ควบรวม Uber – Grab ไม่ฉลุย สิงคโปร์อาจชะลอดีล แถมอาจโดนค่าปรับ

การควบรวมกิจการอูเบอร์ (Uber) และแกร็บ (Grab) ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังไม่ราบรื่น เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลการค้ายุติธรรมสิงคโปร์แถลงว่าดีลที่เกิดขึ้นเมื่อมีนาคมที่ผ่านมาทำให้ตลาดไม่มีการแข่งขันเท่าที่ควร โดยอาจนำไปสู่ภาวะการขึ้นค่าโดยสารจนผู้บริโภคได้รับผลกระทบในอนาคต เบื้องต้นมีการเตรียมดำเนินการสั่งจ่ายค่าปรับ รวมถึงแผนการออกคำสั่งชะลอการควบรวมกิจการออกไปก่อน

หน่วยงานสิงคโปร์ที่รับผิดชอบการตรวจสอบดีลควบรวมนี้คือ คณะกรรมาธิการการแข่งขันและผู้บริโภคแห่งประเทศสิงคโปร์ (CCCS) โดย Uber ตัดสินใจขายธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กับคู่แข่งอย่าง Grab เมื่อมีนาคม 2018 ที่ผ่านมา เหตุที่ทำให้เกิดความกังวลว่าดีลนี้จะลดการแข่งขันลงและนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของค่าโดยสาร เพราะดีลนี้ทำให้ Uber ได้รับหุ้นจาก Grab สัดส่วน 27.5% ขณะที่ซีอีโอ Uber อย่าง ดารา โคสรอว์ซาฮี (Dara Khosrowshahi) ได้สิทธิ์เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการบริหาร Grab

CCCS ของสิงคโปร์ออกแถลงการณ์ล่าสุดว่าการควบกิจการครั้งนี้ทำให้บริษัทใหม่ที่ต้องการแข่งขันในตลาดนี้พบอุปสรรคใหญ่ในการเข้าสู่ตลาด ผลที่จะตามมาคือตลาดจะมีนวัตกรรมน้อยลง ส่งให้คุณภาพของบริการต่ำลง ผลกระทบเหล่านี้อาจเป็นผลให้ Uber และ Grab ถูกปรับ ขณะที่ดีลควบรวมกิจการอาจต้องถูกระงับ

ความเสี่ยงถูกปรับและคำสั่งล้มดีล Uber และ Grab จาก CCCS ยังมีสูง เพราะนอกจาก “การแข่งขันที่ลดลงอย่างมาก” ในขณะนี้ เจ้าหน้าที่ CCCS กล่าวว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้แจ้งให้หน่วยงานตรวจสอบการควบรวมกิจการ ทราบถึงข้อมูลอื่นที่อาจส่งให้เกิดการต่อต้านการแข่งขันในประเด็นอื่น

แถลงการณ์ย้ำว่า CCCS อาจกำหนดให้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายหยุดการควบรวม จนกว่าจะสามารถยืนยันว่าสามารถแก้ไขปัญหาข้อกังวลที่เกิดขึ้น โดยมาตรการแก้ไขนั้นต้องสามารถนำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ

บางส่วนของมาตรการแก้ปัญหาเบื้องต้น คือการที่ Uber จำต้องขายบริษัทไลออนซิตี้ (Lion City Rentals) บริษัทเช่ารถในสิงคโปร์ให้แก่คู่แข่งรายอื่นขณะเดียวกัน Grab ก็ได้รับคำสั่งให้ยกเลิกการทำสัญญาเอ็กซ์คลูซีฟกับบริษัทรถ ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำให้ผู้ขับของบริษัทรถแท็กซี่ต้องยอมรับการเรียกรถจาก Grab เท่านั้น ไม่อาจกดรับการเรียกรถของบริการคู่แข่ง

เบื้องต้น Uber และ Grab มีเวลา 15 วันทำการเพื่อเสนอมาตรการใหม่ต่อ CCCS ทั้งหมดนี้ Grab แถลงการณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับการวิเคราะห์ของ CCCS และจะอุทธรณ์คำตัดสินต่อไป

Grab แย้งว่า CCCS ใช้วิธีการที่ “แคบมาก” ในการพิจารณาขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยยืนยันว่าแม้ Grab จะเป็นผู้เล่นรายใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เป็นรายเดียวในตลาด ขณะเดียวกัน CCCS ไม่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอุตสาหกรรมมาตั้งแต่ต้น และพิจารณาการแข่งขันจากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จากผู้ให้บริการรถร่วมเดินทางรายใหม่ ซึ่งแม้ว่า Grab จะไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย แต่ Grab ได้แจ้ง CCCS ถึงการดำเนินการที่ถือเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายการแข่งขันของสิงคโปร์อย่างเต็มที่แล้ว.

Source