ผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2561 กลุ่มช่อง 3 ที่มีทีวีดิจิทัลในมือถึง 3 ช่อง แจ้งผลประกอบการขาดทุนรวม 148.6 ล้านบาท จากรายได้รวม 5,176.8 ล้านบาท โดยเป็นการขาดทุนในเฉพาะไตรมาส 2 จำนวน 22.6 ล้านบาท และรายได้จากไตรมาส 2 อยู่ที่ 2,756.3 ล้านบาท
รายได้ของครึ่งปีแรกของปีนี้ ลดลง 16.8% เมื่อเทียบกับครึ่งปีแรกของปี 2560 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 6,223 ล้านบาท ในขณะที่ครึ่งปีแรกของปี 2560 กลุ่มบีอีซีมีกำไรรวมอยู่ที่ 361.7 ล้านบาท มาขาดทุน 148.6 ล้าน ในปีนี้ หรือลดลง 141%
ส่วนผลประกอบการเฉพาะไตรมาส 2 ปี 2561 ขาดทุนอยู่ที่ 22.6 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ที่มีกำไร 112.7 ล้านบาท หรือติดลบ 120%
นับเป็นการขาดทุนต่อเนื่อง 3 ไตรมาสติดต่อกัน ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 และไตรมาสแรกของปีนี้ โดยในไตรมาสแรกมีรายได้ 2,438.62 ล้านบาท และขาดทุนอยู่ที่ 125.99 ล้านบาท
รายได้รวม ในไตรมาส 2 ปี 2561 อยู่ที่ 2,756.3 ล้านบาท ลดลง 14.9% จากไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 3,239.2 ล้านบาท แต่ก็ดีขึ้นจากไตรมาสแรกของปีนี้ ที่อยู่ที่ 2,420.5 ล้านบาท
ในส่วนรายได้เฉพาะ จากการขายเวลาโฆษณาของกลุ่มบีอีซี ในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ อยู่ที่ 2,399.3 ล้านบาท ลดลง 11.6% จากไตรมาสที่ 2 ของปีก่อนหน้า ที่มีรายได้ส่วนนี้อยู่ที่ 2,714.1 ล้านบาท โดยรายได้หลักจากการขายเวลาโฆษณา มาจากการขายเวลาโฆษณาของ “ช่อง 3” เป็นหลัก ทั้งนี้รายได้จากค่าโฆษณานั้น คิดเป็น 87% ของรายได้ทั้งหมดของกลุ่มบีอีซี
ตัวเลขเรตติ้งเฉลี่ยของช่อง 3 HD ช่องหลักของกลุ่มบีอีซี ข้อมูลจากนีลเส็นจากการวัดการออกอากาศ 24 ชั่วโมง ในไตรมาส 2 อยู่ที่ 1.48 ในขณะที่ไตรมาส 2 ของปีที่แล้วอยู่ที่ 1.35
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวเลขรายได้โฆษณาและเรตติ้งเฉลี่ยของช่องไม่สัมพันธ์กัน ทั้งๆ ที่เรตติ้งของช่อง 3 เพิ่มสูงขึ้นจากปีที่แล้ว แต่รายได้กลับลดลง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงปัญหาของการทำการขายของช่อง ที่ลดลง อีกทั้งยังเจอสภาพการแข่งขันของอุตสาหกรรม
บีอีซีชี้แจงว่า จากข้อมูลของนีลเส็น ภาพรวมเม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มทีวีในไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่ 18,137 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% จากไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว ที่มีวงเงิน 17,140 ล้านบาท โดยมีเม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนมิถุนายนจากช่วงฟุตบอลโลก ที่มีการทำตลาดเพื่อกระตุ้นการซื้อสินค้าและบริการ แต่ถ้าเอาเม็ดเงินโฆษณาบอลโลกออก ทำให้สภาพตลาดโฆษณาโดยรวมลดลง 0.6% จากไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้ว
นอกจากนี้บริษัทยังมีผลของนโยบายการลดต้นทุนของบริษัทและผลจากโครงการร่วมใจจากให้พนักงานเข้าโครงการ early retired ในไตรมาส 2 นี้อยู่ที่ 44.7 ล้านบาท
หาทางเพิ่มรายได้ใหม่ ขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศ และช่องทางออนไลน์
กลุ่มบีอีซียังได้ชี้แจงว่า เพื่อเป็นการหาช่องทางของแหล่งรายได้ใหม่ บริษัทจึงได้วางกลยุทธ์การขยายธุรกิจและการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค รวมถึงการดำเนินธุรกิจในตลาดใหม่ ทั้งในและต่างประเทศ
โดยในไตรมาสที่ 2 นี้ กลุ่มบีอีซีได้ร่วมมือกับ “เทนเซนต์ วิดีโอ” ผ่านทางบริษัทอินไซท์ เทคโนโลยี ประเทศไทย ในการนำละคร “ลิขิตรัก The Crown Princess” นำแสดงโดย “ณเดชน์-ญาญ่า” ไปออกอากาศคู่ขนานในวันเดียวกันที่ประเทศไทยและประเทศจีน
ปัจจุบัน เทนเซนต์ วิดีโอ มียอดสมาชิกวีไอพีกว่า 63 ล้าน User มียอดใช้งาน 140 ล้าน User ต่อวัน และ 790 ล้าน User ต่อเดือน นอกจากลิขิตรักแล้ว ซีรีส์อีก 2 เรื่องอยู่ในแผนงานคือ “ Meo & You-แมวของเขาและรักของเรา” และ “Beauty Boy –ผู้ชายขายสวย
นอกจากนี้ กลุ่มบีอีซี ได้มีการจับมือกับ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอลมีเดีย จัดจำหน่ายละครของกลุ่มบีอีซีไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะไปในตลาดใหม่ เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, บรูไน, สิงคโปร์, ไต้หวัน และจะขยายไปยังประเทศในตะวันออกกลาง และละตินอเมริกาในอนาคต ยกเว้นบางประเทศที่กลุ่มบีอีซีดำเนินการเอง เช่น จีน (รวมถึงฮ่องกง, มาเก๊า), เวียดนาม, กัมพูชา ซึ่งนอกจากการขายลิขสิทธิ์ละครแล้ว อาจมีการนำศิลปินไปโชว์ตัว จัดอีเวนต์ และกิจกรรมอื่นๆ ในอนาคตด้วย
ทั้งนี้รายได้เสริมจากการขายลิขสิทธิ์ละครไปต่างประเทศ ในไตรมาส 2 นี้ อยู่ที่ 50.2 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาส 2 ของปี 2560 ที่มีรายได้เพียง 8.1 ล้านบาท และไตรมาสแรกของปีนี้มีรายได้อยู่ที่ 22.8 ล้านบาท โดยรายได้ของไตรมาสนี้มาจากการขายลิขสิทธิ์ละคร “ลิขิตรัก” ไปยังประเทศจีน
ส่วนรายได้จากธุรกิจออนไลน์ ทางเมลโล ในไตรมาส 2 นี้รายได้ขึ้นมาอยู่ที่ 115.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 261% จากไตรมาสเดียวกันในปี 2560 ที่มีรายได้เพียง 31.9 ล้านบาท.