500 Tuk Tuks ควงแขนพันธมิตร 5 ธุรกิจใหญ่ ระดมทุน Fund II

เพราะทุกวันนี้ องค์กรใหญ่มักพบปัญหา Disruption จากเทคโนโลยียุคใหม่ ซึ่งการปรับตัวอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ การหันมาจับมือกับสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยี เพื่อนำพาทั้ง 2 ธุรกิจให้เติบโตไปควบคู่กันจึงเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ

หลังจากประสบความสำเร็จกับการเปิดตัวกองทุน 500 Tuk Tuks Fund I ในปี 2558 เพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพ 50 บริษัท ที่ช่วยให้สามารถระดมทุนในรอบถัดไปได้ถึง 7,000 ล้านบาท รวมทั้งช่วยสร้างการจ้างงานเกือบ 10,000 ตำแหน่ง ในปีนี้ 500 Tuk Tuks จึงเปิดตัว Fund II ที่ได้พันธมิตรเป็นองค์กรธุรกิจชั้นนำรายใหญ่ 5 ราย คือ กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มธุรกิจ TCP บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) บริษัท วัชรพล จำกัด ในเครือหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด โดยตั้งเป้าลงทุนใน 150 สตาร์ทอัพ ทั้งในไทยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เป้าหมายของการเข้ามาลงทุนใน 500 Tuk Tuks คือต้องการรู้จักกับสตาร์ทอัพในไทยให้มาก เพราะอยากได้ไอเดียใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น สินค้า บริการ เพื่อต่อยอดให้ธุรกิจของเรารองรับความต้องการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น” ดนภัทร พร้อมพันธุ์ รองกรรมการผู้จัดการ แผนกการลงทุน กลุ่มเซ็นทรัล กล่าว

ทั้งนี้เซ็นทรัลเป็นผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจห้างค้าปลีกในไทยมากว่า 70 ปี แต่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้มีธุรกิจดิจิตอลเพิ่มขึ้น จึงต้องเสริมความต้องการลูกค้าในด้านนี้ โดยลงทุนในเรื่องอีคอมเมิร์ซ พร้อมทั้งพัฒนาธุรกิจให้เป็น Omni Channel ได้อย่างครบถ้วน

ขณะที่ กลุ่ม TCP เป็นผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย และเป็นเจ้าของแบรนด์เครื่องดื่มกระทิงแดง (เรดบูล) เรดดี้ สปอนเซอร์ แมนซั่ม เพียวริคุ และเมล็ดทานตะวันซันสแนค มองว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ Disrupt รุนแรงและรวดเร็วขึ้น การเข้ามาของ IoT, AI, Robot หรือเทคโนโลยีขั้นสูง ล้วนมีศักยภาพในการเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิตและการดำเนินธุรกิจให้ต่างไปจากเดิมได้อย่างสิ้นเชิง

“เราเล็งเห็นว่าองค์กรก็ต้องมีการปรับตัวเช่นกัน การร่วมลงทุนในกองทุน 500 TukTuks ในวันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมรับมือกับกระแส Disruption ผ่านการทำงานร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรของเราจะสามารถก้าวข้ามวิธีการทำงานแบบเดิม สู่นวัตกรรมใหม่ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีเข้ากับสังคม เพิ่มประสิทธิภาพ สร้างผลิตภัณฑ์ และบริการให้ดียิ่งขึ้นกับลูกค้าของเรา รวมทั้งยกระดับธุรกิจของเราไปสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบได้เร็วขึ้น” สราวุฒิ อยู่วิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าว

ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้ TCP โฟกัส 3 เรื่องคือ

1. สนับสนุนสตาร์ทอัพไทยและประเทศในเอเชีย เพราะ TCP ทำธุรกิจในต่างประเทศด้วย ดังนั้นการลงทุนนี้ก็จะช่วยส่งเสริมวงการสตาร์ทอัพในไทยด้วย

2. หาโอกาสใหม่ๆ ของบริษัท เพราะ TCP ไม่ถนัดในสิ่งที่เป็น Disruption แต่จะหาทางออกด้วยการทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพ และจะมาช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้

3. การทำงานร่วมกับสตาร์ทอัพจะช่วยพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขนาดใหญ่ให้มีการปรับตัวและพัฒนาการทำงานให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

นายกระทิง พูนผล ผู้จัดการการกองทุน 500 TukTuks

“เราหวังว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการเติบโตของวงการ Tech Startups ไทยให้เติบโตไปในระดับเอเชียและระดับโลกได้ รวมทั้งช่วยเร่งการเปลี่ยนผ่านของหลายๆ อุตสาหกรรมเพื่อเป็นผู้นำสู่ยุค Disruption ผ่านทางการลงทุนและสร้างพลังผนึกกับ Disruptive Digital และ Deep Tech Startups เหล่านี้” กระทิง พูนผล ผู้จัดการการกองทุน 500 TukTuks กล่าว

สำหรับทิศทางการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการเติบโตขึ้นแบบก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับประเทศอื่นๆ ในฝั่งตะวันตกที่เริ่มชะลอตัว

“เงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โตขึ้นแบบก้าวกระโดด ปี 2014 โต 1.1 พันล้านเหรียญ ปี 2015 โต 1.6 พันล้านเหรียญ ปี 2016 โต 2.6 พันล้านบาท และล่าสุดที่โตโยต้ามาลงทุนในแกรบ 1 พันล้านเหรียญ ทำให้มูลค่าน่าจะพุ่งสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในแถบนี้เติบโตแบบก้าวกระโดดทั้งมูลค่าการลงทุนและ Volume ซึ่งคาดกันว่ามูลค่า Tech Stratup ใน SEA จะโตได้ถึง 2 แสนล้านเหรียญภายในปี 2025”

โดยสตาร์ทอัพที่เป็นยูนิคอร์นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ GRAB จากสิงคโปร์ มีมูลค่า 6,000 ล้านเหรียญ SEA จากสิงคโปร์ ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์แล้วที่อเมริกา มีมูลค่า 3,750 ล้านเหรียญ และ GO JEK จากอินโดนีเซีย มีมูลค่า 3,000 ล้านเหรียญ และสามารถระดมทุนจากกูเกิลและเทมาเส็คได้ 1,200 ล้านเหรียญ ทำให้บริษัทมีมูลค่าเกินแสนล้านบาทแล้ว.