ลุ้น!! เอเชียนเกมส์ช่วยกระตุ้นเม็ดเงินโฆษณา 4 เดือนสุดท้ายปีนี้โต 3%

เอ็มไอมั่นใจโตเม็ดเงินโฆษณาปี 61 เป็นไปตามคาด 3% หลัง 7 เดือน ติดลบ 3.1% โดยสื่อออนไลน์สื่อนอกบ้านยังแรงต่อเนื่อง ขณะที่สื่อทีวียังทรงๆ แต่ปรากฏสัญญาณให้เห็น ใช้สื่อออนไลน์เพียงอย่างเดียวไม่อาจตอบโจทย์โฆษณาสินค้าได้ทั้งหมด คนไทยยังติดดูทีวี แนะกระจายโฆษณาสื่อผสม

ภวัต เรืองเดชวรชัย ผู้อำนวยการธุรกิจสายงานการวางแผน และกลยุทธ์สื่อโฆษณา บริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ จํากัด หรือ เอ็มไอ เปิดเผยว่า ภาพรวมการใช้จ่ายเงินโฆษณาในช่วงมกราคมกรกฎาคม 2561 มีการใช้เม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 50,361 ล้านบาท ลดลง 3.1% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ที่มีการใช้จ่ายเงิน 51,966 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของการใช้จ่ายเงินผ่านสื่อหลักพบว่า สื่อทีวีดิจิทัลมีการใช้จ่ายเงินเพิ่มขึ้น 43% ขณะที่สื่อทีวีแอนะล็อกมีการใช้จ่าย 1.58 หมื่นล้านบาท ลดลง 18% ซึ่งเป็นไปตามทิศทางของธุรกิจ ขณะที่วิทยุ สื่ออินสโตร์ โรงภาพยนตร์ สื่อกลางแจ้ง ยังคงมีการเติบโตในทิศทางที่ดีแต่ก็ยังติดลบไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้

เอ็มไอ ยังระบุว่าอุตสาหกรรมโฆษณาของปีนี้จะเติบโตอยู่ที่ 3% หรือ 89,007 ล้านบาทใกล้เคียงกับที่คาดการณ์เดิมอยู่ที่ประมาณ 3-4% เพราะมีปัจจัยบวกความคึกคักในช่วงปลายปีบวกกับละครที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ และเอเชียนเกมส์ก็เป็นตัวแปรสำคัญอีกอันนั่นเอง

““ยิ่งใกล้หมดปีตัวเลขก็ชัดเจนขึ้น ผมคาดหวังว่ามันจะขึ้นมาได้ เพราะถ้าเปรียบเทียบช่วงเดียวกันกับของแต่ละปี ซึ่งปีที่ผ่านมาที่ไม่มีเอเชียนเกมส์ ขึ้นมาสัก 15% แต่ถ้าเทียบกับเอเชียนเกมส์ปีที่แล้ว วอลลุ่มน่าจะต่ำกว่าเอเชียนเกมส์คราวที่แล้ว เพราะว่ามาจาก 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกก็คือเรื่องของช่องที่ถ่ายทอดสดด้วย ไม่ใช่เป็นรูปแบบของทุกช่องแล้ว ปีนี้ช่อง เวิร์คพอยท์” กับช่อง PPTV เป็นคนถ่ายทอดสดมันไปกระจุกอยู่ที่ ช่องนี้ รูปแบบมันจะเหมือนกับช่วงบอลโลก ถึงแม้ว่ามันเป็นกีฬาหลักของปีนี้นอกเหนือจากบอลโลก อย่างไรก็ตาม สินค้าที่จะเข้ามาจองพื้นที่โฆษณาคงเป็นพวก เครื่องดื่ม รถยนต์ โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

แม้ว่าเม็ดเงินโฆษณาผ่านสื่อในปีนี้จะมีตัวเลขติดลบ โดยสื่อที่ฮอตฮิตยังคงเป็นออนไลน์ ขณะที่ทีวีทั้งระบบยังถูกมองไม่ค่อยดีนัก แต่ทีวีไม่ว่าจะเป็นแอนะล็อก ทีวีดิจิทัล ทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี ยังคงเป็นสื่อที่มีผู้ใช้งบโฆษณาสูงสุด

เม็ดเงินโฆษณาทีวีเมื่อถึงสิ้นปี น่าจะอยู่ 50,717 ล้านบาท โตขึ้นนิดหน่อยเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 48,766 ล้านบาท เนื่องจากมีเหตุการณ์พิเศษที่จะต้องออฟไลน์ ประกอบกับปีนี้มันมีอีเวนต์ใหญ่ 2 อีเวนต์ คือตัวบอลโลก และ เอเชียนเกมส์ ประกอบกับออเจ้าบุพเพสันนิวาสต่างๆ เป็นปัจจัยที่ทำให้ปีนี้มีตัวเลขค่อนข้างสูงกว่า 2 ปีที่แล้ว แต่ถ้าเปรียบเทียบย้อนกลับไป 2 ปี ถือว่ายังอยู่ในขาลง

ภวัต แยกแยะสัดส่วนของดิจิทัลทีวีให้ฟังว่า ถ้าเป็น tier1 คือ ช่อง 3 ช่อง 7 จะอยู่ 45-50% หรือประมาณครึ่งหนึ่ง แล้วก็ tier2 ที่ประกอบไปด้วยหลายๆ ช่อง เช่น เวิร์คพอยท์”, One, Mono, GMM25 อาจจะอยู่ประมาณครึ่งหนึ่ง หรือ 45-50% แล้วแต่กลุ่มเป้าหมาย บางกลุ่มเป้าหมาย ก็จะมีไทยรัฐ ช่อง 8 โผล่ขึ้นมา บางกลุ่มเป้าหมาย ก็จะมีช่อง 8 มันจะขึ้นลงแล้วแต่กลุ่มเป้าหมายของแต่ละสินค้า องค์รวมโดยประมาณนี้ อันนี้อยู่ที่ 45% ฉะนั้นเอง บวกตลาด อยู่ที่ 90-95% และที่เหลือไปอยู่ไหน ที่เหลือ tier 3 บ้างเล็กน้อย ประมาณแค่ 5%

ภวัต ยังให้มุมการใช้งบสื่อสารทางการตลาดและโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่เติบโตต่อเนื่องทุกปีไว้อย่างน่าสนใจว่า งบสื่อสารที่ทุ่มให้กับแพลตฟอร์มออนไลน์เหล่านี้ อาจจะไม่ได้นำมาซึ่งประสิทธิภาพและผลลัพธ์มากนัก เพราะไม่อาจการันตีว่าการสื่อสารได้ไปถึงยังกลุ่มเป้าหมายตามที่ต้องการ โดยเฉพาะสินค้า High Involvement Purchase เช่น รถยนต์ คอนโด และโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ เพราะคนไทยจำนวนไม่น้อยยังเคยชินกับการดูทีวี ซึ่งเห็นภาพและสื่อสาร ช่วยในการตัดสินใจซื้อได้มากกว่าสื่อออนไลน์.