“บุญรอด” ควง “ลินฟ้อกซ์” ตั้ง “BevChain Logistics” ต่อจิ๊กซอว์ธุรกิจ Supply Chain

ห่วงโซ่การผลิตหรือ Supply Chain ถือเป็นระบบหลังบ้านที่เครือบุญรอด บริวเวอรี่กำลังให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากมองว่า เป็นกลไกหลักที่ช่วยให้บริษัทลดต้นทุนและสร้างผลกำไรให้สูงขึ้น

Supply Chain ที่ว่านี้คือระบบที่ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่การจัดการวัตถุดิบไปสู่โรงงานเพื่อทำการผลิตออกมาเป็นสินค้า ซึ่งสินค้าเหล่านั้นจะมีการจัดเก็บในคลังสินค้า ก่อนที่จะกระจายไปสู่ร้านค้าและส่งต่อไปถึงมือของผู้บริโภค

ปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของต๊อด – ปิติ ภิรมย์ภักดีที่เข้ามารับหน้าที่ดูแลและพัฒนาห่วงโซ่การผลิตเมื่อ 2 ปีก่อน โดยมีเป้าหมายหลัก เพื่อให้การบริหารจัดการเกิดประสิทธิภาพและลดต้นทุน รวมไปถึงยกระดับการขนส่ง

ต๊อดปิติ บอกว่าสนใจในระบบ Supply Chain ตั้งแต่เมื่อ 14 ปีก่อน ตอนที่ได้ก้าวเข้ามาดูแลธุรกิจเบียร์ของเครือบุญรอด บริวเวอรี่ เขาบอกว่า ปัญหาหนึ่งที่พบคือ แต่ละจังหวัดมักจะมีเครือข่ายกระจายสินค้าที่กระจัดกระจายกัน

เมื่อ 8 ปีก่อนจึงเริ่มจากการตัดสินใจตั้งบริษัท ลีโอ ลิ้งค์ จำกัดขึ้นมาเพื่อรับบริหารจัดการโลจิสติกส์ของเครือบริษัทบุญรอดฯ และรับจัดการให้กับลูกค้าทั่วไปด้วย ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 5-8% แล้วแต่เดือน โดย 7 เดือนแรกของปีนี้มีกำไรประมาณ 80 ล้านบาท

ในขณะเดียวกันเครือบุญรอดเองก็มีคลังสินค้าอยู่ประมาณ 50  แห่ง เมื่อรวมกับคลังสินค้าของเอเย่นต์จะมีทั้งหมดประมาณ 300 แห่ง พื้นที่รวมกันมากกว่า 200,000 ตารางเมตร

จุดยุทธศาสตร์สำคัญของคลังสินค้าอยู่ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้างขึ้นเมื่อ 3-4 ปี ด้วยงบลงทุนครั้งใหญ่มูลค่า 1,500 ล้านบาท ด้วยที่นี่ถือเป็นศูนย์การของการขนส่งสินค้าไปยังภาคเหนือ กลาง และอีสาน ส่วนภาคใต้ก็ถือเป็นจุดพักสินค้าก่อนที่จะถูกส่งออกไป

แต่ถึงจะมีทั้งระบบโลจิสติกส์และคลังสินค้าเป็นของตัวเองหากปัญหา 8 ปีที่เขาพบยังทำเองได้ไม่ดีพอโดยเฉพาะเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุน จึงเป็นที่มาของการหาพาร์ตเนอร์เข้ามาช่วย

ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ต๊อดปิติ จึงเดินหน้าเข้าไปติดต่อกับบริษัททั้งไทยและต่างประเทศ คุยมาหลายรายในที่สุดก็สนใจลินฟ้อกซ์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการคลังสินค้าและขนส่งจากประเทศออสเตรเลีย

ลินฟ้อกซ์มีประสบการณ์ในไทยมา 25 ปีและยังมีเครือข่ายอยู่ในเอเชีย มีวัฒนธรรมการทำธุรกิจแบบครอบครัวเหมือนกับบุญรอดฯ จึงนำไปสู่การตัดสินใจร่วมทุนกันในที่สุด

โดยทั้งคู่ถือหุ้นเท่าๆ กัน รายละ 50:50 เพื่อร่วมกันเปิดบริษัท บีอาร์เอฟ โลจิสติคส์ จำกัด” ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท ใช้ชื่อเครื่องหมายการค้าBevChain Logistics” โดยเครือบุญรอด บริวเวอรี่ ได้ตั้งบริษัท บุญรอด ซัพพลายเชน จำกัดให้เข้ามาจดทะเบียน ส่วนลินฟ้อกซ์อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ก็ตั้ง บริษัท ลินฟ้อกซ์ โฮลดิ้งส์ 2018 (ประเทศไทย)” ขึ้นมาเป็นตัวแทนในการตั้งบริษัทใหม่เช่นเดียวกัน

จากนั้นจะนำเงินไปซื้อสินทรัพย์จากลีโอลิ้งค์ซึ่งหลังจากนี้ชื่อบริษัทยังคงอยู่แต่ไม่ได้มีการดำเนินธุรกิจแล้ว เพราะพนักงานทั้งหมดจะโอนไปสู่บริษัทใหม่รวมไปถึงใช้ซื้อสินทรัพย์บางส่วนของลินฟ้อกซ์

การจับมือครั้งนี้ทำให้เครือบุญรอดเป็นพาร์ตเนอร์รายที่ 2 ของลินฟ้อกซ์ และเป็นรายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ทั้งนี้จุดแข็งของลินฟ้อกซ์คือความรู้และความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสินค้าและการขนส่ง ถือเป็นบริษัทให้บริการด้านโลจิสติกส์เอกชนที่ใหญ่ที่สุดในภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก มีธุรกิจครอบคลุมตลาดใน 12 ประเทศ มีคลังสินค้ากว่า 200 แห่ง มีพนักงาน 24,000 คน ให้บริการส่งสินค้าไปยังตลาดทั่วโลก ครอบคลุมหลากหลายเซ็กเตอร์ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ธุรกิจค้าปลีก อุตสาหกรรมเหมืองแร่ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีฯ มูลค่ารวมกว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะที่จุดแข็งของบุญรอดคือประสบการณ์ขนส่งสินค้าและบริการมานาน 85 ปี ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เจาะลึกตั้งแต่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (โมเดิร์นเทรด) ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ระบบเอเย่นต์ตัวแทนจำหน่ายในทุกๆ จังหวัด ลงลึกถึงระดับอำเภอมากกว่า 200 ราย ไปจนถึงร้านค้าย่อยทั่วทั้งประเทศกว่า 200,000 ร้าน ซึ่งยอดขายของเครือบุญรอด 80% มาจากกลุ่มนี้ มีเพียง 20% เท่านั้นที่มาจากโมเดิร์นเทรด

ต๊อดปิติ บอกว่า BevChain Logistics จะเน้นให้บริการที่เป็นมาตรฐานเดียวกับในออสเตรเลีย ทั้งการให้บริการทางด้านการบริหารจัดการคลังสินค้า การให้บริการทางด้านจัดส่งสินค้า เป็นต้น แต่สิ่งที่แตกต่างออกไปคือ การเจาะกลุ่มเป้าหมายซึ่งกลุ่มแรกจะมองในกลุ่มเครื่องดื่ม ก่อนที่จะขยับไปยังอาหารและสินค้า FMCG

เบื้องต้น BevChain Logistics จะเน้นซัพพอร์ตในเครือบุญรอด ทั้งเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า โซดา เบียร์ และยังมีกลุ่มอาหารอีก 14 บริษัทที่จะเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มบุญรอด ในอนาคตจะมีทั้งอาหารแช่แข็ง ร้านอาหาร ดังนั้นการมีซัพพลายเชนจะมารองรับธุรกิจในส่วนนี้ด้วย

หลังจากรวมกันแล้วทั้งเครือบุญรอดและลินฟ้อกซ์มีรายได้จากธุรกิจขนส่งและคลังสินค้ารวมกันประมาณ 7,000 – 8,000 ล้านบาท เป็นรองเบอร์ 1 ที่มีรายได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท

ลินฟ้อกซ์มีฐานลูกค้าประมาณ 14 ราย เช่น ไมเนอร์และโลตัส ทางลินฟ้อกซ์ก็ดูแลต่อไป ส่วนลูกค้าใหม่ที่เข้ามาจากนี้ก็จะเป็นของบริษัทใหม่ ขณะนี้มีได้มีการพูดคุยกับรายใหญ่ๆ ประมาณ 2-3 ราย

การรับลูกค้าภายนอกขนส่งเร็วขึ้นช่วยลดต้นทุนซึ่งเป้าที่วางไว้จะต้องลดต้นทุนลง 10-15% และยังมีรายได้เข้ามาเสริมด้วย

เขา ยกตัวอย่าง หากต้องการให้การขนสินค้าต่อเที่ยวมีกำไร จะต้องทำให้สินค้าเต็มคันรถหรือมากกว่า 90% ขึ้นไป ซึ่งต้องใช้เวลา 7-8 วันในการสั่งและรอสินค้า กลับกัน ถ้าให้สินค้าตัวเองมีประมาณ 50% อีก 50% รับขนส่งให้ลูกค้าข้างนอก จะใช้เวลาเหลือ 3 วัน

ดังนั้นสินค้าจะมีความสดใหม่มากขึ้น อีกทั้งต้นทุนทั้งเราและรายอื่นลดลงด้วย เพราะแบ่งต้นทุนขนส่งรวมกัน ไม่ใช่แค่นั้นบุญรอดยังจะมีรายได้เข้ามาเสริม

ภายใน 3 ปีเชื่อว่า BevChain Logistics จะมีรายได้ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 50% จากในเครือ และอีก 50% จากรายอื่นๆ

หลังจากนั้นจะขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) เนื่องจากมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อีกทั้งยังเป็นตลาดสำคัญของสินค้าและบริการจากประเทศไทย

อีกทั้งยังมีเป้าหมายไปยังฝั่งอเมริกาและยุโรปซึ่งมีประสบการณ์ขายเบียร์กว่า 50 ปีที่อังกฤษ ส่วนธุรกิจใหม่นี้ถ้าเข้าไปจะเริ่มที่เนเธอร์แลนด์ เพราะถือเป็นศูนย์การของยุโรป

ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจโลจิสติกส์ในประเทศไทยปี 2018 อยู่ที่ 215,000 ล้านบาท แบ่งเป็นธุรกิจขนส่งสินค้าทางบก 145,100 – 147,300 ล้านบาท และธุรกิจคลังสินค้า มูลค่า 75,500 – 76,700 ล้านบาท

ตลาดขนส่งสินค้าทางบกเติบโต +5.3-7% PY (137,700 ล้านบาท) คลังสินค้า + 5.3 – 7% PY (71,700 ล้านบาท) ด้วยปัจจัยจากการขยายตัวของเศรษฐกิจ การลงทุนของภาครัฐและเอกชน การขยายตัวของ E-commerce ปัจจัยการปรับรูปแบบจาก Offline platform to Online platform ทำให้มีความต้องการคลังสินค้าพรีเมียมมากขึ้น.