Trendy-Stylish-Elegant ดูจะเป็น 3 คำนิยามที่ลงตัวสำหรับแพ็กเกจจิ้ง Sleek Can ที่มีวิวัฒนาการมาจากกระป๋องทรง Slimline หรือทรงเพรียวเรียวชะลูดที่ฮอตฮิตในญี่ปุ่นมายาวนานกว่า 40 ปีแล้ว ด้วยรูปลักษณ์ที่แฟชั่นดูไม่เชยเหมือนกระป๋องทรงป้อม เตี้ย แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถผลิตกระป๋องปากแคบและใช้อะลูมิเนียมน้อยลงด้วย งานนี้ใครๆ ก็เลยอยากร่วมเทรนด์ Sleek แพ็กเกจจิ้งขั้นเทพกันเป็นแถว เพราะได้ทั้งภาพลักษณ์ที่หรูหราขณะเดียวกันก็ลดต้นทุนได้อย่างมีนัยสำคัญอย่างน้อยๆ 16% เลยทีเดียว
ทำไมต้อง Sleek Can
Sleek หมายถึง โก้ เฉี่ยว เพรียว ดูทันสมัย แม้จะไม่มีการรายงานอย่างเป็นทางการว่า Sleek Can ถือกำเนิดขึ้นเมื่อใดกันแน่ แต่โคคา-โคล่า เริ่มใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2548 ด้วยขนาด 250 มล. 300 มล. และ 330 มล. เป็นขนาดยอดนิยมของ Sleek Can
Sleek Can ถือเป็น Trendy Packaging ในขณะนี้ ไม่เฉพาะ Bottler ของน้ำอัดลมเท่านั้นที่นิยมใช้ แต่ยังรวมถึงเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำผลไม้ แต่ในประเทศไทยที่เห็นวางจำหน่ายกันยังจะต้องนำเข้ากระป๋องจากมาเลเซียอยู่ (ยกเว้นหาดทิพย์) และส่วนใหญ่ใช้เพื่ออัพเกรดเข้าหากลุ่มเป้าหมายอีกระดับที่มีกำลังซื้อสูงกว่าเดิม
ทั้งนี้ Sleek Can ของโค้กในประเทศไทยเกิดขึ้นโดยหาดทิพย์เป็นรายแรก จะมีขนาดเล็กลงจากขนาดปกติ 325 มล. เป็น 240 มล. นอกจากนี้ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งรสชาติและสีของแพ็กเกจจิ้ง แต่ด้วยปริมาตรที่เล็กลงกลับขายได้ราคาสูงขึ้นจาก 13 บาท เป็น 15 บาท
เมื่อเปรียบเทียบขนาดของแพ็กเกจจิ้งแบบกระเป๋องของโค้กในไทย พบว่า
ขนาด ความสูง (ซม.) เส้นผ่านศูนย์กลาง (ซม.)
Sleek Can 240 มล. 14 5.5
325 มล. 12.5 6
240 มล. (ทรงป้อม เตี้ย) 10 6
ด้วยรูปทรงเพรียวบาง กระชับมือทำให้แพ็กเกจจิ้ง Sleek can ดู พรีเมียมและทันสมัย เหมาะกับผู้บริโภคที่มีไลฟ์สไตล์แบบเทรนดี้ คือ วัยรุ่นทั้งชายหญิง และวัยเริ่มทำงานอายุ 16-39 ปี เจาะช่องทางไฮเอนด์อย่างโรงแรม ร้านอาหารและผับ บาร์ ซึ่งแม้จะมีการอัพราคาขึ้นไปอีกแต่สินค้าในช่องทางนี้ผู้บริโภคจะมี Price Sensitive ต่ำอยู่แล้ว
ขณะที่แพ็กเกจจิ้งเดิมก็ยังคงจำหน่ายต่อไปในช่องทาง Traditional Trade และ Modern Trade แต่ก็ได้ใช้เทคโนโลยีที่ทำให้กระป๋องใช้อะลูมิเนียมในการผลิตน้อยลง ปากกระป๋องจะมีรูปทรงแคบกว่าขนาด 325 มล. ที่จำหน่ายในกรุงเทพฯ และภาคอื่นๆ เป็นการออกแพ็กเกจจิ้งด้วยแนวคิดโอกาสในการดื่มตามวาระที่แตกต่างกัน หรือ Occasion Based Consumption
ปัจจุบันนอกจากโค้กแล้วยังมีสไปร์ทที่ผลิตในรูปแบบ Sleek Can ด้วย ขณะที่แฟนต้า และผลิตภัณฑ์อื่นๆ จะทยอยออกมาสร้างสีสันในรูปแบบ Sleek Can นี้เช่นเดียวกัน
การกำเนิดของ Sleek Can และการรุกตลาดอย่างหนักของอาเจ บิ๊กโคล่า และน้ำดำจากค่ายซานมิเกล รวมถึง Happy Cola 7-eleven แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ตลาดน้ำดำมีการแบ่งเซ็กเมนต์ที่เด่นชัดแล้ว ทั้งจากราคาและช่องทางจำหน่าย
แม้ Coke Sleek Can คือ ความสดใหม่ของโค้กล่าสุด แต่แฟนๆ โค้กชาวกรุงฯ และภูมิภาคอื่นๆ ต้องตั้งตารอต่อไป เพราะปัจจุบันจำหน่ายเฉพาะพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้เท่านั้น ซึ่งต้องรอดูท่าทีของไทยน้ำทิพย์ว่าจะทำอย่างไรต่อไป ขณะเดียวกันก็ไม่แน่ว่าฝากเสริมสุข Bottler หนึ่งเดียวของเป๊ปซี่ โคลา ในไทยจะปฏิบัติการมาเหนือเมฆกับ Pepsi Sleek Can แบบปูพรมทั่วประเทศหรือไม่ เพราะที่เมืองนอกเป๊ปซี่ก็มี Sleek Can จำหน่ายด้วยเหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมแพ็กเกจจิ้งครั้งนี้นับว่าตอกย้ำความเป็นผู้นำของหาดทิพย์ในตลาดน้ำดำภาคใต้ให้เด่นชัดขึ้นไปอีก จากปัจจุบันซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดราว 63%
Can Packaging…แตกต่างแต่ตอกย้ำ Coke Culture
Bottler ทั้งหลายได้รับสิทธิ์ในการเลือกขนาดที่เหมาะสมสำหรับแต่ละพื้นที่ได้ เฉพาะแพ็กเกจจิ้งแบบกระป๋องของโค้กทั่วโลกมีไม่ต่ำกว่า 40 ขนาดทั่วโลก โดยสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหราชอาณาจักร มีแพ็กเกจจิ้งแบบกระป๋องที่หลากหลายที่สุด ด้วยความแตกต่างดังกล่าวจึงทำให้กระป๋องโค้กกลายเป็นของสะสมยอดนิยมของแฟนๆ โค้กทั่วโลก
ตัวอย่างแพ็กเกจจิ้งแบบกระป๋องที่หลากหลายของโค้กทั่วโลก
330 มล. Sleek Can ในยุโรป
325 มล. เป็นขนาดที่มีเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์
240 มล. ทรงเตี้ย ป้อม ราคา 10 บาท โดยไทยน้ำทิพย์ เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน
400 มล. จำหน่ายเฉพาะที่แอลจีเรีย
135 มล. 160 มล. 190 มล. จำหน่ายเฉพาะที่ญี่ปุ่น (ทั้งหมด 13 ขนาด)
156 มล. 326 มล. จำหน่ายเฉพาะที่สหรัฐอเมริกา (ทั้งหมด 10 ขนาด)