Genki Forest – โคคาโคล่าแห่งประเทศจีน

‘Genki desu ka’ สบายดีกันมั้ยครับ? เชื่อว่าคงมีคนไทยน้อยคนที่เคยได้ยินหรือรู้จักบริษัทที่มีชื่อว่า ‘Genki Forest’ คำว่า ‘Genki’ เป็นภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า ‘แข็งแรง/มีพลัง’ และ ‘Forest’ เป็นภาษาอังกฤษที่แปลว่า ‘ป่า’

หากได้ยินชื่อ ‘Genki Forest’ หรือ ‘ป่าที่แข็งแรงนี้’ คิดถึงบริษัทที่มาจากประเทศอะไรครับ? คิดถึงธุรกิจ สินค้า หรือบริการประเภทไหนครับ?

ทราบมั้ยครับว่าบริษัทนี้เป็นบริษัทเครื่องดื่มสัญชาติจีนแต่ใช้ชื่อเป็นภาษาญี่ปุ่น และบริษัทที่คนไทยไม่เคยได้ยินชื่อนี้ไม่เพียงเป็นบริษัทเครื่องดื่มที่เติบโตเร็วที่สุดในตลาดประเทศจีนในปีที่ผ่านมา แต่ยังกำลังมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทเครื่องดื่มชั้นนำของประเทศจีน เหมือนที่โคคาโคล่าเป็นแบรนด์เครื่องดื่มชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกา

Genki Forest

ช่วงปลายของราชวงศ์ชิง ปี 1894 และ 1931 ญี่ปุ่นได้มีการก่อสงคราม และเข้ารุกรานประเทศจีน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศนี้ไม่เคยอยู่ในเกณฑ์ที่เรียกได้ว่าดี เป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆ ดอนๆ มาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นนั้นมีความล้ำหน้าทางเทคโนโลยีมากกว่าจีนอย่างมหาศาล การใช้ชื่อแบรนด์ หรือการใช้ชื่อสินค้าเป็นภาษาญี่ปุ่นจึงเป็นเรื่องที่พบได้บ่อยครั้ง

หากแต่เมื่อจีนได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการค้าที่เกิดขึ้น รวมถึงการปลุกระดม ‘ชาตินิยม’ สินค้าและบริการจากประเทศญี่ปุ่นจึงถูกเลือกปฏิบัติ กระทั่งถูกบอยคอตมาเป็นระยะๆ การมีสินค้า และบริการที่เกี่ยวข้องกับประเทศญี่ปุ่น จึงนับได้ว่าเป็น ‘ความเสี่ยง’ รูปแบบหนึ่งในตลาดประเทศจีน

ดังนั้นการถือกำเนิดขึ้นของ ‘Genki Forest’ ในปี 2016 ซึ่งใช้ภาษาญี่ปุ่นมาเป็นชื่อบริษัท ทั้งๆ ที่เป็นบริษัทจีน 100% จึงนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย ว่าสินค้าของบริษัทนี้จะสามารถประสบความสำเร็จได้เพียงไหน

‘Genki Forest’ ถูกก่อตั้งขึ้นโดยมีผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทเป็นเครื่องดื่มอัดลมที่ใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล ทั้งๆ ที่เพิ่งก่อตั้งมาได้ราว 4–5 ปี  ปัจจุบันบริษัทมีมูลค่าอยู่ราว 190,000 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบให้กับผู้อ่านชาวไทยเห็นภาพ ไทยเบฟ หรือบริษัทเครื่องดื่มชั้นนำของไทยเรามีมูลค่าอยู่ราว 400,000 ล้านบาท แปลว่าปัจจุบันบริษัท ‘Genki Forest’ มีมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของไทยเบฟ ความแตกต่างคือไทยเบฟนั้นถูกก่อตั้งมาแล้วกว่า 18 ปี

นอกจากนั้นถึงแม้ ‘Genki Forest’ จะมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลขสามหลัก (CAGR) มาโดยตลอด แต่ในปี 2020 ที่ผ่านมา การเติบโตที่น่าประทับใจนี้มาจากการเข้าถึงครัวเรือนเพียง 11.1% ของครัวเรือนจีน หรือราว 20 ล้านครัวเรือนในประเทศจีนเท่านั้น ในขณะที่ประเทศไทยทั้งประเทศมีครัวเรือนรวมอยู่เพียง 26 ล้านครัวเรือน แปลว่าแค่ในประเทศจีนเอง ‘Genki Forest’ ก็ยังมีช่องว่างในการเติบโต และเข้าถึงผู้บริโภคได้อีกอย่างอย่างมหาศาล

เครื่องดื่มของ ‘Genki Forest’ วางรากฐานและเน้นการสื่อสารใน คอนเซ็ปต์ 3 ศูนย์ : ศูนย์น้ำตาล ศูนย์ไขมัน และศูนย์แคลอรี ปัจจัยที่ทำให้ ‘Genki Forest’ โดดเด่น นอกเหนือจากการจับเทรนด์รักสุขภาพของผู้บริโภครุ่นใหม่ได้อย่างถูกต้อง แต่ยังคือ ความเข้าใจผู้บริโภคของตัวเองอย่างลึกซึ้งว่าถึงจะรักสุขภาพแต่ก็ยังมีคนจำนวนมากที่ชื่นชอบเครื่องดื่มน้ำอัดลม เพียงแต่ต้องเป็นเครื่องดื่มอัดลมที่ดี หรืออย่างน้อยๆ ไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย

จริงอยู่ที่หลายบริษัทเครื่องดื่มน้ำดำระดับโลกได้มีการออกผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำอัดลมที่มีการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลออกสู่ตลาด แต่เครื่องดื่ม 0% เหล่านี้มักจะมีรสชาติที่แย่กว่าเครื่องดื่มรสออริจินัลของบริษัทซึ่งเป็นรสชาติที่ผู้บริโภคคุ้นเคยมาอย่างยาวนาน

ถึงแม้จะมีการสื่อสารว่านี่คือสินค้าคนละตัว แต่สำหรับผู้บริโภคหลายๆ คน ก็คงอดเปรียบเทียบโดยไม่รู้ตัวไม่ได้ว่าตัว 0% นี้ มีรสชาติที่แย่กว่าตัวออริจินัลอย่างเทียบไม่ได้ ผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งอาจยอมที่จะเปลี่ยนไปดื่มตัว 0% แทน แต่ก็ยังมีผู้บริโภคอีกกลุ่มหนึ่งที่รับไม่ได้กับรสชาติและเลือกที่จะเปลี่ยนไปดื่มเครื่องดื่มประเภทอื่นโดยสิ้นเชิง ทั้งๆ ที่ยังมีความชื่นชอบในเครื่องดื่มอัดลมอยู่

นอกจากเหนือจากความเสียเปรียบของบริษัทน้ำดำดั้งเดิม ที่มีผลิตภัณฑ์ออริจินัลให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบแล้ว บริษัทน้ำอัดลมยักษ์ใหญ่มักจะใช้สารให้ความหวานจำพวก แอสปาร์แตม (Aspartame) และ แอซีซัลเฟมโพแทสเซียม (Acesulfame potassium) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานสังเคราะห์ ไม่ใช่สารให้ความหวานจากธรรมชาติ

ซึ่งสารนี้นอกจากจะมีรสชาติที่คนไทยมักพูดว่า ‘หวานปะแล่มๆ’ แล้ว ผลข้างเคียงหรือผลเสียจากการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมเป็นสารให้ความหวานสังเคราะห์ก็ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้บริโภคจำนวนมากกังวล

‘Genki Forest’ จึงมีความได้เปรียบที่ไม่มีผลิตภัณฑ์ออริจินัลของตัวเองให้ผู้บริโภคเปรียบเทียบ บริษัทไม่มีความจำเป็นที่ต้องพยายามทำให้เครื่องดื่ม 0% มีรสชาติเหมือนเครื่องดื่มออริจินัล ‘Genki Forest’ จึงสามารถพัฒนาเครื่องดื่มที่มีรสชาติที่ดีที่สุดจากการใช้สารให้ความหวานจากธรรมชาติเป็นตัวตั้งต้น

นอกเหนือจากนั้น ‘Genki Forest’ ยังสร้างความแตกต่าง โดยเป็นบริษัทแรกในจีนที่มีการใช้ Erythritol ซึ่งเป็นสารให้ความหวานจากธรรมชาติไม่ใช่สารให้ความหวานสังเคราะห์ ที่ถึงแม้จะมีราคาสูงกว่าแต่ก็ให้รสชาติที่ดีกว่าสารให้ความหวานประเภท xylitol หรือ maltol และปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่า นับว่าเป็นข้อได้เปรียบที่บริษัทสามารถสื่อสารให้กลุ่มผู้บริโภคได้เห็นถึงความแตกต่าง รวมถึงคุณภาพที่เหนือกว่าของบริษัทด้วย

จริงๆ แล้วนอกจากตลาดประเทศจีน ปัจจุบัน ‘Genki Forest’ มีจำหน่ายอยู่ใน 40 ประเทศทั่วโลก โดยรายได้จากต่างประเทศในไตรมาส 4 ของปี 2020 เติบโตถึง 69% เทียบปีต่อปี (YoY) แปลว่าโอกาสทางการตลาดของบริษัทไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในประเทศบ้านเกิด แต่ยังมีอยู่อีกในหลากหลายประเทศทั่วโลก

ทราบกันมั้ยครับว่า หนึ่งในประเทศที่บริษัทสนใจจะเข้ามาทำตลาดก็คือประเทศไทยของเรานี่เอง โดย ‘Genki Forest’ ได้มีการลงประกาศรับสมัครพนักงานชาวไทยผ่านช่องทางอย่าง Linkedin ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของบริษัทในการเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย

จริงๆ แล้วมีคนไทยส่วนหนึ่งที่ได้ลองชิมเครื่องดื่มของ ‘Genki Forest’ ผ่านช่องทางอย่าง Shopee และช่องทางออนไลน์อื่นๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยหากดูจาก Sentiment ของ Social mention แล้ว เครื่องดื่มของบริษัทก็ดูจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวไทยอยู่ไม่น้อย

น่าสนใจนะครับว่าหากบริษัทตัดสินใจเข้ามาทำตลาดในประเทศเราอย่างเต็มตัว ‘Genki Forest’ จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมและแข่งขันกับแบรนด์อื่นๆ ในตลาดบ้านเราได้มากน้อยเพียงใด เพราะตลาดเครื่องดื่มบ้านเราก็เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในตลาดปราบเซียนที่มีการแข่งขันการอย่างเลือดสาดเลยทีเดียว