เวียดนาม ถือเป็นตลาดค้าปลีกสำคัญของ “กลุ่มเซ็นทรัล” ที่ปักหลักลงทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 จนมีธุรกิจค้าปลีกกระจายตัวถึง 5 ประเภท บิ๊กซี ร้านอาหารร้านแฟชั่น ร้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงร้านค้าออนไลน์
ล่าสุด ผู้บริหาร ฟิลิปเป้ โบรเอียนิโจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเซ็นทรัล เวียดนาม และ บิ๊กซี เวียดนาม (Central Group Vietnam (CGV) บินมาไทย เพื่อเปิดเผยถึงแผน 5 ปี (2561-2565) จะใช้งบลงทุนรวม 500 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 16,500 ล้านบาท ในการลงทุนต่อเนื่องในเวียดนาม
โดย 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2012 – 2016) กลุ่มเซ็นทรัลได้ใช้งบลงทุนไปแล้ว 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี เวียดนามถือเป็นตลาดที่น่าสนใจ เศรษฐกิจเติบโตถึง 10% GDP สูง 7% จำนวนประชากรกว่า 93 ล้านคน และคาดว่าในอีก 5 ปีจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นอีก ขณะกำลังซื้อส่วนใหญ่ที่มาจากกลุ่มผู้มีรายได้ระดับกลางก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
ล่าสุดกลุ่มเซ็นทรัลได้เปิดธุรกิจใหม่ในเวียดนามแล้วอย่างน้อย 3 แบรนด์คือ
- ร้านลุคคูล (Look Kool) เป็นร้านจำหน่ายสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไป พื้นที่เฉลี่ย 250 ตารางเมตร เปิดไปแล้ว 26 สาขา
- ร้านโฮมมาร์ท (Home Mart) เป็นร้านประเภทดีไอวาย ตกแต่งและซ่อมแซมบ้าน เปิดแล้ว 1 สาขา
- ร้านเฮลโลบิวตี้ (Hello Beauty) ร้านจำหน่ายสินค้าความงามเปิดแล้วที่ภาคเหนือของเวียดนาม
ทั้งหมดนี้เป็นโมเดลสเปเชียลตี้สโตร์ เนื่องจากพบว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคเวียดนามสนใจซื้อสินค้าในร้านค้าปลีกรูปแบบนี้ เพราะมองว่าจะได้สินค้าที่ดีกว่า
ขณะที่ บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ปีนี้จะเปิดใหม่อีก 1 สาขา ในเดือนตุลาคมที่โฮจิมินห์ และปีหน้าจะเปิดอีก 1 สาขา จากขณะนี้มีบิ๊กซีในเวียดนามแล้ว 31 สาขา
ภายใน 5 ปี จากนี้ ทุกแบรนด์ในเวียดนามจะเพิ่มจำนวนสาขาเป็น 3 เท่า จากปัจจุบันที่มี 250 สาขา เพิ่มเป็น 720 สาขา ขณะที่เมื่อสิ้นปีที่แล้ว (2560) มี 210 สาขา
กลุ่มเซ็นทรัลถือเป็นเจ้าของธุรกิจค้าปลีกต่างชาติรายใหญ่ในเวียดนาม โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2556-2560) ยอดขายของกลุ่มเซ็นทรัลในประเทศเวียดนามมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ 340% นับเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด ในปี 2556 ที่กุล่มเซ็นทรัลได้เริ่มทำธุรกิจใยเวียดนามมีรายได้เพียง 120 ล้านบาท มาถึงในปี 2560 มีรายได้ 44,800 ล้านบาท จาก 5 กลุ่มธุรกิจ
- ศูนย์การค้า 31 แห่ง : ได้แก่ บิ๊กซี
- ธุรกิจอาหาร 59 แห่ง ประกอบด้วย: บิ๊กซี, ลานชีมาร์ท
- ธุรกิจแฟชั่น 49 แห่ง : โรบินส์, เดลาลา, ซูเปอร์สปอร์ต และ มาร์ค แอนด์ สเปนเซอร์
- ธุรกิจฮาร์ดไลน์ 78 แห่ง : เหงียนคิม, B2S
- ธุรกิจออนไลน์ 3 แพลตฟอร์ม ประกอบด้วย NguyenKim.vn, Robins.vn และ B2S.com.vn
โดยรายได้ 6 เดือนแรกของปีนี้ (2561) เติบโตขึ้นเป็นเลขสองหลัก คาดว่ายอดขายในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตทวีคูณยิ่งกว่าในช่วงครึ่งปีแรก
“เรามองเห็นศักยภาพของเวียดนาม 5 ปีนับต่อจากนี้จะมีการลงทุนต่อเนื่องอีก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นปีละประมาณ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจ ซึ่งจะมีทั้งการเปิดธุรกิจใหม่ๆ การขยายสาขาแบรนด์ต่างๆ และการทำตลาดต่อเนื่อง”
ฟิลิปเป้ บอกว่า ความท้าทายในการทำธุรกิจที่เวียดนาม สำคัญที่ต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนเวียดนาม และกฎระเบียของภาครัฐที่มีทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ขณะที่มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้น
จริยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด กล่าวว่า นอกจากธุรกิจค้าปลีกต่างๆ แล้ว ในส่วนของตลาดท่องเที่ยวของเวียดนามก็มีความน่าสนใจ หากมีโอกาสก็อาจจะลงทุนด้านโรงแรมด้วยเช่นกัน.