เมื่อผู้บริโภคไม่เชื่อแบรนด์! โฆษณาแบบไหนคือทางออก กรณีศึกษา Dtac กับการปั้น Accelerate Creator

ยุคนี้การทำโฆษณาผ่านช่องทางดิจิทัลถือเป็นเทรนด์ที่มาแรง และแบรนด์เองให้ความสำคัญมากขึ้น สะท้อนจากข้อมูลของสมาคมโฆษณาดิจิทัลที่ระบุว่า เม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลปี 2018 จะเติบโตสูงถึง 21% หรือคิดเป็นมูลค่า 14,973 ล้านบาท

นอกเหนือจาก “Facebook” ที่ครองเม็ดเงินส่วนใหญ่กว่า 30% แพลตฟอร์มที่รองลงมาคือ “Youtube” ด้วยสัดส่วน 18% หรือคิดเป็นมูลค่า 2,690 ล้านบาท

ต้องบอกว่าเทรนด์วิดีโอถือเป็นหนึ่งในเทรนด์ที่นักการตลาดมองกันว่า จะได้รับความสนใจทั้งจากทั้งผู้บริโภคและแบรนด์มากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบรนด์ในฝั่งโทรคมนาคม ที่มักจะหยิบเอาวิดีโอมาสร้างแรงดึงดูด ท่ามกลางการแข่งขันอย่างดุเดือด

“Dtac” ก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ให้ความสำคัญกับวิดีโอ จนยอดทุ่มงบการตลาดให้กับสื่อชนิดนี้และสื่อดิจิทัลในทุกแพลตฟอร์มจนติด Top 3 หรือคิดเป็นสัดส่วน 30% ของการใช้งบเลยทีเดียว

แต่ถึงผลงานการทำวิดีโอส่วนใหญ่จะยังคงว่าจ้างให้เอเจนซี่โฆษณาทำขึ้นมาก็ตาม แต่จากพฤติกรรมที่ Dtac ตรวจพบคือ ผู้บริโภคมักจะเชื่อและให้ความสนใจบุคคลที่ 3” เมื่อกล่าวถึงแบรนด์มากกว่า โฆษณาที่ Dtac ทำขึ้นมาเองด้วยซ้ำ

ทำให้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา Dtac ตัดสินใจทำโครงการ Hackathon” เปิดทางให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์บนแพลตฟอร์ม YouTube ให้มาเข้าร่วมสร้างคอนเทนต์วิดีโอตามโจทย์ที่ Dtac กำหนดให้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นแคมเปญที่ Dtac ต้องการโปรโมต

Hackathon จัดไปแล้ว 2 ครั้งเมื่อเดือนมกราคม และ มิถุนายน มีทีมที่ผ่านเข้ารอบและได้ทำผลงานจริงประมาณ 10 กว่าทีม โดยวิดีโอที่สร้างขึ้นจะถูกอัพโหลดในชาแนลของทีมผู้สร้าง และโปรโมตในช่องทางของ Dtac ด้วย

ปานเทพย์ นิลสินธพ รักษาการรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดิจิทัล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ Dtac กล่าวว่า สิ่งที่ Dtac พบและเกิดขึ้นใน Hackathon คือ ราคาต่อการเข้าชม (Cost per View) อยู่ที่ 1 ใน 4 ของค่าที่ Dtac เคยทำมา

ยิ่งไปกว่านั้นอัตราการชมวิดีโอ (View Through Rate) สูงเกือบ 70% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ Dtac ที่ผ่านมาถึง 2 เท่า บางคอนเทนต์พุ่งไปถึง 92% เลยก็มี

ถ้าเทียบให้เห็นภาพเลยคือ ในขณะที่วิดีโอที่ Dtac ทำขึ้นมาผู้บริโภคชมเฉลี่ย 30-40 วินาทีเท่านั้น ต่างจากของครีเอเตอร์ที่มีค่าเฉลี่ย 3-4 นาที ซึ่งการทำวิดีโอใน Youtube สามารถเล่าเรื่องราว และใส่รายละเอียดได้มากกว่า TVC ที่จำกัดด้วยราคากับระยะเวลา 15 วินาทีหรือ 30 วินาที

ส่วนเหตุผลที่ว่าทำไมถึงต้องใช้ครีเอเตอร์ มาจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มักจะเชื่อบุคคลที่ 3 ถ้าให้เอเจนซี่ก็ยังออกมาจาก Dtac อยู่ดี อีกทั้งยังขาดความเป็นธรรมชาติที่ครีเอเตอร์มี และยังต่างด้วยความคิดสร้างสรรค์

เพื่อต่อยอดความคิดนี้ Dtac จึงได้มือกับ YouTube ประเทศไทย, VRZO, Buffet Channel, The Ska Film, Softpomz และอีกหลายพันธมิตรจัดโครงการ dtac accelerate Creator” ที่จะมีการอบรมและฝึกสร้างคอนเทนต์อย่างเข้มข้นขึ้น โดยเจาะกลุ่มนักเรียน นักศึกษาอย่างเดียว คาดว่าจะมีทีมที่ร่วมทั้งหมด 16 ทีม

เบื้องต้นเรื่องที่ทำจะเป็นเรื่องของ Dtac ก่อน แต่หลังจากที่จบโครงการไปแล้ว Dtac ได้คุยกับพันธมิตรหลายราย เพื่อส่งงานให้ทำต่อไป

ท้ายที่สุด Dtac บอกว่า ความสำคัญของเอเจนซี่โฆษณายังคงมีอยู่ เพราะต้องทำหน้าที่ดูแลภาพรวมของการทำตลาด พร้อมกับดูแล KOL (Key Opinion Leader) อยู่แล้ว ซึ่งโครงการที่ทำก็ถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของ KOL ด้วยเช่นกัน

และ Dtac ยังไม่มีแผนที่จะผันตัวเองไปเป็นเอเจนซี่ที่รวมครีเอเตอร์เอาไว้ด้วยกัน แต่สิ่งที่กำลังทำอยู่คือการตอบแทนสังคมในรูปแบบหนึ่งที่ Dtac สามารถทำได้ ซึ่งถ้าเป็นไปได้โครงการนี้ ยังวางแผนที่จะมีเรื่อยๆ ทุกปี เหมือนกับ dtac Accelerate ที่เข้ามาผลักดันให้กับสตาร์ทอัพ 6 ปีแล้ว.