ช่อง 3 กระอัก! กสทช.สั่งยกเลิกออกอากาศคู่ขนาน มีผล 17 ก.ค.

ช่อง 3 ต้องเจอโจทย์ใหญ่ทางธุรกิจอีกครั้ง เมื่อ กสทช.สั่งให้แยกผังรายการและการออกอากาศรายการในช่อง 3 แอนะล็อกและช่อง 3 HD ออกจากกัน ซึ่งเท่ากับเป็นการสิ้นสุดการออกอากาศคู่ขนาน (simulcast) ระหว่างระบบแอนะล็อก (ช่อง 3) และดิจิทัล (ช่อง 33) ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคมเป็นต้นไป 

โดย กสทช.ให้เหตุผลว่า ช่องทีวีที่เป็นระบบแอนะล็อกเดิมได้สิ้นสุดการออกอากาศแล้ว เช่น ช่อง 7 ได้ยุติออกอากาศระบบแอนะล็อกไปแล้วเมื่อ 16 มิถุนายน ส่วนช่อง 9 จะยุติการออกอากาศระบบแอนะล็อกในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ บอร์ด กสทช.จึงมีมติให้นับวันที่ 16 กรกฏาคมเป็นวันสิ้นสุดการออกอากาศระบบแอนะล็อก

เมื่อระบบแอนะล็อกไม่มีแล้ว กสทช.ได้มีหนังสือ ลงวันที่ 4 กรกฎาคม ไปถึงบีอีซี มัลติมีเดีย ที่เป็นบริษัทบริหารช่องทีวีดิจิทัลของกลุ่มช่อง 3 ว่า นับจากนี้ ช่อง 3 จะต้องแยกผังรายการและการออกอากาศรายการในช่อง 3 แอนะล็อกและช่อง 3 HD ออกจากกัน พร้อมกับให้แยกเครื่องหมายแสดงสัญลักษณ์แยกช่องรายการ พร้อมกับเรียกให้บีอีซีเข้ามาชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการด้านกิจการโทรทัศน์เรื่องแผนการดังกล่าว ในวันจันทร์ที่ 9 กรกฎาคมนี้

ทางด้าน บริษัท บีอีซี หรือช่อง 3 จึงได้ทำหนังสือตอบกลับไปยัง กสทช. ยืนยันจะออกอากาศโดยใช้ผังรายการดียวกันทั้งสองช่องแบบเดิม โดยอ้างถึงข้อตกลงที่บริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือช่อง 3 แอนะล็อกทำกับ กสทช.ที่ศาลปกครอง ในวันที่ 8 ตุลาคม 2557 ที่มีมติให้บีอีซีออกอากาศด้วยผังรายการเดียวกันกับช่อง 3 แอนะล็อก ซึ่งมีรายงานข่าวด้วยว่า ช่อง 3 อาจจะต้องพึ่งพาศาลปกครองในการหาข้อยุติกรณีพิพาทในครั้งนี้อีกครั้ง

ที่มาของปัญหา

การออกอากาศ “คู่ขนาน” ของช่อง 3 เกิดมาจากเหตุบังเอิญ ไม่เข้าข่ายกฎของ กสทช.มาตั้งแต่ต้น เนื่องจาก กสทช.ได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้ตั้งแต่ช่วงที่มีการประมูลทีวีดิจิทัลในปลายปี 2556 ว่าช่องแอนะล็อกสามารถออกอากาศคู่ขนานกับช่องดิจิทัลได้ แต่ต้องเป็นนิติบุคคลเดียวกันเท่านั้น ซึ่งช่องที่เข้าข่ายนี้คือช่อง 7 ที่ดำเนินธุรกิจทีวี ในนามบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุเพียงบริษัทเดียว ทั้งช่องแอนะล็อกเดิม และช่องดิจิทัล รวมทั้งช่อง 9 ที่ดำเนินธุรกิจทีวี ทั้งแอนะล็อกและดิจิทัล ในนามบริษัท อสมท

มีช่อง 3 รายเดียว ที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ของ กสทช. เนื่องจากช่อง 3 ได้ใช้ “บริษัทบีอีซีมัลติมีเดีย” เข้าประมูลทีวีดิจิทัล ซึ่งเป็นคนละนิติบุคคลกับช่อง 3 แอนะล็อกที่ดำเนินการ โดยบริษัทบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ซึ่งเป็นช่องที่ได้รับสัมปทานจาก อสมท ที่จะสิ้นสุดในปี 2563

ช่อง 3 นั้น ประมูลทีวีดิจิทัลได้ถึง 3 ช่อง เมื่อรวมกับช่องแอนะล็อกเดิม เท่ากับว่าช่อง 3 มีทีวีอยู่ในมือถึง 4 ช่อง เดิมทีช่อง 3 ตั้งใจจะเปิดให้บริการทั้ง 4 ช่องแยกกันชัดเจน เจาะกลุ่มเป้าหมายแตกต่างกัน แต่เนื่องธุรกิจไม่ได้เป็นตามที่คาดไว้ เม็ดเงินโฆษณาไม่ได้เพิ่มแต่กลับมีคู่แข่งเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ทำให้ช่อง 3 จึงต้องยึด ”ช่อง 3 แอนะล็อก” ในการออกอากาศไว้แบบเดิม เพราะในช่วงแรกยังครองเม็ดเงินส่วนใหญ่ไว้

จนกระทั่งเมื่อ กสทช.ได้ประกาศใช้กฎ Must Carry ในปี 2557 เพื่อผลักดันให้คนดูช่องทีวีดิจิทัลแพร่หลาย ตามประกาศนี้ มีผลให้ทีวีดิจิทัลมีสถานะเป็น “ฟรีทีวี” แทนช่องแอนะล็อกเดิม ดังนั้นผู้ให้บริการเครือข่ายกล่องทีวีดิจิทัล กล่องดาวเทียม และเคเบิลทีวีมีหน้าที่ต้องนำสัญญาณจากช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมดไปออกอากาศในทุกเครือข่าย โดยไม่ต้องนำช่องแอนะล็อกออกอากาศอีกต่อไป

ประกาศนี้ เท่ากับว่า มีผลต่อช่อง 3 แอนะล็อกต้องประสบปัญหา “จอดำ” คนดูรับชมไม่ได้ เพราะเวลานั้นทีวีแอนะล็อกยังเป็นรายใหญ่ และยังต้องพึ่งพาแพลตฟอร์มเครือข่ายอื่นๆ โดยเฉพาะกล่องดาวเทียมที่นำสัญญาณช่องฟรีทีวีไปออกอากาศ เท่ากับว่าปิดเส้นทางการรับชมทีวีแอนะล็อกของช่อง 3 ไปในทันที

ช่อง 3 จึงไปฟ้องศาลปกครอง มีมติให้ กสทช.ต้องขยายระยะเวลาให้ช่อง 3 ออกไปอีกจนถึง 30 กันยายน 2557 จากนั้นช่อง 3 ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลางขอคุ้มครองฉุกเฉิน และมีผลจนถึงวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2557 เวลา 16.30 น.

ต่อมาศาลปกครองให้ กสทช. และช่อง 3 ไกล่เกลี่ยกันเพื่อไม่ให้ประชาชนเดือดร้อนจากการไม่สามารถรับชมช่อง 3 แอนะล็อกได้ ภายในบอร์ดกระจายเสียงของ กสทช.เสียงแตก เสียงส่วนใหญ่ สุภิญญา กลางณรงค์, พลโทพีระพงศ์ มานะกิจ และ ธวัชชัย จิตระภาษ์นันท์ เห็นว่าควรให้ช่อง 3 แอนะล็อกและช่อง 3 HD ออกอากาศคู่ขนานผังรายการเดียวกัน คู่ขนานกันได้ ในขณะที่เสียงข้างน้อย 2 คนคือ พันเอกนที ศุกลรัตน์ และพันตำรวจเอกทวีศัก ดิ์งามสง่า คัดค้านว่าไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อ พ.ร.บ.กิจการกระจายเสียงของ กสทช.ที่ระบุว่าผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องประกอบกิจการด้วยตัวเอง

เมื่อเสียงข้างมากให้ทำได้ กสทช.จึงได้ทำข้อตกลงร่วมกับช่อง 3 แอนะล็อกเรื่องการให้สิทธิออกอากาศแบบคู่ขนานได้ ช่อง 3 จึงได้ออกอากาศแบบคู่ขนาน ช่อง 3 และ 3HD มาตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา

ทำไมช่อง 3 ถึงไม่สามารถยุติแอนะล็อก

แต่จนเมื่อช่องทีวี ทั้งช่อง 7 ช่อง 5 ช่อง 9 ช่อง 11 ได้ทยอยยกเลิกการออกอากาศแอนะล็อกทั้งหมดในเดือนนี้ โจทย์จึงไปอยูที่ช่อง 3 เป็นรายเดียวที่ไม่ได้ขยับออกมาประกาศยกเลิกออกอากาศแอนะล็อก จน กสทช.ต้องออกคำสั่งให้ช่อง 3 แยกผังรายการ

การที่ช่อง 3 ต้องการออกอากาศคู่ขนานต่อไป ไม่สามารถยุติแอนะล็อกได้นั้น เนื่องจากเป็นการทำสัญญากับ อสมท รัฐวิสาหกิจและอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานได้

แม้ว่าก่อนหน้านี้ กสทช.ได้ขอให้ อสมท และช่อง 3 ไปเจรจากันเพื่อนปิดระบบแอนะล็อกของช่อง 3 แต่ก็ไม่สามารถทำได้แม้ว่าทั้งสองฝ่ายอยากจะปิดระบบแอนะล็อกก็ตาม

ช่อง 3 ยังต้องจ่ายค่าสัมปทานให้กับ อสมท ต่อเนื่องไปอีก 3 ปี คือ ปี 2561 จ่าย 232 ล้านบาท ปี 2562 จ่าย 244 ล้านบาท และปี 2563 (สัมปทานหมด 25 มีนาคม 2563) จ่าย 62 ล้านบาท

รวมเบ็ดเสร็จ ช่อง 3 แอนะล็อกจ่ายค่าสัมปทานให้กับ อสมท ตั้งแต่ปี 2540 – 2563 เป็นเงินรวมทั้งหมด 3,040.46 ล้านบาท

เขมทัตต์ พลเดช ผู้อำนวยการ อสมท ชี้แจงว่า สัญญาสัมปทานช่อง 7 เป็นสัญญาที่แตกต่างจากสัมปทานช่อง 3 กับ อสมท ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรีและมีคณะกรรมการกำกับสัมปทานตามกฎหมาย จึงไม่สามารถแก้ไขสัญญาสัมปานได้ จำเป็นต้องให้เป็นไปในรูปแบบเดิมจนกว่าสัญญาสัมปทานจะหมดลง

อสมท ที่กำลังจะปิดระบบแอนะล็อกนั้นจะช่วยเซฟค่าใช้จ่ายในการดำเนินการลงจากค่าไฟฟ้า ค่าบำรุงรักษาอุปกรณ์ ซึ่งคาดว่าจะลดได้ประมาณปีละ 40-50 ล้านบาท

ทางด้านช่อง 7 ซึ่งได้สัมปทานช่องแอนะล็อกมาจากกองทัพบก โดยได้ทำการตกลงยุติการออกอากาศในระบบแอนะล็อกทั้งช่อง 5 และ 7 พร้อมๆ กันเพื่อก้าวสู่ทีวีดิจิทัลเต็มรูปแบบและได้ยุติระบบแอนะล็อกไปเมื่อ 16 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา แต่ภายใต้ข้อตกลงนั้นยังไม่มีการยกเลิกสัญญาสัมปทานโดยที่ช่อง 7 ยังคงยินยอมจ่ายค่าสัมปทานรายปี ประมาณปีละ 150 ล้านบาท ให้กับกองทัพบกไปจนกว่าหมดอายุสัมปทาน

หากยังต้องออกอากาศช่องแอนะล็อกต่อไป และต้องแยกผังรายการ ตามที่ กสทช.แจ้งมา เท่ากับว่า ช่อง 3 มีภาระต้นทุน “คอนเทนต์” เพิ่มขึ้นอีก 1 ช่อง ถือเป็นเรื่องหนักสำหรับช่อง 3 ในห้วงเวลานี้ ที่ผ่านมาลำพังแค่ออกอากาศ 3 ช่อง ก็ต้องแบกรับต้นทุนคอนเทนต์ ในขณะที่รายได้โฆษณากลับไม่ได้เพิ่มตาม แถมยังต้องขายแพ็กเกจ ลดราคา เพื่อสู้กับคู่แข่ง จึงมีกระแสข่าวว่าช่อง 3 เองก็น่าจะเป็นหนึ่งในช่องทีวีที่น่าจะอยากคืนใบอนุญาต

คำสั่งของ กสทช.จึงเป็นปมปัญหาใหญ่ให้กับ “ช่อง 3” ที่ต้องพึ่งพา “ศาลปกครอง” ในการหาข้อยุติกรณีพิพาทในครั้งนี้อีกครั้ง ให้ยึดตามคำสั่งตามศาลปกครอง ส่วนผลจะลงเอยอย่างไร ต้องรอดูกันต่อ