จับตาช่อง 3 HD ต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลัง กสทช.ให้ใช้ผังเดียวกับกับแอนะล็อกแต่ต้องแสดงสิทธิในการเป็นผู้บริหารช่องเอง แสดงรายได้แยกชัดเจน

หลังจากที่ กสทช.ได้แจ้งให้กลุ่มช่อง 3 ต้องแยกการออกอากาศของช่อง 3 แอนะล็อกและช่อง 3HD ออกจากกันอย่างชัดเจน ภายในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ 

เป็นผลมาจากการยุติทีวีแอนะล็อกของทุกช่องยกเว้นช่องในวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ และได้เรียกตัวแทนช่อง 3 มารับฟังสรุปแนวทางในการเปลี่ยนแปลงจากอนุกรรมการกิจการโทรทัศน์ในวันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา

จากการประชุมระหว่างคณะอนุกรรมการโทรทัศน์ และตัวแทนช่องกสทช.ได้แจ้งผู้แทนช่องว่า ในวันที่ 17 กรกฎาคมนี้ กลุ่มช่อง 3 ต้องแยกให้เห็นว่า ช่อง 3HD เป็นผู้บริหารผังรายการช่องด้วยตัวเอง โดยที่ช่อง 3HD ต้องมีรูปแบบของการหารายได้ของช่องอย่างชัดเจน และมีการแยกโลโก้ของช่อง 3แอนะล็อก และ 3HD ออกจากกัน

ก่อนหน้านี้ บอร์ด กสทชเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ได้มีมติให้ ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคมเป็นต้นไป บริษัทบีอีซี มัลติมีเดีย ผู้บริหารช่อง 3HD เสนอผังรายการไม่ให้เหมือนกับช่อง 3 แอนะล็อกอีก เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านการรับชมทีวีดิจิทัลโดยสมบูรณ์ จึงให้ทั้งสองช่องแยกเครื่องหมายแสดงสัญลักษณ์ช่องรายการออกจากกันอย่างชัดเจน ทั้งนี้เป็นการอนุมัติตามมติคณะอนุกรรมการโทรทัศน์ที่ทำเรื่องเสนอบอร์ด

แต่ช่อง 3 ส่งหนังสือคัดค้านมติ ยังคงยืนยันที่จะออกอากาศใช้ผังรายการเดียวกันทั้งสองช่องแบบเดิม โดยอ้างถึงข้อตกลงที่บริษัท บางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ หรือช่อง 3 แอนะล็อก ทำกับ กสทช.ที่ศาลปกครองในวันที่ 8 ตุลาคม 2557 ให้บีอีซีออกอากาศด้วยผังรายการเดียวกันกับช่อง 3 แอนะล็อก 

คณะอนุกรรมการ จึงเรียกตัวแทนช่อง 3 มาประชุมครั้งล่าสุด โดยมีพลโทพีระพงษ์ มานะกิจ บอร์ด กสทช. และเป็นประธานคณะอนุกรรมการได้ชี้แจงให้นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ทนายความตัวแทนของกลุ่มช่อง 3 ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายลิขสิทธิ์ว่า 

ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม เป็นต้นไป ช่อง 3HD ยังคงสามารถออกอากาศผังรายการแบบเดียวกันกับช่องแอนะนาล็อกได้ 

แต่จะต้องแสดงถึงการเป็นผู้บริหารผังรายการช่องด้วยตัวเอง โดยต้องมีรูปแบบของการหารายได้ของช่องอย่างชัดเจน และต้องแยกโลโก้ของช่อง 3แอนะล็อก และ 3HD ออกจากกัน

ตัวแทนช่อง 3 ได้รับปากว่าจะไปดำเนินการ และรายงานให้ฝ่ายบริหารของกลุ่มช่อง 3 ได้รับทราบก่อน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าทั้งช่อง 3 แอนะล็อกและ 3HD ไม่จำเป็นต้องแยกผังการออกอากาศแล้ว แต่ปัญหาใหม่คือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารรายการ รายได้และลิขสิทธิ์ต่างๆ ของช่อง จากช่อง 3 แอนะล็อก มาเป็น 3HD อาจจะกระทบต่อสัญญาสัมปทานของช่อง 3 แอนะล็อกที่ทำไว้กับ อสมท

สัญญาสัมปทานกับ อสมท นั้น มีการระบุไว้ว่า หากมีรายได้ที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากกิจการทีวีที่ออกอากาศในระบบแอนะล็อกแล้ว จะต้องมีการจ่ายรายได้ที่เกิดขึ้นใหม่ให้กับ อสมท ด้วย อีกทั้งปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์รายการที่เดิมเป็นการจัดซื้อ โดยบริษัทบางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ (ช่อง 3 แอนะล็อก) และถือเป็นลิขสิทธิ์ของ อสมท ตามสัญญา หากมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องเจรจากับ อสมท ด้วย 

สัญญาสัมปทานของช่อง 3 กับ อสมท มีการกำหนดค่าตอบแทนที่ อสมท แบบคงที่จนหมดอายุสัมปทานในกรณีที่ไม่ได้มีรายได้เพิ่มเติมในส่วนอื่น โดยปี 2561 นี้จะต้องจ่ายค่าสัมปทานจำนวน 232.4 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 244.1 ล้านบาทในปี 2562 และปีสุดท้ายจำนวน 3 เดือนอยู่ที่ 61.8 ล้านบาท เนื่องจากสัมปทานจะสิ้นสุดในวันที่  25 มีนาคม 2563 รวมการจ่ายค่าสัมปทานตั้งแต่ปี 2540 – 2563 เป็นเงินรวมทั้งหมด 3,040.46 ล้านบาท

เปิดรายได้ช่อง 3HD ตั้งแต่รับใบอนุญาต

นับตั้งแต่ประกอบกิจการทีวีดิจิทัลช่อง 3HD ที่ได้ออกอากาศรายการแบบคู่ขนานกับช่อง 3 แอนะล็อกตามข้อตกลงที่ทำไว้ที่ศาลปกครองในวันที่ 8 ตุลาคม 2557 นั้น บีอีซี มัลติมีเดีย ได้แจ้งรายได้ของช่อง 3HD ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2560 อยู่ที่ปีละ 1,800 ล้านบาท เท่ากันทุกปี 

โดยบีอีซีได้ให้เหตุผลต่อ กสทช.ว่า เป็นรายได้ที่เกิดจากค่าเสียโอกาสในการประกอบกิจการในช่อง 3HD เพราะต้องรับรายการของช่อง 3 แอนะล็อกมาออกอากาศ โดยช่อง 3 แอนละล็อกเป็นผู้จ่ายเงินส่วนนี้ให้กับช่อง 3HD จึงถือเป็นรายจ่ายของช่อง 3 แอนะล็อกด้วยเช่นกัน ทำให้ช่อง 3 แอนะล็อกไม่ผิดสัญญาสัมปทานกับ อสมท เพราะถือเป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้ 

ทั้งนี้ช่อง 3HD จ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแก่ กสทชปีละ 30 ล้านบาท เท่ากันทุกปีเช่นกัน ส่วนช่อง 3 แอนะล็อกก็ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้ กสทช.

สำหรับรายได้ของช่อง 3 แอนะล็อกปี 2560 ที่ผ่านมา มีการแจ้งรายได้รวมอยู่ที่ 11,212 ล้านบาท และจ่ายค่าสัมปทานให้ อสมท อยู่ที่ 221.4 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม น่าจับตาว่า ตามเงื่อนไขใหม่ของ กสทช.ครั้งนี้ แม้ว่าจะสามารถออกอากาศเหมือนกันทั้งสองช่องได้ แต่รายได้ที่เกิดขึ้นของช่อง 3 HD จะถูกปรับให้สอดคล้องกับความเป็นจริง เนื่องจาก กสทช.ต้องการให้แสดงรายได้ที่ถูกต้องที่แท้จริง ซึ่งควรจะมากกว่าปีละ 1,800 ล้านบาท ที่เคยให้ทุกปี 

อีกทั้งต้องแสดงให้เห็นว่า ช่อง 3 HD ได้ประกอบกิจการด้วยตัวเอง เพื่อไม่ให้ขัดต่อมาตรา 9 พ.ร.บ.กิจการกระจายเสียง กสทช. ที่ระบุว่าผู้ได้รับใบอนุญาตต้องประกอบกิจการด้วยตัวเอง หากมีการตรวจสอบพบว่าไม่ได้ประกอบกิจการด้วยตัวเอง มีโทษถึงขั้นยึดใบอนุญาต

ช่อง 3 แอนะล็อกได้พยายามหาทางออกเพื่อปิดทีวีแอนะล็อกก่อนหมดอายุสัมปทานเพื่อให้ยุติระบบทีวีแอนะล็อกพร้อมกันทั่วประเทศ ด้วยการขอเจรจากับ อสมท แต่ อสมท ไม่สามารถแก้ไขสัญญาเพื่อปิดระบบได้ เพราะต้องเป็นรัฐวิสหากิจที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของรัฐ.


อ่านข่าวเกี่ยวเนื่อง