“ร้านขายแอพฯ” ถึงเวลาเงินสะพัด

แอพพลิเคชั่น (Application) ที่มีลูกเล่นจนทำให้ “สมาร์ทโฟน” มีชีวิตชีวา กลายเป็นสิ่งกระตุ้นให้ “สมาร์ทโฟน” สร้างปรากฏการณ์ใหม่ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และย้อนกลับมาส่งเสริมให้นักพัฒนาแอพฯ สนุกกับการคิดลูกเล่นใหม่ๆ เพราะได้ทั้งเงิน และความมันส์ในการคิดค้น ความคึกคักนี้ในที่สุดสามารถสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้มากขึ้น จนมีความเชื่อว่าหากไม่มีแอพฯแบรนด์สมาร์ทโฟนนั้นอาจเกิดได้ยาก

หลายคนอาจเคยได้ยินคำปรามาสไอโฟน (iPhone) ทำนองว่า “ถ้าไม่มีแอพพลิเคชั่นนะ ไอโฟนไม่เกิดหรอก เพราะฟังก์ชันโทรศัพท์มันห่วยมาก” คำพูดนี้นอกจากจะสื่อให้เห็นถึงอิทธิพลมหาศาลของแอพพลิเคชั่น ที่ทำให้ “จุดห่วย” ในไอโฟนถูกมองข้ามไป ยังสะท้อนว่า วิสัยทัศน์เรื่องการตั้งร้านขายแอพพลิเคชั่นออนไลน์ “แอพสโตร์ (App Store)” เป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ขนาดที่ทำให้ค่าย Operating System ค่ายสมาร์ทโฟน และค่ายมือถือทุกรายต้องหันมาเปิดร้านลักษณะเดียวกันแล้วในขณะนี้

ก่อนที่จะไปดูความคืบหน้าเรื่องพาเหรดร้านขายแอพพลิเคชั่นออนไลน์ที่กำลังเกิดขึ้น คุณควรจะรู้ข้อมูลพื้นฐานของแอพสโตร์เสียก่อน แอพสโตร์เป็นชื่อเรียกร้านดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นออนไลน์ ในฐานะส่วนหนึ่งของร้านไอจูนส์สโตร์ (iTunes Store) เว็บไซต์จำหน่ายเพลง ภาพยนตร์ และรายการทีวีชื่อดังของแอปเปิล

แอพพลิเคชั่นบนแอพสโตร์มีทั้งที่ให้ฟรีและวางจำหน่าย ทุกแอพพลิเคชั่นเป็นโมบายแอพพลิเคชั่นจากนักพัฒนาอิสระรายเล็ก-ใหญ่ซึ่งสามารถติดตั้งบนไอพอดทัช (iPod touch) และไอโฟน รองรับผู้ใช้งานชาวไทยแล้วเรียบร้อย

การเปิดกว้างให้นักพัฒนาอิสระสามารถวางจำหน่ายแอพพลิเคชั่นโดยกำหนดราคาได้เอง และได้รับส่วนแบ่งรายได้ 70 เปอร์เซ็นต์ ทำให้นักพัฒนาทั่วโลกให้ความสนใจพัฒนาแอพพลิเคชั่นแปลกใหม่น่าสนใจออกมาจำนวนมาก ส่งอานิสงส์ให้ผู้ใช้ไอโฟนมีแอพพลิเคชั่นมากมายให้เลือกใช้งานตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ จนทำให้ไอโฟนมีลูกเล่นมากขึ้นจนไม่ได้ถูกใช้เป็นโทรศัพท์มือถืออย่างเดียวอีกต่อไป

แอพพลิเคชั่นที่เปิดให้ดาวน์โหลดฟรีและชำระเงินบนร้านแอพสโตร์นั้นมีตั้งแต่เกมสนุกๆ ที่ผู้ใช้สามารถเล่นด้วยการสัมผัสหน้าจอ หรือการเอียงและเขย่าโทรศัพท์ มีแอพพลิเคชั่นวาดรูประบายสี แอพพลิเคชั่นจัดการปฏิทินงาน แอพพลิเคชั่นมดเดินบนหน้าจอ แอพพลิเคชั่นเครือข่ายสังคม หรือแม้กระทั่งแอพพลิเคชั่นสุดทะเล้น ที่ท้าทายให้ผู้ใช้โยนไอโฟนขึ้นไปบนอากาศแล้วจับเวลาเพื่อทำสถิติเวลาโยนที่นานที่สุด

แอพพลิเคชั่นมีราคาไม่แพงเกินเอื้อม เริ่มต้นที่ราว 99 เซ็นต์ หรือประมาณ 30 บาท โดยหนึ่งในแอพพลิเคชั่นบนแอพสโตร์ที่ฮือฮามากที่สุดคือ I Am Rich ราคาที่ตั้งไว้คือ 999.99 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 35,000 บาท) แต่เป็นโปรแกรมที่ทำงานเพียงแสดงผลรูปอัญมณีสีแดงบนจอเพียงเท่านั้น นัยคือต้องการประกาศศักดาว่าผู้ซื้อแอพพลิเคชั่นนี้ นั้นร่ำรวยจริงตามชื่อแอพพลิเคชั่น

แอปเปิลเคยประกาศความสำเร็จแอพสโตร์ไว้ว่า สถิติยอดการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นลงสู่ไอโฟนนั้นมีจำนวนมากกว่า 500 ล้านครั้งแล้ว หลังการเปิดตัวแอพสโตร์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 จำนวนแอพพลิเคชั่นในร้านขณะนี้มีจำนวนราว 15,000 แอพพลิเคชั่น (ข้อมูลเดือนมกราคม 2552)

ตัวเลขความสำเร็จที่เกิดขึ้นยั่วยวนให้บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายอื่นหันมามอง และเนื่องจากแอพพลิเคชั่นบนแอพสโตร์รองรับเฉพาะแพลตฟอร์มการทำงานของแอปเปิลเท่านั้น ค่ายผู้สร้างแพลตฟอร์มสมาร์ทโฟนอื่นอย่างปาล์ม แบล็คเบอร์รี่ แอนดรอยด์จากกูเกิล ซิมเบียน หรือแม้แต่วินโดวส์โมบายล์ของไมโครซอฟท์ จึงหันมาเปิดตัวร้านดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นของตัวเองอย่างไม่กลัวคำครหาว่า “ลอกแบบแอปเปิล” ซึ่งปัจจุบันทุกค่ายต่างมีร้านขายแอพพลิเคชั่นออนไลน์ของตัวเองแล้วในขณะนี้

เปิดหน้าร้าน App Store
ปาล์ม (Palm) เรียกร้านแอพพลิเคชั่นสโตร์ของตัวเองว่า Palm App Catalog ระบุว่าเป็นแค็ตตาล็อกแอพพลิเคชั่นสำหรับติดตั้งลงบนระบบปฏิบัติการ Palm Pre โอเอสใหม่ล่าสุดของค่าย ชูจุดขายว่านักพัฒนาไม่ต้องพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นใหม่ให้ยุ่งยากเนื่องจากโอเอสของปาล์มสามารถรองรับแอพพลิเคชั่นภาษา HTML5, CSS และ Javascript ได้ เท่ากับเพียงพัฒนาขึ้นครั้งเดียวก็สามารถขายได้หลายที่

ขณะที่แบล็คเบอร์รี่ (BlackBerry) หยิบชื่อ BlackBerry Application Center มาใช้ เปิดให้ดาวน์โหลดผ่านซอฟต์แวร์ BlackBerry Storm เวอร์ชั่น 4.7 จุดขายของแบล็คเบอร์รี่คือการมีตลาดที่ชัดเจน นั่นคือนักธุรกิจ ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของแบล็คเบอร์รี่

กูเกิล (Google) ตั้งชื่อร้านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ของตัวเองว่า Android Market ก่อนนี้เปิดให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ G1 ดาวน์โหลดไปใช้งานได้ฟรี แต่ล่าสุดเปิดให้นักพัฒนาวางจำหน่ายแอพพลิเคชั่นได้แล้ว

ความที่เป็นแพลตฟอร์มเปิด (Open Source) ของ OS Android เพื่อรองรับการใช้งานแบบ Mobile Internet จึงเป็นความได้เปรียบที่นักพัฒนาและยูสเซอร์จะเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โอเปอเรเตอร์ต่างๆ สามารถใช้งานได้ ไม่ผูกขาดเหมือนที่ไอโฟนตกลงกับโอเปอเรเตอร์อย่างเมือไทยคือทรูมูฟ และด้วยความเป็นยักษ์ใหญ่ช่างคิดอย่างกูเกิล อนาคตอันใกล้ ไอโฟนคงต้องรับศึกหนัก

สำหรับซิมเบียน (Symbian) รายงานระบุว่าทั้งโนเกีย (Nokia) และซัมซุง (Samsung) ต่างก็กำลังพัฒนาร้านขายแอพพลิเคชั่นซิมเบียนของตัวเองอยู่ในขณะนี้ ซัมซุงเรียกร้านของตัวเองว่า Samsung Mobile Applications ขณะที่โนเกียใช้ชื่อ Ovi Store ชื่อเดิมซึ่งโนเกียใช้เรียกร้านขายคอนเทนต์เพลงสำหรับโหลดลง Nokia N97 ซึ่งเปิดตัวเมื่อปีที่แล้ว

Ovi ซึ่งเป็นภาษาฟินแลนด์ แปลว่าประตู สื่อถึงการเชื่อมไปสู่บริการอินเทอร์เน็ต สำหรับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือโนเกีย ระบบปฏิบัติการซิมเบียน Ovi Store เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2007 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และกลับมาบูมอีกครั้งตอนเปิดตัวกับโอเปอเรเตอร์มือถือ Vodafone ในออสเตรเลีย เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ในไทยใช้โนเกีย N97 เป็น Flagship ให้กับ Ovi ขณะนี้มีแอพพลิเคชั่นให้ดาวน์โหลดมากกว่า 20,000 รายการ และบริการของ Ovi เปิดให้ใช้แล้ว 152 ประเทศ หากเทียบปริมาณการดาวน์โหลด 5 ประเทศที่มีการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นใน Ovi Store มากที่สุด คือ เยอรมนี สเปน อิตาลี สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

Ovi Store เป็นตลาดค้าแอพพลิเคชันรายเก่ากลับมาใหม่ อย่างไรก็ตามย่อมหนีไม่พ้นการถูกเปรียบเทียบข้อดีข้อด้อยกับร้านค้าอื่น เช่น แอพพลิเคชั่นที่ต้องดาวน์โหลดแบบเสียเงินอย่าง Shazam (Categories: Music ) ที่ Ovi คิดราคา 4.99 เหรียญสหรัฐ แต่พบว่าใน Apps Store ของ Apple นั้นเปิดให้ดาวน์โหลดฟรี

โนเกียที่รองรับ Ovi มี 50 ล้านเครื่องทั่วโลก และคาดว่าภายในปี 2555 จะมีเครื่องที่สามารถรองรับการใช้งาน Ovi 300 ล้านเครื่อง

สำหรับไมโครซอฟท์ เพิ่งหันมาเปิดร้านแอพพลิเคชั่นสโตร์ของตัวเองในชื่อ SkyMarket เปิดตัวพร้อมระบบปฏิบัติการสำหรับอุปกรณ์พกพาเวอร์ชั่นใหม่ล่าสุด Windows Mobile 7 รายงานต่างประเทศเชื่อว่า SkyMarket จะเป็นคู่แข่งรายใหญ่ที่สุดของแอพสโตร์และมีข่าวมาแล้วว่า SkyMarket จะมีแอพพลิเคชั่นให้ผู้ใช้วินโดวส์โมบายล์เลือกใช้มากกว่า 18,000 แอพพลิเคชั่น

สิ่งที่เกิดขึ้น ย่อมหมายถึงการขยายตัวของตลาดแอพพลิเคชั่นอย่างฉุดไม่อยู่ โดยเฉพาะในแง่การสร้างรายได้ ซึ่งการสำรวจล่าสุดพบว่าขณะนี้ ผู้ใช้สมาร์ทโฟนกว่า 15 เปอร์เซ็นต์เสียเงินค่าซื้อแอพพลิเคชั่นจากอินเทอร์เน็ตเพื่อติดตั้งลงในสมาร์ทโฟนราว 100 เหรียญในปีที่ผ่านมา

ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ กว่า 16.5 เปอร์เซ็นต์มียอดจ่ายเงินซื้อแอพพลิเคชั่นราว 100-500 เหรียญ (3,300-16,500 บาท) ตลอด 12 เดือน ถือเป็นครั้งแรกที่ชาวไอทีใช้เงินซื้อแอพพลิเคชั่นสูงกว่าราคาตัวเครื่อง (เช่น G1 ที่มีราคาเริ่มต้นที่ 179 เหรียญ หรือประมาณ 5,900 บาทเท่านั้น)

ทรูฯ ต่อยอดเปิดสอนแอพฯ

สำหรับในเมืองไทยแล้ว ค่ายมือถือที่พัฒนาแอพพลิเคชั่นอย่างจริงจัง ต้องยกให้ค่ายทรู คอร์ปอเรชั่น หลังจากที่ตกลงเป็นผู้จำหน่ายไอโฟน ทรูได้พัฒนาขึ้น 12 แอพพลิเคชั่น เพื่อเอาใจลูกค้าคนไทย และทำให้ไอโฟนถูกใช้งานมากขึ้น แต่ก็มีถึง 5 แอพพลิเคชั่น ที่เข้าไปติดท็อปเท็นของ Global คือ แอพพลิเคชั่นสำหรับการท่องเที่ยว แผนที่เดินทาง ดูดวง คือ thailand guide, bkk attraction, Wi-Fi, Tarot, call me hey โดย แอพฯ Wi-Fi ได้รับความนิยมสูงสุด เพราะสามารถทำให้ผู้ถือไอโฟนเช็กได้ว่าจุดใดมีสัญญาณ WiFi บ้าง

การเติบโตของสมาร์ทโฟน และยอดการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลกทำให้ทรูไม่หยุดอยู่แค่ไอโฟน และเปิด “True App Center” สถาบันศูนย์กลางการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับมือถือทุกแพลตฟอร์ม ทั้งไอโฟน, วินโดวส์โมบายล์, ซิมเบียน, แบล็คเบอร์รี่, และแอนดรอยด์ เพราะปัจจุบันแอพพลิเคชั่นหลายตัวในปัจจุบันสามารถใช้ได้หลายแพลตฟอร์ม โดยมีอาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมนักพัฒนาของทรูมูฟเป็นผู้สอน รวมถึงสอนการวางแผนทางธุรกิจ และการตลาดแบบมืออาชีพ เมื่อนักพัฒนาทำแอพออกสู่ตลาดได้สำเร็จ รายได้ก็จะเข้าถึงนักพัฒนาโดยตรง

แอพพลิเคชั่นสโตร์ที่กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงของโลกในสังคมสมาร์ทโฟนวันนี้ และทำให้โมเดลธุรกิจของค่ายสมาร์ทโฟนเปลี่ยนไป ที่ไม่ใช่ขายแต่เครื่องเท่านั้นแต่ต้องตกแต่งให้เครื่องน่าใช้ เพื่อให้ทันกับรูปแบบการใช้งานของผู้บริโภคที่แตกต่างไปจากเดิม

นาทีนี้กับปรากฏการณ์สมาร์ทโฟนที่ทำให้ใครเห็นโอกาส จึงได้เงินสะพัดเข้ากระเป๋าได้ไม่ยาก

จำนวนแอพพลิเคชั่นที่มีในแต่ละแพลตฟอร์ม (ณ มิถุนายน 2009)
ไอโฟน 50,000
แอนดรอยต์ 4,900
ซิมเบียน (โนเกีย) 1,088
แบล็คเบอร์รี่ 1,030
Palm 18
ที่มา : ทรู คอร์ปอเรชั่น

Timeline การเปิดตัวของ Application Store
Apple App Store ก.ค.08

Android Marketplace Microsoft Skymarket Ovi Store ส.ค.08

BlcakBerry Storefront เม.ย.09

แอพพลิเคชั่นที่มีผู้ดาวน์โหลดแบบเสียเงินมากที่สุด 10 อันดับในไทย
1. Let’s Golf! (Games) $0.99
2. Sally’s Spa (Games) $0.99
3. StoneLoops! of Jurassica (Games) $0.99
4. LOMO Camera (Photography) $2.99
5. Supermarket Mania (Games) $0.99
6. 1,001 Ringtones! (Entertainment) $0.99
7. Knights Onrush (SALE) (Games) $2.99
8. iMapsPro – Bangkok (Navigation) $0.99
9. Thai Email Keyboard (Utilities) $1.99
10. The Sims 3 (Games) $9.99