ประเทศไทยกับสังคมผู้สูงอายุ

เรื่อง : อิษณาติ วุฒิธนากุล

หลายท่านคงทราบกันดีนะครับว่าในอีกราวๆ เพียงยี่สิบปีต่อจากนี้ ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยในปี 2040 กว่า 1 ใน 4 ของประชากรในประเทศไทยจะเป็นผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป สวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จากอัตราการเกิด 6 คนต่อผู้หญิงหนึ่งคนในปี 1960 มาอยู่ที่ราวๆ 1.5 ในปัจจุบัน และยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น อัตราการเกิดไม่ถึง 2 แปลได้ตรงตัวนะครับ ว่าประชากรของไทยจะหดตัวลงในอนาคตอันใกล้นี้ หากมองอย่างผิวเผินหรือไม่ได้คิดถึงปัญหานี้อย่างจริงจัง เราคงไม่ได้รู้สึกอะไรกันมากกับคำว่าสังคมสูงอายุ ก็ถ้าแก่ตัวก็ดูแลกันไปเหมือนที่ผ่านมาๆ แต่หากมองลึกลงไปเราจะพบว่าปัญหาที่ประเทศหรือกระทั่งตัวเราเองกำลังเผชิญ ณ ตอนที่ไทยเราก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในขณะที่อัตราการเกิดลดต่ำลงนั้น เป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่สามารถตัดสินได้ว่าประเทศเราจะรุ่งเรืองหรือถดถอยเลยทีเดียว

จริงๆ แล้วประเด็นนี้ได้ถูกหลายสำนัก หลายองค์กรพูดถึงและถกเถียงกันมาสักระยะหนึ่งแล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าจากปัจจัยเรื่องธุรกิจและผลกำไรในอนาคต ภาคเอกชนดูเหมือนจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ปรับตัวและกระตือรือร้นในการคิดค้นธุรกิจใหม่ๆ เพื่อมารองรับผู้บริโภคสูงวัยในอนาคตอย่างชัดเจนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม ผมยังไม่เห็นนโยบายหรือความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ ซึ่งจุดตรงนี้แหละครับที่ทำให้ผมอดกังวลไม่ได้

อย่างที่เรารู้กันนะครับครับว่าโรคภัยไข้เจ็บเป็นของคู่กายกับผู้สูงวัย ไม่เพียงตัวเราเองที่จะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับด้านสุขภาพเพิ่มขึ้นเมื่อเรามีอายุมากขึ้น ในมุมของประเทศ ประเทศเราเองก็จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นตามจำนวนของประชากรสูงวัยที่มีจำนวนมากขึ้นเช่นกัน คำถามคือเมื่อประเทศเรากลายเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ประเทศเราจะมีเงินจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าดูแลผู้สูงวัยไหวหรือไม่?

จริงๆ แล้วนะครับเราแทบยังไม่ต้องคิดถึงในอนาคตอีกยี่สิบปีข้างหน้า แค่ทุกวันนี้ข่าวที่ว่าโรงพยาบาลได้รับเงินอุดหนุนไม่พอ เตียงคนไข้ไม่พอ บุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ กระทั่งว่ายารักษาโรคไม่พอปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์อยู่เป็นนิจ การให้นักร้องชื่อดังมาวิ่งขอเงินบริจาค หรือการปรับเงินแพทย์ฝึกหัดเพิ่มขึ้นหากออกก่อนกำหนด ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาระยะยาว หากเรายังจัดการกับปัญหาตอนนี้ ในตอนที่จำนวนผู้สูงอายุเกิน 65 ปีมีราวๆ 11% ไม่ได้ ลองคิดเล่นๆ กันดูมั้ยครับว่า ในวันที่ประชากรสูงวัยมีจำนวนมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรไทยทั้งหมด ณ ตอนนั้นจะเกิดอะไรขึ้นกับประเทศ หรือกระทั่งตัวของเรา?

แน่นอนครับวิธีแก้ปัญหาที่ดูเหมือนจะง่ายที่สุดคือการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบสาธารณสุขของประเทศ หากมีเงินจะสร้างโรงพยาบาล ซื้อยา หรือจ้างบุคลากรดูแลผู้สูงวัยเพิ่มก็คงไม่ใช่เรื่องยาก โดยถ้าอ้างอิงข้อมูลจาก World Bank จะพบว่าประเทศเรามีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายกับระบบสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 3.19% ในปี 2000 มาเป็น 3.77% ของจีดีพีในปี 2015 แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศที่ใช้จ่ายกับด้านสุขภาพเป็นสัดส่วนมากกว่า 10% ขึ้นไป

จริงอยู่ครับว่าการเพิ่มงบตรงนี้อาจสามารถช่วยแก้ปัญหาบางส่วนได้ แต่อย่าลืมนะครับว่าประเทศเราไม่ใช่ประเทศที่ร่ำรวย ถ้าคิดง่ายๆ ก็คือ งบที่ประเทศเรามีมันคือเงินก้อนเดียว หากจะเพิ่มงบประมาณด้านสุขภาพก็แปลว่าต้องดึงงบจากส่วนอื่นมา ถ้าไม่อยากดึงงบประมาณจากส่วนอื่นมาก็แปลว่ารัฐบาลต้องมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งหนึ่งรายได้หลักของรัฐบาลก็คือเงินภาษีที่เราทุกคนจ่ายอยู่ทุกๆ ปี

หากรัฐไม่มีนโยบายหรือเทคโนโลยีที่สามารถปฏิรูปให้ระบบสาธาณสุขของไทยมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นกับเงินเท่าเดิม การมีรายได้มากขึ้นจะกลายมาเป็นหนทางเดียวที่รัฐบาลต้องทำเพื่อสู้กับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ความเป็นไปได้คือภาษีต่างๆ ที่รัฐบาลเรียกเก็บรวมถึงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ตรงนี้แหละครับที่จะทำให้เราเห็นถึงปัญหาจากสังคมผู้สูงวัยกับอัตราเกิดที่ลดลงเพิ่มขึ้นอีก ปัจจุบันไทยเรามีประชากรวัยทำงานที่จ่ายภาษีให้กับรัฐบาลอยู่ที่ราว 38 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นเกือบ 60% ของประชากรทั้งประเทศ อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนเกิดที่ลดลงและจำนวนผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้น ในปี 2040 เราจะมีประชาวัยทำงานเหลืออยู่เพียงราว 29 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นราวๆ สี่สิบกว่าเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น

หมายความว่าในอนาคตคนวัยทำงานเพียง 40% จะต้องแบกค่าใช้จ่ายของคนอื่นๆทั้งประเทศ และเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่รู้จะมากกว่าปัจจุบันอีกกี่เท่าตัว อันเนื่องมาจากรายจ่ายด้านสุขภาพจำนวนมหาศาลที่จะมาพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุกว่า 17 ล้านคน ความกดดัน ความไม่พอใจ และความเครียดนี้ไม่เพียงจะเกิดขึ้นกับคนวัยทำงานที่ต้องแบกรับภาระด้านภาษีและรายจ่ายที่ต้องดูแลผู้สูงวัยของครอบครัวและประเทศเท่านั้น แต่ยังจะเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุที่จะรู้สึกและอาจมองว่าตัวเองเป็นภาระให้กับลูกหลานและประเทศ หากวันหนึ่งเรากลายเป็นคนแก่ที่ไม่มีงานทำ เจ็บป่วย และยังรู้สึกว่าตัวเองเป็นตัวถ่วงให้กับคนในครอบครัว เราจะทำอย่างไร? ทางออกที่เราจะเลือกให้กับครอบครัว ให้กับชีวิตตัวเองคืออะไร? ในอีกมุมหนึ่งหากเราเป็นคนวัยทำงานที่รายรับแทบไม่พอกับรายจ่าย ไม่เพียงต้องคอยปฐมพยาบาลแต่ยังต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าเลี้ยงดูให้กับผู้สูงวัยในครอบครัว เราจะทำอย่างไร? ยิ่งหากเรามีลูกของตัวเองที่ต้องดูและต้องส่งเสีย เราจะทำเช่นไร? เพราะฉะนั้นนะครับ ไม่เพียงปัญหาทางด้านเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้น ปัญหาทางสังคมและจิตใจก็จะเกิดตามมาเช่นกัน

มีการถกเถียงถึงแม้ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า ในอดีตสมัยเอโดะของญี่ปุ่นยุคหนึ่งได้เกิดภัยแล้งขึ้น ครอบครัวยากจนที่ไม่มีความสามารถดูแลผู้สูงอายุได้แบกผู้สูงวัยของครอบครัวตัวเองไปทิ้งบนภูเขา (Ubasute) จริงๆ แล้วนะครับตำนานในลักษณะนี้ไม่เพียงเกิดขึ้นแต่ในญี่ปุ่น หลากหลายวัฒนธรรมในอดีตเช่นไอนุที่มีการทิ้งคนแก่ไว้ท่ามกลางน้ำแข็ง หรือสวีเดนที่ให้คนแก่กระโดดหรือถูกโยนลงจากหน้าผา (Attestupa) ก็มีตำนานในลักษณะนี้ไม่ต่างกัน จนทำให้เกิดศัพท์คำว่า “senicide” ขึ้นในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลว่า การทอดทิ้งผู้สูงวัยให้ตาย การฆ่าตัวตาย หรือการสังหารผู้สูงอายุ ถึงแม้ไม่มีหลักฐานที่ยืนยันที่ชัดเจนว่าเรื่องเล่านี้เคยเกิดขึ้นจริง แต่ตำนานเหล่านี้ก็ชี้ให้เห็นถึงความกดดันของสังคมที่ต้องเลือกระหว่างการเอาตัวรอดกับความถูกต้องและศีลธรรมได้อย่างชัดเจน

ทั้งนี้ทั้งนั้นผมเชื่อว่าการกระทำในลักษณะ “senicide” จะไม่เกิดขึ้นกับประเทศของเรา หรือประเทศใดๆ ในโลกยุคปัจจุบัน สิ่งที่ใกล้เคียงที่จะเกิดขึ้นมากที่สุดคือการปล่อยคนแก่ไว้ที่บ้านตามมีตามเกิด หรือทิ้งผู้สูงวัยตามโรงพยาบาลหรือสถานสงเคราะห์ต่างๆ ซึ่งการกระทำในลักษณะนี้ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศญี่ปุ่น และผมคงไม่แปลกใจหากวันหนึ่งจะเกิดการกระทำลักษณะนี้ในประเทศไทยของเราในอนาคตหากยังไม่มีระบบ Social Safety Net สำหรับผู้สูงวัยที่ดีกว่านี้

อย่างที่เรียนไปเบื้องต้นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่รัฐบาลจะเพิ่มภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้มารองรับกับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงวัยในอนาคต อย่างไรก็ตาม การขึ้นภาษีต่อประชาชนคงไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลอยากทำ เพราะหากมีรัฐบาลใดรัฐบาลหนึ่งต้องการขึ้นภาษีรัฐบาลนั้นคงหมดความนิยมกับคนหมู่มากอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหลายๆ รัฐบาลกระทั่งรัฐบาลที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งเสียงโหวตอย่างรัฐบาลปัจจุบันมักจะออกนโยบายประชานิยมแทนที่จะออกนโยบายที่ดีกับสังคมและประเทศชาติในอนาคตมากกว่าอยู่เสมอ แต่หากจะไม่ขึ้นภาษีไม่ว่าภาษีรูปแบบใดๆ ก็ตาม วิธีเดียวที่รัฐบาลจะทำได้คือการกู้ยืมเงินเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอนาคต ซึ่งหากรัฐบาลกู้ยืมก็จะทำให้ประเทศมีหนี้สินเพิ่มขึ้น และย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างแน่นอน

หากให้สรุปอย่างสั้นๆ คือ ในอนาคตประเทศเราจะมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ในทางกลับกันจำนวนประชากรที่สามารถทำงานและสร้างรายได้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งนอกเหนือจากปัญหาทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ปัญหาทางด้านสังคมก็จะตามมาเป็นเงาตามตัว อย่างไรก็ตาม การแก้ไขหรือการปฏิรูปต่างๆ ที่ควรจะเริ่มทำตั้งแต่วันนี้จะเกิดขึ้นได้ยากเพราะรัฐบาลทั่วไปคงไม่อยากทำโครงการใดๆ ที่เสี่ยงกับการสูญเสียเสียงโหวตให้กับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอีกยี่สิบปีข้างหน้าโดยที่ไม่มีอะไรการันตีว่าตัวเองจะได้เป็นรัฐบาลในอนาคตตอนนั้นมั้ย

จริงๆ แล้วผมอยากเขียนถึงสิ่งที่ประเทศเราสามารถทำได้ต่อ แต่พึ่งเห็นว่าตัวเองเขียนมาราวสามหน้าแล้ว ควรจะหยุดก่อนที่ทุกท่านจะเบื่อ ^^” ผู้อ่านทุกท่านล่ะครับ คิดว่าสิ่งใดที่ประเทศเราสามารถทำได้? ทางออกหรือนโยบายใดที่จะทำให้ไทยเราสามารถกลายมาเป็นประเทศผู้สูงอายุที่ประสบความสำเร็จทั้งทางด้านเศษฐกิจและสังคมได้บ้างครับ?

ที่มา :