จุดเริ่มต้นจากไอเดียของพนักงานคนหนึ่งของดีแทค ที่คิดว่า “มือถือ” น่าจะเป็น “ตู้เอทีเอ็ม” ได้ เมื่อ 2 ปีก่อน และเสนอให้ผู้บริหารเคาะ ต่อยอดพัฒนาเป็นโปรดักต์ “ATM SIM” เพียง 1 ปี กลายเป็น Case Study ให้วงการธุรกิจโทรศัพท์มือถือศึกษา โดยเฉพาะในเอเชีย ที่ ATM SIM ขึ้นเวทีรับมาแล้ว 4 รางวัล ด้วยเหตุผลหลักคือการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า และการทำกำไรจากนวัตกรรมสินค้าได้จริง
“ทอเร่ จอห์นเซ่น” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค กล่าวชื่นชมทีมงานของดีแทคที่ร่วมพัฒนา ATM SIM หลังรับรางวัล “Most Innovative Application of the Year” ในงาน “2009 Frost & Sullivan Asia Pacific ICT Awards” ที่สิงคโปร์ ท่ามกลางนักธุรกิจในแวดวงอุตสาหกรรมไอที สื่อสาร กว่า 100 คนในย่านเอเชีย เป็นบริษัทเดียวของคนไทยที่ได้อยู่ในอีเวนต์อินเตอร์ครั้งนี้
“ทอเร่” บอกว่า ถือเป็นกำลังใจสำหรับพนักงานทุกคน และสิ่งสำคัญที่สุดคือการสะท้อนถึงศักยภาพของดีแทคที่พร้อมสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ต่อไป ท่ามกลางสถานการณ์ธุรกิจมือถือที่ซบเซา และดีแทคยังต้องออกแรงอีกมากเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ให้ได้
“ธนา เธียรอัจฉริยะ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มพาณิชย์ ดีแทค บอกว่า ATM SIM ที่ดีแทคร่วมกับธนาคารกสิกรไทย หรือเคแบงก์ พัฒนากลายเป็น 1 ใน 4 บริการหลักที่ทำให้ลูกค้าตัดสินใจสมัครใช้บริการดีแทคโดยเฉพาะกลุ่มโพสต์เพด ใน 1 ปี มีลูกค้า 1 ล้านราย ซึ่งถือเป็นซิมที่มีลูกค้ามากที่สุด ความสำเร็จเริ่มต้นจากมีโปรดักต์ที่สามารถตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในกลุ่มวัยทำงานที่เกือบทุกคนมีบัญชีเงินเดือน ต้องโอนเงิน และจ่ายบิลค่าบริการต่างๆ
ความเป็นนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินทำให้ดีแทคใช้งบถึง 30 ล้านทำโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ตั้งแต่ทีวีซี จนถึงสิ่งพิมพ์ เพื่อให้ Mass เห็นและเกิดความเชื่อมั่นว่าบริการนี้มีตัวตนจริง จากนั้นการขายจึงเริ่มต้นด้วยหลักการตลาด “15 minute product”
เพราะบริการนี้เกี่ยวพันกับบัญชีเงินของลูกค้า การตั้งบูธขายตรงที่สาขาธนาคารคือช่องทางที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่ง่ายนัก ซึ่ง “ปกรณ์ พรรณเชษฐ์” ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มบริการเสริมดีแทค บอกว่า ลูกค้าหลายคนไม่อยากเปลี่ยนเบอร์ และไม่มีเวลาฟัง แต่หากลูกค้าสนใจ พนักงานจะอธิบาย ตั้งแต่เลือกเบอร์ ไปจนสาธิตการใช้งาน เช่น การโอนเงิน สุดท้ายไปจบที่ลูกค้ารับเงินจากตู้เอทีเอ็ม ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 15 นาทีก่อนที่จะปิดการขายให้ลูกค้าได้ 1 คน
ATM SIM กำลังพยายามต่อยอด โดยภายในสิ้นปีนี้จะให้บริการลูกค้าโอนเงินให้ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารเคแบงก์ให้สามารถมากดรับเงินที่ตู้เอทีเอ็มได้ โดยมีเพียงรหัสที่ส่งมาจาก ATM SIM เท่านั้น นอกจากนี้ยังเตรียมเรื่องระบบผ่อนจ่ายสินค้ากับอิออนและ เช่าซื้อของเคทีซีลิสซิ่ง นอกเหนือจากการร่วมกับเคแบงก์หาลูกค้าใหม่จากบริษัทที่ต้องเปิดบัญชีเงินเดือนให้พนักงาน ด้วยเป้าหมายมีลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 2 แสนรายจากภาพรวมตลาดมือถือติดลบ
“ธนา” บอกว่า ATM SIM เป็นกรณีศึกษาที่บอกได้เต็มปากว่าได้ทั้งเงิน และทั้งกล่อง เพราะเฉลี่ยมีรายได้จากค่าธรรมเนียม บริการเสริมปีละถึง 100 ล้านบาท ยิ่งสามารถเพิ่มบริการได้มากขึ้น เอทีเอ็มมือถือเครื่องนี้ก็จะยิ่งทำให้ดีแทคส่งพลังหานวัตกรรมใหม่ๆ ได้มากขึ้น
4 บริการที่ลูกค้าใช้บริการ ATM SIM (เรียงตามความนิยม)
1. เช็กยอดบัญชี เฉลี่ยจะเช็กคนละ 7 ครั้งต่อเดือน
2. โอนเงิน มีมูลค่าการโอนเฉลี่ย 1 หมื่นบาทต่อรายการ
3. จ่ายบิล เช่นค่าน้ำ ไฟ
4. ถอนเงิน (เริ่มสิ้นปี 2009)
Did you know?
ปี 2011 คาดว่าจะมีผู้ใช้โมบายแบงกิ้ง ประมาณ 150 ล้านคน อยู่ในยุโรป อเมริกา ประมาณ 70%
ที่มา : จูปิเตอร์ รีเสิร์ช