ปราสาทสัจธรรม ยิ่งใหญ่แต่ซ่อนเร้น

“ปราสาทสัจธรรม” นับเป็น Landmark หนึ่งเดียวทางด้านศิลปวัฒนธรรมแห่งเมืองพัทยา ที่นับว่ามีความโดดเด่นที่สุด ท่ามกลางความเจริญในรูปแบบที่สวนทางกับวิถีดั้งเดิมของความเป็นไทย

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชื่อเสียงของปราสาทสัจธรรมปรากฏสู่สายตานักท่องเที่ยวที่มาเยือนพัทยาในฐานะเป็นสิ่งปลูกสร้างทางสถาปัตยกรรมไม้แกะสลักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กระทั่งยูเนสโกได้ติดต่อทาบทามให้เป็นหนึ่งในบันทึกความทรงจำแห่งมรดกโลก

แต่แท้จริงแล้ว ชื่อเสียงของปราสาทควรอยู่ที่ “วัตถุประสงค์” ของการออกแบบก่อสร้างตามแนวคิดแห่งจักรวาลวิทยาและธาตุสี่ของ “เล็ก วิริยะพันธุ์” ผู้เป็นเจ้าของและเป็นผู้ออกแบบเสียมากกว่า

“กุศโลบาย” ให้ถึงซึ่งความหลุดพ้นด้วยสัจธรรมทางศาสนาที่อาศัย “ศิลปะเป็นสื่อ” นี้เองต่างหากคือแก่นแท้ โดยเล็ก วิริยะพันธ์ ได้ตั้งปณิธานให้ปราสาทสัจธรรมนี้เป็น “มรดกแห่งแผ่นดิน”

ก่อนหน้านี้เล็กได้ออกแบบเมืองโบราณเป็นโครงการแรก ตามมาด้วยปราสาทสัจธรรม ทว่าพิพิธัณฑ์ช้างเอราวัณซึ่งเป็นโครงการที่สามเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์เสียก่อน และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของสมุทรปราการในเวลาต่อมา

“พัทยาเป็นสัญลักษณ์แห่ง Entertaining Lifestyle แสง สี เสียง เพิ่มมากขึ้นทุกวัน ดูไม่มีแนวโน้มจะซบเซา” ยุศทร หนองคูน้อย ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการกล่าวแสดงความเห็น แต่ขณะเดียวกันเธอก็มีทัศนะว่าพัทยาเองก็มีศักยภาพในการเป็นเมืองท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมได้เช่นกัน ทว่าต้องลบภาพเมืองแห่งการเที่ยวกลางคืนและการขายบริการลงเสียก่อน

“เดิมเรามีวัฒนธรรมที่ดีงามอยู่แล้ว แต่พอเค้าเอาอะไรมายัดเยียดให้เรา ทำให้หลายอย่างเสื่อมลง คนไทยเอาเยี่ยงได้แต่อย่าเอาอย่าง”

ปี 2524 พื้นที่ 80 ไร่ บริเวณแหลมราชเวชซึ่งเป็นที่ก่อสร้างปราสาทสัจธรรมนี้ เดิมทีเป็นไร่สับปะรด “ตอนนั้นพัทยาไม่มี Unseen ทางวัฒนธรรม คุณเล็กจึงตัดสินใจสร้างปราสาทที่นี่ เดิมทีจะให้เป็นหอประชุมทางศาสนา”

ปราสาทสัจธรรมใช้เวลาก่อสร้างไปได้นาน 8 ปี จึงเริ่มเปิดให้เข้าชมในฐานะสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของพัทยา

“เราใช้ช่างทีมเดียวกับที่ก่อสร้างเมืองโบราณ เป็นการจำลองรูปแบบปราสาทสมัยอยุธยามาโดยใช้เทคนิคการสร้างแบบโบราณด้วยการไม้เนื้อแข็งทุกประเภท แม้แต่เปลือกก็ใช้”

เหตุที่ปัจจุบันปราสาทสัจธรรมยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จเสียทีนั้น เกิดจากความตั้งใจที่ต้องการ “โชว์เทคนิค”ของงานก่อสร้างสถาปัตยกรรมไม้ “งานไม้ต่างจากอิฐและคอนกรีต เราสามารถนำมาประกอบ ถอด แก้ไข และสามารถแกะสลักลงไปได้ ทำไปก็แก้ไป เกิดเป็นความรู้ใหม่เหมือนเรียนรู้เทคนิคการก่อสร้างด้วยตัวเอง ฉะนั้นที่ตั้งคำถามว่าเมื่อไหร่จะสร้างเสร็จ จึงตอบไม่ได้ค่ะ”

ในช่วงปกตินั้น มีผู้คนหมุนเวียนเข้ามาดูการก่อสร้างปราสาทสัจธรรมราว 100 กว่าคน แต่ทว่าหากเป็นหน้าทัวร์จะมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมาเป็นวันละ 300-500 คน

“รายได้ทั้งหมดเรานำมาดูแลตัวเองค่ะ ไม่ได้เอาเงินจากธุรกิจของครอบครัวคุณเล็กมาก่อสร้างตรงนี้ เงินของนักท่องเที่ยวทุกคนมีส่วนในการสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งนี้”

ยุศทร เปิดเผยว่าตอนนี้นักท่องเที่ยวราว 65% เป็นคนไทย เพราะการสื่อสารในลักษณะปากต่อปากและการบอกต่อทาง “เว็บไซต์” มี Impact มากกว่าการออกบูธในงานท่องเที่ยวเสียอีก

อัตราค่าเข้าชมปราสาทสัจธรรมอยู่ที่ 500 บาทต่อคน ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นการกำหนดราคาที่แตกต่างจากสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไป

“เพราะเรามองว่าคุณค่ามันอยู่ในตัวงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือฝรั่งก็มีสิทธิ์ได้ชื่นชมเหมือนกัน เราไม่อยากให้เกิดความต่างของผู้บริโภค ฝรั่งเขาเอาเงินมาให้เรานะ และหลายคนก็ไม่ได้มารอบเดียว เขาติดตามผลงานเราตลอด และชื่นชมที่จะบอกต่อ ในทางหนึ่งราคาจะเป็นตัวช่วยสกรีนคนที่จะเข้ามาดูได้ในขั้นต้น คือต้องเป็นคนที่สนใจงานด้านนี้จริงๆ”

กิจกรรมต่างๆ ของการมาท่องเที่ยวปราสาทสัจธรรม อาทิ โชว์รำไทย นั่งรถม้า นั่งช้างชมปราสาท ดูเบื้องหลังการฝึกโลมา ส่วนหนึ่งเกิดจากราคาบัตร 500 บาท ที่หลายคนเห็นว่าแพงเกินไป จึงมีการสร้าง Value Added เพื่อให้เกิดความรู้สึกคุ้มค่า

นอกจากนี้ ทางปราสาทสัจธรรมยังมีรายได้จากแพ็กเกจชมวิวปราสาทจากทางทะเลราคา 1,200 บาท ซึ่งรวมบริการไว้หลากหลายตั้งแต่การนั่งสปีดโบ๊ท ช้าง ม้า ขณะเดียวกันมี “ค่ายริมขอบฟ้า” สำหรับเยาวชนในลักษณะของกิจกรรม Day Camp ซึ่งคิดค่าบริการรายละ 250-300 บาท ส่วนรายได้จากการเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศนั้นพอมีเป็นบางระยะ ด้วยปราสาทสัจธรรมเป็นที่รู้จักและได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศในวงกว้างมาเป็นเวลานาน

กับปัญหาสภาพเศรษฐกิจซบเซาจนผู้ประกอบการโรงแรมบางแห่งหาทางออกด้วยการปลดพนักงานนั้น เป็นภาพที่ตรงข้ามกับปราสาทสัจธรรมภายใต้การบริหารงานของบริษัทเมืองโบราณ “เรากลับมีความต้องการรับคนเพิ่มด้วยซ้ำไปค่ะ” อาจเป็นเพราะบุคลากรด้านงานบริการที่นี่ได้มาจากการ Training ไม่ใช่การจ้างระดับ Professional ที่มีค่าตัวสูง จึงมีงบประมาณเพียงพอที่จะจ้างงานคนในพื้นที่เพิ่มขึ้นเสมอ

ปัจจุบัน ปราสาทสัจธรรมได้มี “แผนกตอบแทนสังคม” ที่ทำหน้าที่เป็น “น้ำดี” แห่งเมืองพัทยา ในการเป็นตัวแทนเผยแพร่วัฒนธรรมไทยโบราณ อาทิ การแสดงโขน ละคร นาฏศิลป์ และปัจจุบันกำลังมีโครงการทำหนังใหญ่ตามตำรับโบราณ และเป็นที่น่ายินดีเมื่อยุศทรแจ้งข่าวว่า “คณะหุ่นละครเล็กโจหลุยส์เธียเตอร์” จะมาร่วมผนึกกำลัง เป็นอีกหนึ่งตัวแทนของวัฒนธรรมไทยที่กำลังจะเข้ามาสู่ใจกลางเมืองพัทยาเร็วๆ นี้