เปิดสถิติ ไทยครองอันดับ 2 ยอดใช้จ่ายผ่าน “อาลีเพย์” รองจากฮ่องกง

ยอดใช้จ่ายผ่านอาลีเพย์ในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ช่วงฤดูร้อนปี 2561 ประเทศไทยมียอดทำธุรกรรมผ่านอาลีเพย์สูงสุดเป็นอันดับสอง รองจากฮ่องกง ส่วนฝรั่งเศสยอดใช้จ่ายต่อคนสูงสุด 

อาลีเพย์ แพลตฟอร์มชำระเงินออนไลน์ที่ให้บริการทั่วโลก ในเครืออาลีบาบา ได้เปิดเผยถึง ช่วงฤดูร้อนของประเทศจีนสองเดือน (1 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2561) ที่ผ่านมา ซึ่งในระหว่างนั้นชาวจีนหลายล้านคนได้เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ ส่งผลให้ยอดใช้จ่ายผ่าน “อาลีเพย์” ในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในช่วงฤดูร้อนของปีนี้ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว*

สถิติการใช้จ่ายของคนจีนในปีนี้

ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ ธุรกรรมในร้านค้าต่างประเทศผ่านอาลีเพย์เพิ่มขึ้น 2.6 เท่า เมื่อเทียบกับจำนวนธุรกรรมในต่างประเทศช่วงเดียวกันในปีที่แล้ว

ภูมิภาคเอเชียยังคงครอง 10 อันดับประเทศและภูมิภาคที่มีปริมาณการทำธุรกรรมผ่านอาลีเพย์ในต่างประเทศมากที่สุด โดย ฮ่องกง ครองอันดับหนึ่ง ตามมาด้วย ประเทศไทย และเกาหลีใต้

จำนวนธุรกรรมผ่านอาลีเพย์ในรัสเซียเพิ่มขึ้นกว่า 5000% เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวจีนจำนวนมากเดินทางไปยังรัสเซียเพื่อร่วมชมการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้

ประเทศต่างๆ ในยุโรปเหนือและยุโรปตะวันตก รวมถึงเดนมาร์ก ลักเซมเบิร์ก นอร์เวย์ สวีเดน และสวิตเซอร์แลนด์ มีปริมาณการทำธุรกรรมผ่านอาลีเพย์เติบโตในอัตราสองหลัก

ยอดใช้จ่ายเฉลี่ยของคนจีนต่อคนเพิ่มขึ้น 43% เป็น 2,955 หยวน (ประมาณ 432 ดอลลาร์) จากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 2,073 หยวน (ประมาณ 303 ดอลลาร์) 

โดยยอดใช้จ่ายเฉลี่ยสูงที่สุดอยู่ที่ ฝรั่งเศส (11,386 หยวน หรือประมาณ 1,666 ดอลลาร์) ตามมาด้วย เกาหลีใต้และเดนมาร์ก ประเทศในยุโรปครองสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของ 10 ประเทศที่มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนสูงสุด

ชาวจีนที่เกิดในทศวรรษ 1970, 1980 และ 1990 คิดเป็นสัดส่วน 85% ของชาวจีนทั้งหมดที่ใช้อาลีเพย์ในต่างประเทศในช่วงฤดูร้อนปี 2561

ในบรรดาสนามบินกว่า 80 แห่งที่รองรับการขอคืนภาษีทันทีผ่านทางอาลีเพย์ สนามบินในเกาหลีใต้มียอดขอคืนภาษีสูงสุด ตามมาด้วยสนามบินในยุโรป

สำหรับ อาลีเพย์ (Alipay) ดำเนินงานโดยกลุ่มบริษัท แอนท์ ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส ในเครืออาลีบาบา ของจีน เริ่มเปิดให้บริการเมื่อปี 2547 มีผู้ใช้งานจริงในปัจจุบัน (Active Users) กว่า 520 ล้านคน โดยได้ขยายจากบริการดิจิทัลวอลเล็ต มารองรับไลฟ์สไตล์ เช่น เรียกแท็กซี่ จองห้องพักโรงแรม ซื้อตั๋วภาพยนตร์ จ่ายค่าสาธารณูปโภค นัดหมายเพื่อพบแพทย์ หรือซื้อผลิตภัณฑ์ด้านการบริหารสินทรัพย์ ขยายครอบคลุมการชำระเงินแบบออฟไลน์ในร้านค้าทั้งในและนอกประเทศจีน โดยร่วมมือกับสถาบันการเงินและผู้ให้บริการชำระเงินในต่างประเทศกว่า 250 แห่ง เพื่อรองรับการชำระเงินระหว่างประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางไปต่างประเทศ รวมถึงลูกค้าต่างชาติที่ซื้อสินค้าจากเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซของจีน ปัจจุบันอาลีเพย์รองรับ 27 สกุลเงิน.