เวลาที่คนส่วนใหญ่พูดถึงเนปาลก็มักจะพูดถึงการแสวงบุญ trekking หรือการปีนเขา โดยเฉพาะการปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ซึ่งเป็นจุดหมายของนักปีนเขาทั่วโลก แต่น้อยคนที่จะพูดถึงเนปาลในมุมเศรษฐกิจหรือสังคม ทราบมั้ยครับว่าความคล้ายคลึงของไทยและเนปาลนั้นคือทั้งสองเป็นเพียงไม่กี่ประเทศในโลกที่รอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของชาติตะวันตก
ที่ต่างกันคือปัจจุบันไทยก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับบน ในขณะที่เนปาลนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในเอเชีย มี GDP per capita (PPP) อยู่เพียง 4,062 USD ต่ำกว่าทั้งลาว และพม่า ด้วยซ้ำไป แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับเนปาล?
หากย้อนไปในช่วงที่อังกฤษเริ่มขยายแสนยานุภาพเข้าสู่เอเชียใต้และเริ่มยึดครองประเทศต่างๆ ในขณะที่อินเดียและหลายประเทศพ่ายแพ้และตกเป็นเมืองขึ้น กองทหารเนปาลได้ต่อสู้อย่างกล้าหาญจนได้รับความเคารพจากฝั่งอังกฤษ ทหารเนปาล – กูรข่าถูกยกย่องและได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในทหารที่แกร่งที่สุดโลก จนอังกฤษตัดสินใจจ้างทหารกูรข่าเข้าสู่กองทัพเพื่อทำการสู้รบให้กับชาติตัวเอง
หลังสงครามใหญ่ระหว่าง 2 ประเทศในปี ค.ศ. 1814 อังกฤษและเนปาลตกลงเซ็นสนธิสัญญา Sugauli ที่ถึงแม้เนปาลจะสูญเสียพื้นที่ไปบางส่วนแต่ยังสามารถรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่และรักษาเอกราชของชาติไว้ได้ ซึ่งบทสรุปนี้มีความคล้ายคลึงกับประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ไทยนั้นพยายามที่จะปรับตัว ปฏิรูปและพัฒนาประเทศมาโดยตลอด เนปาลก็ได้เข้าสู่ยุคที่ตระกูล Rana เข้าครอบงำประเทศและกุมอำนาจสูงสุด สามารถกล่าวได้ว่าการปกครองของตระกูลนี้เป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศเนปาลยังด้อยพัฒนาจนถึงปัจจุบัน กระทั่งมีข้อถกเถียงที่ว่า ประเทศเนปาลน่าจะพัฒนากว่านี้หากถูกปกครองโดยอังกฤษ ไม่ใช่ด้วยด้วยชนชั้นนำของตัวเอง
เพราะความกลัวที่จะสูญเสียอำนาจ ตระกูล Rana จงใจจำกัดการเข้าถึงการศึกษาของประชาชน กดให้ประชาชนไม่ได้รับการศึกษา ไม่มีความรู้ อยู่กับความเชื่อเดิมๆ เหตุผลเพียงเพราะง่ายต่อการปกครอง และทำให้สถานภาพของตระกูลมีความมั่นคงสูงที่สุด ในเวลาราว 100 ปีที่ตระกูลนี้ปกครอง แทบไม่มีการสร้างถนน ไฟฟ้า สถานพยาบาล ระบบกฏหมาย หรือระบบสาธารณูประโภคต่างๆ เลย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างก็จำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศและจำเป็นต่อการยกระดับสภาพความเป็นอยู่ของประชาชน
ตระกูล Rana ยังมีการใช้นโยบาย “โดดเดี่ยวประเทศ” กล่าวคือ ไม่ให้คนต่างประเทศเข้าประเทศ และไม่ให้คนในประเทศออกนอกประเทศ ทั้งยังจำกัดการเข้าถึงข่าวสารต่างๆ ทำให้การเข้าถึงแนวคิดใหม่ๆ การพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ๆ รวมถึงการเข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานโลกของประเทศเนปาลนั้นไม่เกิดขึ้น
ในขณะที่หลากหลายประเทศต้องการทลายความแตกต่างทางชาติพันธ์ุเพื่อให้เกิดความปรองดองและสมานฉันท์ในสังคม ตระกูล Rana กลับยิ่งเน้นย้ำถึงความเหนือกว่าของตระกูล เผ่าพันธุ์ และวรรณะ จำกัดสิทธิของแต่ละกลุ่ม ทั้งในเรื่องอาชีพ สวัสดิการ และโอกาสในการพัฒนาชีวิต ทำให้สังคมนั้นยิ่งเกิดความแตกแยกและไม่เท่าเทียม และทำให้ความเชื่อเหล่านี้ยิ่งฝังรากลึกลงในความรู้สึกของประชาชน
โดยหากมองมาที่ภาพเนปาลในยุคปัจจุบัน ถึงแม้เนปาลจะเข้าสู่การปกครองแบบสหพันธ์สาธารณรัฐประชาธิปไตย แต่จากราว 125 กลุ่มวรรณะ/ชาติพันธุ์ของทั้งประเทศ วรรณะ Chhetri, พราหมณ์ และ Newar เพียงแค่ 3 วรรณะนี้กลับมีสัดส่วนถึง 89.2% ของตำแหน่งทั้งหมดในระบบราชการ กลุ่มธุรกิจหลักๆ ก็ยังถูกครอบงำด้วยสามวรรณะนี้ ตระกูล Rana ที่เคยครองอำนาจก็ยังมีอิทธิพลอยู่โดยเฉพาะในแวดวงเศรษฐกิจและสังคมชั้นสูง หากมองรายได้ของแต่ละวรรณะแล้วจะพบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจน โดยสามกลุ่มที่ได้กล่าวมานั้นเป็นกลุ่มวรรณะที่มีรายได้สูงที่สุดอีกเช่นกัน
ความเชื่อที่ฝังรากลึกก่อให้เกิดรูปแบบของระบบที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ วรรณะ ชนชั้น คอนเนกชันมากกว่าความรู้ความสามารถที่แท้จริง ถึงแม้ปัจจุบันเนปาลจะมีพรรคการเมืองหลักร้อย แต่ที่น่าผิดหวังคือคนที่อยู่ในสถานะปกครองส่วนใหญ่กลับไม่ต้องการที่จะพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง แต่กลับต้องการให้ระบบทุกอย่างอยู่คงเดิมเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจและเอื้อประโยชน์ต่อตัวเองและพวกพ้อง ถึงจะมีการออกนโยบายแต่ส่วนมากก็เป็นเพียงกระดาษที่ไม่ได้มีการนำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง เรียกได้ว่าแทบไม่มีผลใดๆ ในทางปฏิบัติเลย
ทำให้ปัจจุบันเศรษฐกิจของเนปาลมีความล้าหลัง ผลิตภัณฑ์ส่งออกที่สำคัญยังจำกัดอยู่ในกลุ่มจำพวกสิ่งทอ พรม ชา และเครื่องเทศ ไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมหนักและนวัตกรรรมใดๆ นอกเหนือจากบริษัทใหญ่ๆ ไม่กี่บริษัทที่มีความสัมพันธ์กับรัฐบาล เนปาลแทบไม่มีบริษัทขนาดใหญ่เลย จากจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนราว 900,000 บริษัท มีเพียงไม่กี่บริษัทเท่านั้นที่มีการจ้างงานเกิน 50 คน เรียกได้ว่าเนปาลมีภาคเอกชนที่เล็กมาก
จากปัญหาที่กล่าวมาทั้งหมด ทำให้คนจำนวนมากในเนปาลมองไม่เห็นโอกาสและอนาคตในประเทศ ซ้ำยังต้องเผชิญกับปัญหาคุณภาพชีวิตที่เข้าข่ายวิกฤติ ทั้งขยะ น้ำดื่ม ถนน ระบบบำบัดของเสีย โดยเฉพาะปัญหามลภาวะทางอากาศที่คร่าชีวิตคนในเนปาลถึง 35,000 คนต่อปี ทำให้คนเนปาลจำนวนมากตัดสินใจย้ายถิ่นฐานหรือเลือกที่จะไปทำงานนอกประเทศ โดย 25% ของ GDP ของประเทศเนปาลมาจากเงินที่คนเนปาลที่ทำงานอยู่นอกประเทศส่งกลับมายังประเทศตัวเอง นับว่าเป็นสัดส่วนที่สูงมากเกินค่าเฉลี่ยโลกที่อยู่ราว 5% ของ GDP เท่านั้น
ปัจจุบันเริ่มมีคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามกับโครงสร้างเดิมๆ กลุ่มองค์กรภาคประชาชนที่พยายามผลักดันความเสมอภาค และเกิดแรงขับจากพลเมืองที่เคยได้สัมผัสโลกภายนอก แต่เนื่องด้วยระบบที่ฝังรากลึก และการเมืองที่ไม่เปิดกว้าง การปฏิรูปคงไม่ง่าย ที่น่ายินดีคือการที่มีประชาชนกลุ่มหนึ่งที่เริ่มเห็นว่าความเหลื่อมล้ำไม่ได้เกิดขึ้นเพราะโชคชะตา หากแต่เกิดจากโครงสร้างอำนาจที่เลือกจะกดทับไม่ให้ผู้คนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงอนาคตตัวเองได้