดยในงานไม่ได้มีเพียงสื่อมวลชนเท่านั้น แต่มีเซเลบริตี้ พิธีกร นักแสดง และนักดนตรี มาร่วมสร้างสีสันและภาพข่าวกันอย่างคึกคัก

แม้ว่าแอนดรอยต์จะมาช้ากว่าซิมเบี้ยนถึง 11 ปี แต่การเปิดตัวในช่วงนี้ก็เป็นจังหวะที่เอชทีซี “ต้องลุ้นทำยอด” เพราะแม้ว่าจะเป็นช่วงที่คนไทยเกาะกระแสออนไลน์ แต่ไอโฟนก็ยังเป็นคู่แข่งที่เหนือกว่า โดยเฉพาะเรื่องวิดเจ็ต แอพพลิเคชั่นสโตร์ และราคาที่ใกล้เคียงกันเหลือเกิน

ในตลาดสหรัฐอเมริกา แอนดรอยต์เปิดตัวกับสมาร์ทโฟน T-Mobile G1 ของเอชทีซีเป็นเจ้าแรก และขายได้ 1 ล้านเครื่องภายใน 6 เดือน ขณะที่ไอโฟนได้ 1 ล้านเครื่อง ภายใน 2 เดือน

เอไอเอสไม่ได้รับไอโฟนเข้ามาขายเพราะข้อตกลงบางเรื่องเกินจะรับไหว ในขณะที่เอชทีซีซึ่งเดิมพึ่งแพลตฟอร์มวินโดว์โมบาย ก็เริ่มหวังที่จะตีตลาดสมาร์ทโฟนด้วยแอนดรอยต์ โจทย์ใหญ่แบบนี้ ล้วนส่งผลให้เอชทีซีกับเอไอเอสควรจับมือเพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน

เอชทีซีซึ่งประกาศตัวเป็นรายแรกที่ได้ใช้แพลตฟอร์มแอนดรอยต์ เน้นยูสเซอร์ที่นิยมใช้กูเกิลเซิร์ช (Google Search) และเปิดให้โหลดแอพพลิเคชั่นผ่านร้านค้าออนไลน์ที่เรียกว่า Android Market Place เมื่อลงทุนลงแรงร่วมกับเอไอเอส เครือข่ายที่มีผู้ใช้บริการราว 27 ล้านราย ก็น่าจะช่วยส่งเสริมยอดขายได้

ณัฐวัชร์ วรนพกุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอช ที ซี (ไทยแลนด์) จำกัด บอกว่า “เอชทีซี เมจิก และแอนดรอยต์แพลตฟอร์ม เป็นนวัตกรรมระดับโลกซึ่งเราได้ส่งมอบให้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในไทย และด้วยศักยภาพของโอเปอเรเตอร์อันดับหนึ่งอย่างเอไอเอส รองรับจีพีอาร์เอส เอ็ดจ์ และทรีจี ช่วยให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านเอชทีซี เมจิกกลมกลืนยิ่งขึ้น”

ในด้านของเอไอเอสเองก็ไม่ธรรมดา สร้างแอพพลิเคชั่น AIS Market Place เอาใจคนใช้เอไอเอสโดยเฉพาะ อาทิ News รวบรวมข่าวออนไลน์จากหลายสำนักมาให้อ่านสะดวกขึ้น, TV ดูทีวีแบบรายการสดบนมือถือ ซึ่งนำมารวมไว้แล้ว 7 ช่อง, Youtube ดูคลิปวิดีโอได้สะดวกสบายขึ้น เพราะมีโปรแกรม Flash Player รองรับการดูคลิป ซึ่งเป็นสิ่งที่ไอโฟนไม่มี เป็นต้น และสิ่งที่เอไอเอสดึงมาเป็นแรงขับเคลื่อนเสริมก็คือ โปรโมชั่นแคชแบ็กค่าโทร และฟรีแพ็กเกจจีพีอาร์เอสนาน 6 เดือน

“เอไอเอสกับเอชทีซีเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันมานาน เอชทีซีเองก็เป็นเจ้าตลาดสมาร์ทโฟน ตรงนี้คนอาจจะไม่ค่อยรู้ พอนำโอเพ่นแพลตฟอร์มอย่างแอนดรอยต์มาใช้เป็นเจ้าแรก แล้วอนุญาตให้เรารวมดีเวลอปไอคอนด้วย เราก็เลยอาศัยจังหวะนี้เข้าไปร่วมธุรกิจ คาดว่าตลาดนี้เติบโตแน่แต่ช้าหน่อย และจะตอบสนองการใช้งาน Mobile Internet ได้สมบูรณ์ ภายในสิ้นปีนี้ขายได้สักหลักหมื่นเครื่อง ก็พอใจแล้ว” สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานตลาด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด บอกถึงสิ่งที่คาดหวังในปีนี้

Did you know?
ส่วนแบ่งทางการตลาดของสมาร์ทโฟนทั่วโลก แบ่งตามการใช้งานเว็บบนมือถือและการใช้แอพพลิเคชั่นของแต่ละแพลตฟอร์ม

ไอโฟน 43%
ซิมเบียน 36%
ริม 9%
วินโดว์ 5%
แอนดรอยต์ 3%
ปาล์ม 2%
อื่นๆ 2%