ช่วงนี้กระแสการเมืองบ้านเราค่อนข้างรุนแรงนะครับ กระแสหนึ่งที่เป็นผลพวงจากความขัดแย้งทางการเมืองคือการแบนธุรกิจหรือสินค้าต่างๆ โดยหนึ่งในธุรกิจที่ตกเป็นเป้าของการแบนในรอบนี้คือ 7-11 ซึ่งเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมร้านค้าสะดวกซื้อของบ้านเรามาเป็นเวลาหลายสิบปี
แน่นอนว่าปัญหานี้ส่งผลในแง่ลบต่อ 7-11 ในขณะที่คู่แข่งอื่นๆ กำลังได้ประโยชน์โดยไม่คาดหมาย ที่ไต้หวันเองก็เป็นอีกหนึ่งตลาดที่คล้ายบ้านเราโดยมีจำนวนร้านสะดวกซื้อเป็นจำนวนมาก และมี 7-11 เป็นผู้นำตลาดมาอย่างยาวนาน แต่ในปีที่ผ่านมาถึงแม้ยอดขายยังน้อยกว่าแต่หากมองผลรวมของจำนวนลูกค้าและความถี่ในการเข้าซื้อแล้ว Family Mart ไต้หวันมีอัตราเติบโตที่สูงกว่า 7-11 แล้ว
หากดูจากจำนวนสาขาแล้ว การแข่งขันของระหว่างยักษ์ใหญ่ 7-11 กับเบอร์สองอย่าง Family Mart ของไต้หวันดูจะมีความสูสีมากกว่า 7-11 กับเบอร์สอง Tesco Lotus Express ของไทยเรา โดยที่ไต้หวันนั้น 7-11 มีจำนวนสาขาราว 5,400 สาขา ในขณะที่ Family Mart มีจำนวนอยู่ที่ 3,800 สาขา ซึ่งใกล้เคียงกันมากกว่าไทย โดย 7-11 ที่ไทยมีจำนวนสาขาอยู่ราว 12,000 สาขา ในขณะที่ Tesco Lotus Express มีอยู่ราว 2,200 สาขา
Family Mart ที่ไต้หวันได้พยายามสร้างความแตกต่างของธุรกิจตัวเองในหลายๆ แง่มุมด้วยกัน เพื่อเพิ่มเหตุผลว่าทำไมลูกค้าจึงควรใช้บริการของที่ร้านของตัวเองมากกว่าคู่แข่ง เช่น ระบบสมาชิก, ระบบการซื้อของออนไลน์ และสามารถรับได้ที่สาขาใกล้บ้าน หรือ ‘private label’ ซึ่งอาจจะคล้ายคลึงกับกลยุทธ์ที่ร้านค้าสะดวกซื้อที่บ้านเราใช้อยู่
แต่นอกเหนือจาก private label แล้ว Family Mart ที่ไต้หวันยังมีการออก Clean Label แบรนด์สินค้าที่ทำขึ้นมาเพื่อจับเทรนด์รักสุขภาพโดยเฉพาะ Clean Label เป็นกลุ่มสินค้าที่มีสารเคมีและวัตถุเจือปนในอาหารที่น้อยกว่าสินค้าปรกติซึ่งยังครอบคลุมไปถึงกลุ่มสินค้าจำพวกอาหารสดด้วย
โดยหากอ้างอิงจากข้อมูลของกันตาร์ สินค้ากลุ่ม Private Label และ Clean Label นี้ ช่วยให้ Family Mart เข้าถึงกลุ่มครัวเรือนไต้หวันเพิ่มจาก 21.1% ในปี 2019 เป็น 27.2% ในปีที่ผ่านมา หรือพูดในอีกมุมคือปัจจุบันราว 1 ใน 3 ของครัวเรือนไต้หวัน ได้มีการซื้อสินค้าจาก Family Mart แล้ว
อีกกลยุทธ์ที่น่าสนใจของ Family Mart ไต้หวัน คือ การใช้ความเข้าใจในชุมชน โดยบริษัทเชื่อว่าแต่ละจุดของร้านค้าตัวเองนั้นมีความใกล้ชิดกับชุมชนนั้นๆ มากที่สุด แปลว่าผู้จัดการสาขานั้นๆ ก็ควรจะมีความเข้าใจในกลุ่มลูกค้าของตัวเองมากที่สุดเช่นกัน ทำให้บริษัทได้มีการสร้างไลน์กลุ่มของแต่ละสาขาตัวเองขึ้นมา
โดยปัจจุบันมีผู้จัดการร้านของ Family Mart ราว 3,000 คนที่บริหารจัดการไลน์กลุ่มของร้านตัวเอง ซึ่งผู้จัดการแต่ละสาขานั้นมีสิทธิ์ และอำนาจในการเลือกสินค้าสำหรับร้านของตัวเอง และสามารถสร้าง ‘ดีลกลุ่ม’ ที่คนในชุมชนสามารถรวมกันซื้อเพื่อให้ได้สินค้าที่ถูกลง และแน่นอนย่อมเป็นสินค้าที่คนในชุมชนต้องการเช่นกัน
อ้างอิงจากข้อมูลของ Euroview ในปี 2019 7-11 มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 47% ในขณะที่ Family Mart อยู่ที่ 29% ถึงแม้ในมุมส่วนแบ่งการตลาด Family Mart จะยังตามหลังอยู่อย่างมีนัยสำคัญ แต่กลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างผ่านสินค้าและบริการต่างๆ รวมถึงการโฟกัสที่ความต้องการของผู้บริโภค และการจับเทรนด์ที่ถูกต้องก็ทำให้ Family Mart กลายเป็นแบรนด์ในกลุ่มค้าปลีกที่มีอัตราการเติบโตของผลรวมจำนวนและความถี่ของผู้บริโภคสูงที่สุดในปี 2020