ALCAZAR One Place, One Product

หากพัทยาเป็นเสมือนสโตร์ การแสดงโชว์ของสาวประเภทสองคงเปรียบเสมือน “Top-of-mind product” บนชั้นวางสินค้าไปเสียแล้ว เพราะหากเอ่ยถึงพัทยา สิ่งแรกๆ ที่คนทั่วไปนึกถึงก็คือ “ความสวยของสาวประเภทสอง”

เปิดม่านนางโชว์

“…ใช่ครับ พัทยาเป็นแหล่งกำเนิดการโชว์แบบ Full Scale ของสาวประเภทสองก็ว่าได้” กิติวงศ์ ไชยศุภกิต ผู้จัดการทั่วไปและอดีตพนักงานคนแรกของ Alcazar Cabaret Show ในปัจจุบันกล่าว

ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2524 หนึ่งในสมาชิกครอบครัว “เพ็ชรตระกูล” ภายใต้ “ห้างหุ้นส่วนจำกัดสามประสิทธิ์” ได้ตัดสินใจเปิดสถานบันเทิงในชื่อเดิมว่า “Alcazar Stand-in Show” เพื่อจัดโชว์ “การแสดงของสาวประเภทสอง” ขึ้นที่พัทยา หลังจากการเปิดตัวของเจ้าตำรับอย่าง “The Tiffany Show” ในช่วง 4-5 ปีก่อนหน้า

ดังเหตุที่ “พัทยา” มีความหลากหลายทางประชากร ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่มีมากกว่าคนในท้องถิ่นเดิม การเปิดรับ/ปรับ/หรือดัดแปลงทางวัฒนธรรมจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยาก องค์ประกอบของ “วัฒนธรรมแห่งเมือง” เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการทดลองเชิงธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ พัทยาจึงเป็นเสมือน “เมืองทดลอง” แห่งการท่องเที่ยวแนวทางใหม่ในยุคนั้น กระทั่งหลายองค์กรได้รับการยอมรับในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกัน “กลุ่มธุรกิจโชว์สาวประเภทสอง” นี้ก็นับว่าช่วยบุกเบิกและเกื้อกูล “วัฒนธรรมร่วมแห่งพัทยา” กระทั่งได้รับการยอมรับว่าเป็นความบันเทิงรูปแบบแรกๆ ของพัทยา “…เมื่อ 28 ปีก่อน พัทยาเป็นเมืองเล็กมาก แต่แสง สี เสียงในพัทยากลับมีเสน่ห์ดึงดูดผมและครอบครัวเพ็ชรตระกูลมากๆ” วงค์ย้อนไปถึงสมัยพัทยาช่วงบุกเบิก “ตอนนั้นโรงแรมห้าดาวมีอยู่ไม่กี่ที่ ห้องพักมีไม่ถึง 30,000 ห้อง ต่างจากตอนนี้ ถนนนี่รถติดเลย พัทยาโตเร็วมากนะถ้าเทียบกับที่อื่น เผลอๆ ภายใน 50 ปีพัทยาอาจต้องถมทะเลเหมือนบางแสน” คนคุ้นเคยเมืองพัทยาคาดการณ์

จุดเด่นของพัทยา วงศ์มองว่าประกอบไปด้วยค่าครองชีพที่ถูก เป็นเมืองที่ 24 ชั่วโมงไม่หลับใหล นอกจากเกาะล้าน ถ้าเมื่อก่อนพัทยาไม่สร้างการท่องเที่ยวจนหลากหลาย ก็คงเหมือนกับไม่มีรูปแบบที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวมาจนถึงปัจจุบัน

“เราเริ่มหาและซ้อมการแสดงที่กรุงเทพฯ ก่อน เริ่มจากเอามิวสิกวิดีโอเพลงฝรั่ง เพลงจีน ที่เป็นการแสดงของชายจริงหญิงแท้มาศึกษาดัดแปลง เช่นของ Marilyn Monroe ทั้งๆ ที่ตอนแรกยังไม่มีคนรู้จัก Alcazar ด้วยซ้ำ”

จนถึงปัจจุบัน 18 โชว์ของการแสดงต่อรอบ ประกอบไปด้วยโชว์หลากหลายวัฒนธรรม ทั้งนี้ พิจารณาจากจำนวนนักท่องเที่ยว “ต่างชาติ” เป็นหลัก โดยเพลงที่ใช้ในการแสดงยุคแรก 60% เป็นเพลงจีน ส่วนที่เหลือเป็นเพลงสากล ทั้งนี้ก็เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวตลาดหลักในขณะนั้น ได้แก่ จีนฮ่องกง จีนไต้หวันบางส่วน และยุโรป ซึ่งปัจจุบัน เพลงเกาหลีกำลังมาแรง

“เมื่อก่อนมาดู Alcazar ต้องเข้าคิวนะครับ เป็น Free Seat คือมาก่อน เลือกที่นั่งก่อน เต็มแล้วเต็มเลย ช่วงพีคๆ นั่งกะพื้นก็เอา” กิติวงค์เล่าให้เห็นภาพอันเฟื่องฟูของธุรกิจนี้ซึ่งเกิดจากจำนวนทัวร์ที่มาลงพัทยาเพิ่มมากขึ้นจากแพ็กเกจทัวร์ราคาถูก ผู้ประกอบการ 4 เจ้าในพัทยาขณะนั้น ปัจจุบันเหลือเพียง Alcazar และ Tiffany ที่ยังคงยึดพื้นที่ในพัทยา ส่วน Simonได้ย้ายไปภูเก็ตในเวลาต่อมา

กลยุทธ์ทางด้านราคาของ Alcazar ที่ดึงตลาด Local มาช่วยเสริมกำลังทางธุรกิจ เกิดขึ้นนับแต่แรกเปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน และดูเหมือนว่าได้กลายเป็นทางออกที่ดีสำหรับความซบเซาในช่วงนี้ โดย “คนไทยได้ลดครึ่ง

ราคา ตอนนั้นยังไม่มีราคาวีไอพี สำหรับชาวต่างชาติ ค่าบัตร 200 บาท (10 เหรียญ) ปัจจุบัน 600 บาทครับ ถ้าเทียบกับลิโด้ที่ฝรั่งเศสซึ่งมีค่าเข้าคนละ 3,000 บาท แล้วเราถูกกว่ามาก”

กิติวงค์เล่าว่าเมื่อ 28 ปีก่อน โชว์ของสาวประเภทสองเป็นเสมือน ”New Product” เขาถึงขนาดต้องใช้วิธีเคาะประตูห้องพักของไกด์ตามโรงแรมเพื่อแนะนำ Alcazar ให้เป็นหนึ่งใน ”Optional Choice” ของโปรแกรมทัวร์

“ช่วงแรกกว่าจะมีแขกได้ 150 คนต่อรอบนี่เหนื่อย วันเปิดการแสดงวันแรกคนเต็มเพราะเราเชิญ วันที่สองรอบแรกมีสองคน รอบสองไม่มีเลยซักคน“

อัลคาซาร์เริ่มมีผู้ชมเกิน 50% ต่อรอบต้องใช้เวลาราวปีเศษ “เริ่มดีขึ้นเพราะทัวร์ฮ่องกงมาแรงมาก บ้านเขามีบริษัททัวร์ยักษ์ใหญ่ 2 ที่ ก็เลยแบ่งกัน ผูกขาดเลย เจ้านึงมาทางเรา อีกเจ้าไปทิฟฟานี”

Alcazar เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยตั้งแต่ 26 ปีที่ก่อน เมื่อ “วิโรจน์ เอ็ม16” เขียนคอลัมน์เล็กๆ ลงกรอบของหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ กลายเป็นกระแสปากต่อปากไปสู่ทั้งชาวไทยและเทศ “เพราะลูกค้าหลักของเราไม่ใช่คนไทย จึงต้องผูกขาดบริษัททัวร์ต่างชาติไว้ให้มั่น ลูกค้าคนไทยถือว่าเป็นผลพลอยได้ เพราะคนไทยจะมาพัทยาเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันหยุดยาวเท่านั้นเอง“

ช่วงปีต่อมา High Season ได้เพิ่มขึ้นมาเป็น 7 เดือนต่อปี กระทั่งปัจจุบันเริ่มจากเดือนตุลาคมยาวนานออกไปถึง 9 เดือน เพราะลูกค้าที่หล่อเลี้ยงพัทยาได้ทั้งปีคือตลาดคนเอเชีย โดยเฉพาะตลาดใหม่อย่างอินเดียและเกาหลี

“ผมว่ามันก็เริ่มดีขึ้นนะ เชื่อว่าพัทยาจะไม่หลับยาว ถ้าไม่มีวิกฤตการเมืองเข้ามาอีก” กิติวงค์เห็นว่าการท่องเที่ยวก็มีวัฏจักรที่เปลี่ยนไปตามเทรนด์ของผู้คนในชาติต่างๆ ขณะนี้พัทยากำลังทำการต้อนรับตลาดอิสราเอลและอิหร่านอย่างคึกคัก “สมัยก่อนนู้นมีพวกซาอุฯ แต่พอเกิดเรื่องก็เริ่มหายไป แต่ก็กลายเป็นว่ามีชาวตะวันออกกลางจากประเทศอื่นๆ เข้ามาทดแทน ตอนนี้เวียดนามกำลังมา เกาหลี รัสเซียก็เยอะ เข้ามาผสมผสานกันมาก ส่วนญี่ปุ่นกับไต้หวันที่เคยเข้ามา ตอนนี้หายไปเลย”

ทางด้านการบริหารองค์กรในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว Alcazar เป็นธุรกิจบริการหนึ่งที่ยืนยันไม่ได้ลดพนักงานหรือเงินเดือน “ขาดทุนก็ขาดทุน เพราะนี่คือธุรกิจ เด็กผมออกแล้วจะหาได้อีกที่ไหน บอกตามตรงว่าผมมัดใจให้เขาอยู่ อยากเรียนต่อ อยากศัลยกรรม อยากดูรัชดาลัยหรือลิโด้ ขอให้บอก”

“ตอนต้มยำกุ้งซบเซาน้อยกว่านี้นะ ตอนปิดสนามบิน เราพาเด็กๆ ไปรับแขกกันที่อู่ตะเภากันเลย เอาฮอตดอก แซนด์วิช น้ำ ไปให้ในฐานะเจ้าบ้าน”

สเน่ห์ของอย่างหนึ่งของ Alcazar ที่ดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน อาจอยู่ในบรรทัดนี้นี่เอง กิติวงค์ยืนยัน “เราเป็น One Place, One Product เราจะอยู่ให้เป็นเอกลักษณ์ ไม่คิดจะไปเมืองท่องเที่ยวอื่น ยิ่งมากสาขา ค่ายิ่งด้อย เราเกิดตรงนี้ เราก้อขออยู่ตรงนี้ต่อไป”

ในกรุงเทพฯ ก็มีโชว์ของสาวประเภทสองเช่นกัน แต่ต่างจากโชว์ในพัทยาตรงที่ต้องไปดูตามบาร์เกย์ซึ่งมีโชว์ไทม์ไม่เกินครึ่งชั่วโมงต่อรอบ