“PPTV” พลังช่องเศรษฐี ดูดคอนเทนต์ดัง The Voice Thailand-The Face Men ย้ายจากช่อง 3 ลงผัง

ย้ายช่องสนั่นจอทีวีดิจิทัลกันไปสดๆ ร้อนๆ สำหรับ 2 รายการดัง The Voice Thailand และ The Face Men ที่ตัดสินใจย้ายจากช่อง 3 มาลงจอพีพีทีวี งานนี้ขอทุ่มสุดตัวหวังจะดึงเรตติ้งให้ขึ้นติดอันดับ 10

แม้ว่าจะผ่านมา 5 ปี แต่สถานการณ์ของ “ทีวีดิจิทัล” ยังอยู่ในภาวะดิ้นรนหาทางรอด ทั้งช่องทีวีและเจ้าของรายการ ไม่ว่าจะเป็นช่องใหญ่ หรือรายการดังแค่ไหน แต่เมื่อไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องรายได้ ก็ต้องหาทางออกด้วยการ “ย้ายช่อง” ยิ่งเมื่อมีช่องที่พร้อมอ้าแขนรับอย่าง พีพีทีวี ด้วยแล้ว อะไรก็เกิดขึ้นได้

จึงเป็นที่มาของดีลการย้ายช่องของรายการ The Voice Thailand และ The Face Men ที่ย้ายจากวิก 3 พระราม 4 ลงผังรายการช่องพีพีทีวี

ช่องพีพีทีวี (PPTV) ทีวีดิจิทัลช่อง HD ของกลุ่ม ”หมอเสริฐ” นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มหาเศรษฐีเมืองไทย จึงกลายเป็นช่องที่ทุ่มกวาดรายการดังจากช่องอื่นๆ เข้าเสริมผังรายการแบบสวนทางช่องใหญ่ๆ ที่ต้องพยายามหาทางลดต้นทุน เพื่อรับมือกับสภาพตลาดโฆษณาหดกันถ้วนหน้า

The Voice Thailand ถือเป็นรายการประกวดร้องเพลงที่เคยโด่งดังและได้รับความนิยมอย่างมาก มาตั้งแต่ซีซันแรกๆ โดยปักหลักเช่าเวลาออกอากาศ ช่อง 3 ต่อเนื่องมาตลอดจนถึงซีซัน 6 และถูกจัดให้เป็นหนึ่งในรายการหลักของช่อง 3 ออกอากาศในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เจาะกลุ่มครอบครัว โดยเฉพาะฐานผู้ชมในกรุงเทพฯ เป็นหลัก แถมยังมีการแตกขยายออกมาเป็น รายการ The Voice Kids และ The Voice สูงวัย

แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนเข้าสู่ยุคของทีวีดิจิทัล ที่มีผู้เล่นเพิ่มขึ้นถึง 22 ราย ทีวีช่องเดิมที่เคยครองแชร์อันดับต้นๆ และรายการที่เคยได้รับความนิยม ก็ต้องเผชิญหน้ากับการแข่งขันอย่างหนักหน่วง ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจยังคงซบเซาด้วยแล้ว ดีกรีการแย่งชิงโฆษณาก็ยิ่งทวีความรุนแรง

เช่นเดียวกับ The Voice Thailand ต้องเจอปัญหาสปอนเซอร์โฆษณาลดลง ส่งผลกระทบต่อรายได้ แม้ว่าช่อง 3 พยายามช่วยเหลือผู้ผลิตรายการหลักๆ ด้วยการลดค่าเช่าเวลาลงแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ผลิตรายการได้

ทำให้ เอพีแอนด์เจ ผู้ผลิตรายการเดอะวอยซ์ ไทยแลนด์ จึงตัดสินใจย้ายรายการทั้งหมด 3 รายการ ไปอยู่ที่ช่องพีพีทีวี ที่ยอมอ้าแขนรับแบกรับความเสี่ยงไว้เอง โดยใช้วิธีจ้างผลิต และให้ผู้ผลิตรายการหาโฆษณาร่วมด้วย

วิธีนี้ เท่ากับว่า เอพีแอนด์เจ จะมีรายได้จากพีพีทีวีแน่นอนก้อนหนึ่งมาช่วยแบ่งเบา โดยไม่ต้องวิ่งหาสปอนเซอร์ทั้งหมดเองเหมือนสมัยอยู่กับช่อง 3 ซึ่งเป็นรูปแบบเช่าเวลาสถานี

การตัดสินใจ The Voice ถือว่ากะทันหันไม่น้อย เพราะก่อนหน้านี้มีการโปรโมตออดิชัน ซีซัน 7 บนเฟซบุ๊กเพจ ก็ยังมีโลโกช่อง 33

ในเวลาใกล้ๆ กัน The Face Men ที่ออกอากาศกับช่อง 3 มาตั้งแต่ซีซันแรก ก็ได้ประกาศย้ายซีซัน 2 ไปออกอากาศกับพีพีทีวี

The Face Men นั้นเป็นรายการที่ต่อยอดมาจาก The Face Thailand ออกอากาศในช่วงเย็นวันหยุด กับช่อง 3 มาตลอด

แม้ว่ารายการจะเป็นที่รู้จักดี แต่ช่วงหลังเรตติ้งของกลุ่มรายการ The Face ลดลงเยอะมาก The Face ซีซันแรกในปี 2558 เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 2.281 ค่อยๆ ลดลงมาเรื่อยๆ จนซีซันล่าสุด The Face 4 All Star ปี 2561 เรตติ้งเฉลี่ยอยู่ที่ 1.631 เท่านั้น

ส่วน The Face Men ซีซันแรก ในปี 2560 มีเรตติ้งเฉลี่ย 1.380 น้อยกว่า The Face (เวอร์ชันผู้หญิง)

เมื่อมาถึง The Face Men ซีซัน 2 กันตนาต้องการออนแอร์เย็นวันเสาร์เหมือนเดิม แต่คราวนี้ช่อง 3 ลังเล ยังไม่ตัดสินใจว่าจะหาช่วงเวลาให้ลงให้ได้ เนื่องจากช่องมีรายการประจำลงอยู่แล้ว

ทางกันตนาเองจึงไปเจรจากับพีพีทีวี เนื่องจากมีความสัมพันธ์อันดีกับช่องพีพีทีวีอยู่แล้ว จากการไปผลิตรายการ Entertainment Tonight Thailand หรือ ET Thailand ให้กับพีพีทีวี การโยก The Face Men 2 ไปลงผังกับพีพีทีวีจึงทำได้ง่ายขึ้น

หลังจากนี้ช่อง 3 เองต้องมีโจทย์ให้แก้ปัญหา เป็นผลมาจากการตีจากของรายการใหญ่ถึง 2 รายการ ซึ่งอยู่ในผังวันหยุดสุดสัปดาห์ ที่ถือเป็นไพรม์ไทม์ของกลุ่มครอบครัว

ทางด้าน 2 รายการดัง ก็ถือเป็นความท้าทายในการย้ายจากช่องใหญ่ไปอยู่ช่องเล็ก สิ่งแรกที่จะต้องเผชิญคือ เรตติ้งของรายการต้องลดลงอย่างแน่นอน เนื่องจากฐานความนิยมของช่องมีความแตกต่างกันมาก แต่ก็จะถูกชดเชยด้วยการการันตีรายได้ของผู้ผลิตเข้ามาแทนที่

ทำไม PPTV ต้องดูด

สำหรับพีพีทีวีเอง เส้นทางทีวีดิจิทัลก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ได้รับผลกระทบจากพิษโฆษณาหดเช่นเดียวกับช่องอื่นๆ แต่พีพีทีวีกลับใช้โอกาสนี้ดึงรายการมาจากช่องใหญ่ เพื่อหวังจะเป็นบันไดในการต่อยอดสร้างเรตติ้ง

โดยผลประกอบการพีพีทีวีในปี 2560 ที่ผ่านมา บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง (ช่องพีพีทีวี) ในปี 2560 ยังมียอดขาดทุนสูงถึง 2,028.76 ล้านบาท โดยมีรายได้รวม 317.16 ล้านบาท รายจ่ายสูงถึง 2,231.88 ล้านบาท ซึ่งรายจ่ายส่วนใหญ่คือการซื้อและผลิตคอนเทนต์

จนทำให้ต้องมีการปรับทีมผู้บริหาร นำโดย สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ที่ข้ามฟากมาจากช่อง 3 และ พลากร สมสุวรรณ จากช่อง 7 เพื่อยกระดับช่องพีพีทีวีให้เป็น World Class TV ด้วยการซื้อคอนเทนต์ต่างประเทศมากมาย เพื่อเสริมทัพรายการถ่ายทอดสดกีฬาใหญ่ๆ โดยเฉพาะฟุตบอลลีกดังๆ ของยุโรป โดยหวังที่จะดันช่องให้เขาสู้อันดับท็อปเท็นเรตติ้งให้ได้ พร้อมทุ่มทุนระดับหลักพันล้าน

การเป็นช่องระดับท็อปเท็นนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายตลาดโฆษณาของช่อง จากเดิมที่มีรายได้หลักจากสินค้าภาคเอกชนเท่านั้น ช่วงหลังพยายามหันมาจับกลุ่มตลาดโฆษณาจากภาครัฐ ที่มีการใช้จ่ายงบประมาณโฆษณาสูงมากระดับหลายพันล้านในแต่ละปี

เงื่อนไขหลักของการลงโฆษณาของกลุ่มภาครัฐ บางหน่วยงานก็มีเงื่อนไขกำหนดไว้ว่า จะต้องใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากลงโฆษณาทางทีวี ก็ต้องมีการการันตีว่าจะมีจำนวนผู้ชมได้รับชมโฆษณาเหล่านั้นจำนวนมาก เมื่อทีวีแต่ละช่องจัดอันดับ วัดผลงานกันจากเรตติ้ง จึงมักกำหนดเงื่อนไขในการลงโฆษณาว่า จะต้องลงเฉพาะช่องที่ติด 1 ใน 10 เท่านั้น

ที่ผ่านมาพีพีทีวีมีรายได้น้อยมากจากค่าโฆษณา โดยปี 2560 มีรายได้เพียง 317.16 ล้านบาท หากขยับเข้าสู่อันดับท็อปเท็นก็จะการันตีได้ว่า จะได้เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มจากหน่วยงานภาครัฐ แถมยังเปิดทางในการขยับราคาค่าโฆษณาได้ในอนาคตอีกด้วย

ช่วงแรกหลังการเปลี่ยนแปลง พีพีทีวีซื้อทั้งสารคดี, ซีรีส์ต่างประเทศ, ภาพยนตร์ฮอลลีวูด และการทุ่มทำรายการวาไรตี้ทั้งต่างประเทศ และผลิตใหม่ ชุดใหญ่ แต่ยังไม่สามารถกระตุ้นเรตติ้งเฉลี่ยของช่องให้เพิ่มขึ้นมาได้ โดยที่รายการที่สร้างเรตติ้งสูงสุดของช่องยังคงเป็นรายการข่าว “เข้มข่าวค่ำ” และการถ่ายทอดสดฟุตบอลลีกต่างประเทศ ที่เป็นรายการเดิม

เมื่อการทุ่มทุนในยกแรกยังไม่ได้ผล พีพีทีวีจึงต้องทุ่มก๊อกที่ 2 อีกครั้ง ด้วยการดึงรายการที่มาจากช่องใหญ่ โดยหวังให้ชื่อเสียงของรายการเหล่านั้นจะนำคนดู แฟนประจำรายการ ติดตามมายังช่องพีพีทีวี เป็นการเริ่มสร้างฐานผู้ชมของช่อง เพื่อขยับเข้าสู่ช่องชั้นนำต่อไป

นอกจากนี้ พีพีทีวียังจัดเต็ม ทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์เกาหลีชุดใหม่ที่โด่งดังในเกาหลีแบบจบลงไปหมาดๆ มาลงผัง หวังดึงเรตติ้ง โดยตั้งชื่อรายการว่า 36 Series Hits ประดิมเรื่องแรกด้วยซีรีส์แนวโรแมนติกคอมเมดี้ “รักมั้ยนะ เลขาคิม หรือ What’s Wrong with Secretary Kim?” ที่ได้รับความนิยมสูง เรตติ้งถล่มทลายติดอันดับความนิยมในเกาหลี

พีพีทีวีนำลงผังในช่วงหลังข่าว 2 ทุ่ม ในทุกวันพุธ และพฤหัส พร้อมชนละครไทยช่องใหญ่ และรายการวาไรตี้ หนังต่างประเทศจากช่องหลักๆ ด้วย โดยจะเริ่มออกอากาศตอนแรกวันที่ 5 กันยายนนี้

ซีรีส์เกาหลีใหม่ ถือเป็นคอนเทนต์หลักที่ได้รับความนิยมจากคนไทย แต่ก็เป็นความท้าทายของช่องทีวี เนื่องจากคนดูไม่น้อยที่รับชมไม่ถูกกฎหมายทางออนไลน์แบบเรียลไทม์ จึงทำให้ช่องใหญ่ๆ ไม่กล้าทุ่มซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์เกาหลีราคาแพงเหล่านี้มาออกอากาศ เพราะเมื่อติ่งเกาหลีรับชมไปหมดแล้ว ผลตอบรับที่ได้ในแง่เรตติ้ง และโฆษณารายการไม่น่าจะสูงมากนัก

นอกจากนี้ พีพีทีวีก็ยังชูคอนเทนต์กีฬาเป็นคอนเทนต์หลักของช่อง โดยเพิ่มประเภทกีฬามากขึ้น นอกเหนือจากซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลลีกรายการสำคัญๆ จากต่างประเทศ ยังขยายมาสู่การถ่ายทอดสดการแข่งรถ มวย และล่าสุดพีพีทีวียังได้เสียบแทนช่อง NBT ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2018

อย่างไรก็ตาม จากการรีบเร่งซื้อลิขสิทธิ์เอเชียนเกมส์จากเวิร์คพอยท์หวังว่าจะช่วยเพิ่มเรตติ้ง แต่แมตช์ที่พีพีทีวีได้มานั้น ยังเป็นหมวดประเภทกีฬาที่ไม่ค่อยได้รับความนิยมสูงนัก ส่วนประเภทกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างฟุตบอล, วอลเลย์บอล ยังอยู่ที่ช่องเวิร์คพอยท์เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นหลัก จึงทำให้เรตติ้งเฉลี่ยของช่องยังไม่ขยับมากนัก

นอกจากนี้ในเดือนกันยายนที่จะถึงนี้ พีพีทีวียังประกาศถ่ายทอดการแข่งขันเทนนิสแกรนด์สแลมสุดท้ายของปีนี้ “ยูเอส โอเพ่น” มาออกอากาศ เพื่อให้เข้าคอนเซ็ปต์ World Class Sport

เทนนิสแกรนด์สแลมเคยออกอากาศในช่อง 7 สมัยที่สุรางค์ เปรมปรีดิ์ และพลากร สมสุวรรณ ยังเป็นผู้บริหาร มีการถ่ายทอดสดทั้งเทนนิส, กอล์ฟ และฟุตบอล แต่หลังๆ ตั้งแต่มีทีวีดิจิทัล ก็ไม่มีช่องไหนกล้าทุ่มซื้อลิขสิทธิ์มากนัก แม้จะมีช่องทรูโฟร์ยูของกลุ่มทรู มาแย่งซื้อลิขสิทธิ์ได้บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครทุ่มสุดตัวแบบพีพีทีวี

ทุ่มกันสุดตัวแบบนี้แล้ว ต้องคอยดูผลตอบรับที่จะเกิดขึ้น พีพีทีวีจะสมหวัง เข้าสู่ทำเนียบท็อปเท็นเรตติ้งช่องได้หรือไม่.