เมื่อ “ทอล์กโชว์” ไม่ใช่สูตรสำเร็จของ “วู้ดดี้” อีกแล้ว

บทความโดย : Thanatkit 

ต้องบอกว่า เรื่องที่สร้างเสียงฮืออา และ “Talk of the Town” ที่สุดในวงการโทรทัศน์ปี 2017 คงหนีไม่พ้นกรณีที่ “วู้ดดี้ – วุฒิธร มิลินทจินดา” ที่อยู่ในวงการมานานถึง 20 ปี ตัดสินใจปิดตัวรายการ “วู้ดดี้ เกิดมาคุย” รายการกลางคืนที่ทำมายาวนานถึง 9 ปี และ “วูดดี้ ตื่นมาคุย” ท่ามกลางข่าวลือกันว่าปิดเพราะติดหนี้ แต่สุดท้ายวู้ดดี้ออกมาระบุถึงเหตุผลที่ปิด เป็นเพราะต้องเบนเข็มเข้าสู่วงการออนไลน์ 100%

เราค้นพบว่า ถ้าไม่ตัดทีวีออกไป ทีมก็จะไม่สามารถรุกออนไลน์ได้ 100% เนื่องจากสิ่งที่เจอคือรายการทอล์กโชว์ที่ทำ มีจุดขายไม่กี่อย่าง เช่น ขายเรตติ้งไปแลกกับสปอตโฆษณาตัวละเป็นแสนกับ Tie-in แบรนด์ในรายการ หากความเป็นจริงการซื้อขายโฆษณาเปลี่ยนไปทุกไตรมาส ลูกค้ามีความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น วู้ดดี้จึงต้องปรับ

พอคิดเร็วทำเร็วมากก็จะมีคำตอบทันที สิ่งที่เขาค้นพบในช่วงเวลาที่โลดแล่นอยู่บนออนไลน์ราว 6 เดือน มี 3 เรื่องด้วยกัน

  1. ถึงจะมีรายได้จากไลฟ์ที่เข้ามา แต่จะมีความเจ็บไวตรงที่ไม่มีความแน่นอน
  2. ทีมต้องไว เพราะทีมทีวีจะคิดเป็นวันต่อวัน พอเป็นออนไลน์ต้องคิดพร้อมทำเดี๋ยวนั้นเลย โลกมันรอไม่ได้ จึงต้องเทิร์นโอเวอร์พนักงานบางส่วนที่ยังคิดแบบทีวีเดิมๆ ไม่ชินกับความเร็วออกไป ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ ดังนั้นทรัพยากรบุคคลสำคัญมาก
  3. Media Buyer บางส่วนยังให้ความสำคัญกับช่องทางทีวีอยู่ เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่องทางที่สามารถวัด KPI ได้ชัดเจน

ในที่สุดวู้ดดี้ก็ตัดสินใจหวนคืนสู่หน้าจอทีวีอีกครั้ง ผ่านรายการ “Woody World วู้ดดี้เวิลด์ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 22.15 ทางช่องเวิร์คพอยท์ Workpoint 23 โดยเริ่มตอนแรกในวันที่ 6 มกราคม 2018

วู้ดดี้บอกว่า ไม่ใช่ว่าเจ็บตัวแล้วกลับมา ความจริงก็คือ คุณชลากรณ์ (ชลากรณ์ ปัญญาโฉม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี) เข้ามานั่งคุยวันเว้นวันถึงความเป็นไปได้ในการทำรายการ สุดท้ายก็ลองดูซิว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าว่าครึ่งปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร นี่น่าจะเป็น Business Unit เดียวที่ยังไม่เห็นการเติบโต

ถึงอย่างนั้นก็ยังทำต่อ เพราะอยากเห็นผลลัพธ์ที่คาดว่าจะเกิดภายในสิ้นปีนี้ ตัววู้ดดี้เองก็บอกว่า ฟอร์แมตที่ทำไม่เข้ากับยุคสมัยนี้แล้ว เดิมคิดว่าการทำทอล์กที่เป็นกระแสเข้ามาจะได้รับความสนใจ แต่ตอนนั้นยังไม่มีออนไลน์เข้ามาเกี่ยวข้องทุกอย่างเลยรอได้ ไม่เหมือนสมัยนี้ที่ออนไลน์ทำให้เข้าถึงกันหมด

ทำให้ต้องคิดนอกกรอบ การสัมภาษณ์จึงต้องดูง่ายและสบาย แต่สิ่งที่ว่าก็ไม่พอสำหรับ Workpoint ที่มีคาแร็กเตอร์สนุกสนาน ซึ่ง Workpoint เป็นช่องที่เจ๋งและจับจุดถูกที่เลือกมาสายบันเทิง เราเองต่างหากที่บอกเลยว่าปรับตัวไม่ทัน แต่ตอนนี้ต้องปรับ และภายในสินปีนี้ ถ้าเวิร์ค ไปต่อ ถ้าไม่เวิร์ค ไม่ไปต่อ

สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจที่วู้ดดี้ทำเท่านั้น แต่อาณาจักร “Woody World” ที่แท้จริงประกอบไปด้วย Business Unit ถึง 4 ขาด้วยกัน ได้แก่ 1.Communication Plan, 2.Content Management 3.Event และ 4.Media

อีเวนต์รวมรายได้กว่า 50%

หลายคนอาจมองว่า รายได้หลักของ “Woody World” มาจากรายการทั้งหลายแหล่ที่ทำ แต่ความเป็นจริงรายได้หลักกว่า 50% มาจากการทำอีเวนต์ที่วันนี้มีอยู่ 3 งานหลักไม่นับงานย่อยๆ อีกปีละมากกว่า 20 ครั้ง ได้แก่ S2O ทำมา 5 ปี, Fit Fest กำลังจะทำปีที่ 2 และ The Bangkok Countdown ทำมา 1 ปีแล้ว

วู้ดดี้ เล่าให้ฟังว่า ทุกโปรเจกต์ของ Woody World ในการทำปีแรกจะติดลบเสมอ อย่าง S2O ปีแรกลงทุน 90 ล้านบาท ขาดทุนไปถึง 40 ล้านบาท เข้าสู่ 3 ปีถึงทำกำไร จากแบรนด์ที่เริ่มติด คนเริ่มมาเยอะ อย่างปีแรกคนมาประมาณ 20,000 คน ส่วนปีนี้ 3 วันมีคนเข้างานทั้งหมด 60,000 คน

รายได้ในปีแรกยอดขายบัตรกับสปอนเซอร์มีสัดส่วน 50:50 ปีที่สอง 30% ปีที่สาม 20% ปีล่าสุด 10% ถ้าจะอยู่ได้ต้องมาจากการขายบัตรถึงจะมีกำลัง ทั้งนี้ก็ยังมีสปอนเซอร์ที่อยู่มาทุกปีอย่าง เป๊ปซี่และไฮเนเก้น

ปีที่ผ่านมาขยายใหญ่ บัตรขายหมดล่วงหน้า 1 เดือน ทำให้มีการนำบัตรไปขายต่อบางคนปั๊มราคาเป็นเท่าตัว สิ่งหนึ่งที่ได้เรียนรู้จากกรณีนี้คือ เมื่อราคาบัตรเป็นเท่าตัวในฐานะผู้จัดต้องคิดดีๆ ว่าจะจัดการอย่างไรต่อ เพราะคนที่ซื้อบัตรมูลค่า 5,000 บาท แต่ต้องจ่าย 10,000 บาท เวลาเดินเข้ามาในงานความคาดหวังก็ต้องเป็น 10,000 บาท และเราก็ไม่มีสิทธิ์มาพูดว่า ก็แล้วแต่เค้าที่ตัดสินใจซื้อบัตรมาต่อเอง

นี่จึงกลายเป็นความท้าท้ายของทีมมิวสิค เฟสติวัล ที่ต้องทำให้คุ้มค่าบัตรที่เข้ามา สมมุติลงทุน 90 ล้านบาท ต้องให้ความรู้สึกเหมือนกับลงทุน 200 ล้านบาท

ซึ่งปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างนั้นอยู่ที่ขยะโดยตำแหน่งของวู้ดดี้ใน S2O คือตำแหน่งกวาดเก็บ ถ้าคนที่เข้ามาในงานก็จะตกใจว่าบนพื้นทำไม่มีขยะ เรามีเจ้าหน้าที่เก็บเรียลไทม์ กระป๋องตกพื้นปุ๊บเก็บทันที ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคุยกับใครมาก่อน โดยก่อนงานเริ่ม ก็จะเข้าไปคุยกับแม่บ้านหรือคนที่เก็บขยะ โน้มน้าวให้ทุกคนทำในสิ่งที่เราอยากได้ ด้วยเวลาไปเทศกาลดนตรีต่างๆ มักจะเหยียบขยะ แล้วรู้สึกไม่สนุกเลย

อีกปัจจัยที่ตามมาอยู่ที่แสง สีแสง ต้องให้ความรู้สึก 100 ล้านบาท และขนาดของเวทีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

S2O เริ่มออกดอกออกผล

S2O

เมื่อเข้าสู่ปีที่ 4 S2O เริ่มออกดอกออกผลให้วู้ดดี้เก็บเกี่ยว เพราะได้ขยายไปจัดงานที่ต่างประเทศครั้งแรก

ถึงปีนักท่องเที่ยวชาวจีนจะคิดเป็น 35% ของผู้ที่มาร่วมงาน 10% เป็นชาวต่างชาติ ที่เหลือ 55% เป็นคนไทย แต่ “S2O” กลับไม่ได้เป็นตัวเลือกแรกที่ถูกขยายไป

จีนเคยเป็นประเทศหนึ่งที่อยากไป แต่สุดท้ายก็หยุดไปเพราะคิดว่าไม่สามารถคอนโทรลได้ ด้วย 1.ไม่มีความชัดเจนของพาร์ตเนอร์ เพราะว่าที่จีนพาร์ตเนอร์ที่คุยส่วนใหญ่จะเน้นขนาดและจำนวน แต่ทีมต้องการพาร์ตเนอร์ที่สนใจเรื่องคุณภาพของคอนเทนต์ซึ่งยังไม่เจอ แต่ที่ญี่ปุ่นเจอ ดังนั้น S2O จะไม่ใช่ขายไปแล้วขยายๆ ค่อนข้างมีรายละเอียดเยอะ ด้วยมีน้ำจึงต้องมีความปลอดภัยด้วย

ครั้งแรกของ S2O ในญี่ปุ่นจัดขึ้น 4-5 สิงหาคมที่ผ่านมา ที่ โอไดบะ” (Odaiba) มีคนเข้าประมาณวันละ 10,000 คน รวม 2 วันมีผู้เข้าร่วมงานราว 20,000 คน แผนที่วางไว้ต่อจากนี้จะเปิดปีละเมือง ส่วนปีหน้ากำลังมองหาอยู่ ด้วยทำสัญญา 3 ปีในรูปแบบของแฟรนไชส์

ส่วน S2O ในเมืองไทยปีที่ 5 ก็กำลังจะย้ายสถานที่ เนื่องจากที่เดิมแออัดและรับคนไม่พอแล้ว

Fit Fest ขยายต่อเป็นปีที่ 2

ด้าน Fit Fest งานที่รวบรวมเกี่ยวกับการออกกำลังาย ถึงปีแรกจะเสมอตัว มีคนเข้าร่วมงาน 24,000 คน แต่ในปีที่ 2 นี้เริ่มทำกำไรแล้ว และคาดหวังจะมีคนมางานไม่น้อยกว่า 40,000 คน

สิ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาในปีนี้ คือการเรียกกระแสด้วย “BNK48” และตูน อาทิวราห์รวมไปถึงฟิตเนส คอนเสิร์ต เอาอินฟลูเอนเซอร์มาเป็นผู้นำการออกกำลังกายแบบแมส เอาคนที่รู้จักมาก คนรู้จักบ้าง หรือคนไม่ค่อยรู้จักเลยขึ้นมาปั้น แล้วจะขยายผลให้เป็นกิจกรรมประจำ โดยทุกปีก็จะมี Fit Fest ส่วนทุกไตรมาสก็จะมีโชว์แบบนี้ ซึ่งตอนนี้กระแสฟิตเนส คอนเสิร์ตในอเมริกาหรือยุโรป เริ่มต้นจาก Boot Camp หรือในฟิตเนส แต่ยังไม่ได้มีการจัดเต็ม แสง สี แสง เหมือนที่จะทำใน Fit Fest เลยหวังว่าจะเป็นผู้นำตลาดในตรงนี้

พร้อมกันนี้ยังวางแผนต่อยอด Fit Fest ไปสู่การมีแพลตฟอร์มสำหรับการออกกำลังกาย ด้วยทุกวันนี้สามารถติดตามได้ทาง Facebook เป็นหลัก อนาคตมองไปถึงคลาสออกกําลังกายที่ไลฟ์ ผ่านการจับมือกับยิมต่างๆ อินฟลูเอนเซอร์ เพื่อออกชิ้นงานที่สามารถขายได้ แต่ยังไม่ได้มองว่าจะเป็นในโมเดล Subscription หรืออย่างไร ปัจจุบันให้ดูฟรีไปก่อน เพราะมีการจับมือกับแบรนด์ต่างๆ มาสนับสนุน นอกจากนี้ต่อไปวางแผนที่จะทำ Fit Fest Plus สำหรับผู้ใหญ่ และ Fit Fest Kid สำหรับเด็ก

บอกเลยว่าตลาดเฮลท์แอนด์ฟิตเนส สำหรับวู้ดดี้ก่อนหน้านี้ถือเป็นตลาดที่ไม่ได้มีความชัดเจน เลยมองว่า เป็นหนึ่งในกลุ่มแรกที่ทำ เหมือนกับตอนที่ทำ S2O เราบ้าอยากทำอะไรที่ไม่เหมือนคนอื่นก่อน มีอะไรขาดในตลาด สมัยก่อนขาดทอล์กโชว์ที่ถามตรง เลยมีวู้ดดี้เกิดมาคุย รวมถึงเป็นพรีเซ็นเตอร์ของโคเรียคิง ที่ชูจุดเด่นกระทะไม่ต้องใช้น้ำมัน ซึ่งแต่ละอย่างที่ทำต้องมั่นใจว่าไม่ใช่สิ่งที่ตลาดมีอยู่แล้ว

The Bangkok Countdown จะไปต่อดีไหมนะ ?

ขณะที่ The Bangkok Countdown ยังอยู่ในระหว่างการตั้งคำถามอยู่ว่า จะไปต่อไหม ? เพราะกำลังมีอีกโปรเจกต์เข้ามา เป็น JV (Joint Venture) กับชาวต่างชาติ ทำมิวสิค เฟสติวัล

ด้วยกำลังที่มีอยู่ลังเลอยู่ว่าจะไปในทิศทางไหน ทำ The Bangkok Countdown หรือ อีเวนต์ใหม่แกะกล่องกับชาวต่างชาติที่ทำมิวสิค เฟสติวัล ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป กำลังจะมาปีหน้าในเมืองไทย

สิ่งหนึ่งที่ทีมเรียนรู้ คือ นำกรุงเทพฯ และเมืองไทย เป็นพื้นที่สำหรับ R&D แล้วพอสำเร็จค่อยขยายต่อ ถ้ามีชื่อเสียงก็จะมีชาวต่างชาติติดต่อเข้ามาเอง แต่โมเดลธุรกิจต่อไปก็น่ามอง เพราะสุดท้ายแล้วเราไม่ต้องการซื้อฟอร์แมตจากที่อื่นมาทำ แต่ต้องการคิดขึ้นมาเอง

แต่ถึงจะมีโปรเจกต์ใหม่เข้ามาตัววู้ดดี้เองก็อยากให้ทำต่อ แต่ผู้ที่รับผิดชอบโปรเจกต์คือน้องชาย กลับมองว่าถ้าไม่ดีและไม่โอเค ก็ไม่อยากทำต่อ เพราะปีที่แล้วผลของการจัดงานคือเสมอตัว

ยกเครื่องรายการครั้งใหญ่

ในขณะที่ฝั่งอีเวนต์ยังไปอย่างสวยหรู เมื่อหันกลับมามองฝั่งคอนเทนต์หรือรายการต่างๆ วู้ดดี้บอกว่า ต้องรื้อใหม่ทั้งระบบ

อีเวนต์โตขึ้นเห็นได้ชัด 20% ในแต่ละปี แต่ในขาของคอนเทนต์กลับกลายพันธ์ุ เพราะมีรายการทีวีรายการเดียว แต่ที่เหลือกระจายเข้าไปสู่ในออนไลน์หมด ผมพูดตามตรงคอนเทนต์ในรอบปีที่ผ่านมาถือได้ว่ามึนที่สุดในการทำ เพราะว่าเราไม่ใช่เจ้าของช่อง เมื่อไม่ใช่การวางผังก็จะไม่ใช่ 24 ชั่วโมง การซื้อขายจะไม่ใช่ตลาดที่มี สิ่งที่พบคือเหนื่อย ปีหน้าต้องทำผังกลับไปเหมือนช่องทีวีเลย พร้อมกับปรับรูปแบบรายการใหม่

โดยรายการ Woody Live จะเป็นเปลี่ยนใหม่มาเดือนละครั้ง ทำใหญ่ไปเลยกับแขกรับเชิญที่ปังที่สุด ทั้งไทยและโลก เนื่องจากเดิม Live บ่อยละคนไม่ดู จากที่คนดูมากสุด 200,000 – 300,000 คน ตอนนี้ต่ำสุดประมาณ 800 คน

เราไม่ได้โทษว่าอัลกอริทึมของ Facebook เปลี่ยนไป แต่ตอนนี้ใครๆ ก็ Live ได้แล้ว คนดูก็ต้องเลือกระหว่างมาดูคน 2 คนที่คุยกับเรื่องชีวิตดีๆ กับอีกคนที่โชว์นมอยู่

รายการทำทันที พูดคุยเกี่ยวกันธุรกิจ ซีชั่น 13 ตอน กำลังจะกลับมา คนแปลงร่าง 40 ตอน ก็จะกลับมาใหม่ ไม่ใช่แค่นั้นในเดือนตุลาคมจะมีรายการ Podcast ชื่อวู้ดดี้เอฟเอ็มที่จะผันตัวเองไปใส่หูฟัง นั่งสัมภาษณ์กับบุคคลระดับประเทศที่ตกผลึกแล้วกับชีวิต ตั้งกล้องรอบตัวแต่ไม่มีทีมงาน จึงคุยกันเรื่องเปิดเผยและลึกซึ่้งเกี่ยวกับชีวิต มีเดือนละ 2 ตอน

วู้ดดี้ บอกว่า ทีมงานก็ถาม ทำไปทำไม ใครจะดู ? แต่ที่ทำเพราะรู้สึกการทำธุรกิจต้องเติมเต็มด้วยไฟและไม่ได้อินกับการสัมภาษณ์ดาราแล้ว ชอบคุยกับนักธุรกิจมากกว่า โปรเจกต์นี้จึงมาจาก Passion จริงๆ และจะไม่เอาลูกค้าด้วย

ส่วนการที่เป็นครีเอเตอร์รายแรกของไทยใน Facebook Watch ตอนนี้ยังไม่ได้คุยรายละเอียดอะไรมาก แต่คาดว่าจะมีรายการ 2-3 ตัวที่จะทำในนี้

เอเจนซี่เว็บไซต์แผนการของวู้ดดี้ในปี 2019

ทั้งหมดคือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในปี 2018 แต่สำหรับปี 2019 วู้ดดี้ได้เผยถึงแผนที่จะทำถึง 2 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรกจะมีการเพิ่มดิจิทัล เอเจนซี่เข้ามาเป็น Business Unit ใหม่ หลังจากพบว่า 2 ปีที่ผ่านมาทีมได้ทำงานให้กับคอนเทนต์ที่ไม่ใช่ของวู้ดดี้เองเยอะมาก แต่อยู่ในรูปแบบของการร่วมมือกับแบรนด์และเอเจนซี่ในการทำขึ้นมา มีสัญญาระยะยาว 1 ปี พร้อมกับใช้สื่อที่วู้ดดี้มีในการกระจายและยังต้องไปซื้อสื่ออื่นๆ ด้วย

ชื่อคร่าวๆ ตอนนี้คือวู้ดดี้ ดิจิทัล เอเจนซี่ แต่ยังไม่ได้เคาะชื่อและจะไม่ใส่คำว่า ดิจิทัล เอเจนซี่ ตอนนี้มีพนักงานแล้ว 6 คน ส่วนลูกค้าหลักๆ ที่อยู่ในมือมี 4 กลุ่มหลัก ไฟแนนซ์ธนาคารอสังหาริมทรัพย์ และกลุ่มสินค้า FMCG

เรื่องที่ 2 วางแผนที่จะทำแพลตฟอร์มเป็นเว็บไซต์ของตัวเองขึ้นมาด้วย ให้เหมือนกับ ellentube.com ที่อเมริกา

ทุกวันนี้วู้ดดี้มีทั้ง Facebook และ  Youtube แต่คำถามคือ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าระบบนิเวศเหล่านี้จะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไหร่ วู้ดดี้รักทุกแพลตฟอร์ม แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ต้องเตรียมตัวสำหรับอนาคต

เว็บไซต์นี้ลงทุนไปกว่า 30 ล้านบาท ภายในจะมีทั้งการจับมือกับอินฟลูเอนเซอร์ในการทำรายการใหม่ คร่าวๆ ตอนนี้มีทั้งหมด 12 รายการ จะถ่ายทำในต้นปีหน้า ออกอากาศในช่วงไตรมาส 2 และในนี้ยังจะเป็น E-Marketplace สำหรับขายสินค้าอีกด้วย

นอกจากนี้วู้ดดี้ยังบอกอีกกว่า กำลังอยู่ในระหว่างการหา CEO เพื่อขึ้นมาบริหารแทนตัวเขาเอง

วู้ดดี้ไม่ได้เกิดมาเป็นผู้บริหาร แต่เกิดมาเป็น Talent ดังนั้นผู้บริหารที่จะมาต้องเป็นคนรุ่นใหม่ที่คิดเร็ว ทำเร็ว แต่ไม่ได้คิดเหมือนกับวู้ดดี้ไปซะทีเดียว ไม่อย่างนั้นก็จะไม่มีอะไรใหม่ๆ เกิดขึ้นเลยวู้ดดี้ว่าอย่างนั้น.