ไม่รีบ! ทรูนับหนึ่ง “ทีวีดิจิทัล” ปีหน้า ควง “ซีเจ” เกาหลี ส่งคอนเทนต์บันเทิงลงจอ ส่งแผน 3 ปี ดันทรูโฟร์ยู ติดท็อป 6

ค่อยเป็นค่อยไป! แม้จะผ่านมา 5 ปีแล้ว แต่สำหรับช่องทรูโฟร์ยู ทีวีดิจิทัลของกลุ่มทรู ยังถือเป็นช่วงเวลาแห่งการตั้งต้นเรียนรู้ หาประสบการณ์ เพื่อเตรียมตัวเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ภายใน 3 ปีจากนี้

พีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย กลุ่มทรู กล่าวว่า กลุ่มทรูได้ทำแผน 3 ปี เพื่อก้าวไปเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ในประเทศ ใน 3 ช่องทาง ฟรีทีวีทางทรูโฟร์ยู, เพย์ทีวีทางทรูวิชั่นส์ และช่องทางออนไลน์ทางทรูไอดี

ทรูมองว่า แนวโน้มของผู้ชมคอนเทนต์ จะไม่ติดอยู่เฉพาะช่องทางทีวีเท่านั้น แต่ไปช่องทางออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นการผลิตคอนเทนต์จึงต้องตอบรับทุกช่องทาง

สัดส่วนของคอนเทนต์นั้น จะมีสัดส่วนรายการกีฬาประมาณ 30% ซึ่งเวลาทรูโฟร์ยู ถ่ายทอดสดรายการกีฬาหลายอย่าง ที่เด่นที่สุดตอนนี้คือ การถ่ายทอดลิขสิทธิ์ฟุตบอลไทยลีก และที่เหลือ 60-70% เป็นสัดส่วนของคอนเทนต์บันเทิง ทั้งจากรายการวาไรตี้ และซีรีส์

สำหรับคอนเทนต์บันเทิงนั้น ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับทรู จึงได้เรียนทางลัด โดยอาศัยประสบการณ์ของพาร์ตเนอร์หลัก อย่าง “ซีเจเอ็นเอ็ม” ธุรกิจบันเทิงและอีคอมเมิร์ซของเกาหลี ซึ่งเกือบ 2 ปีที่แล้ว ทรูและซีเจเอ็นเอ็มได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุน บริษัท ทรูซีเจ ครีเอชั่น จำกัด ได้ผลิตรายการบันเทิง เช่น รายการวาไรตี้เพลงแนวแรป Show Me The Money (SMTM) ที่ออนแอร์ไปแล้ว และซีรีส์ Oh My Ghost  ที่กำลังจะออนแอร์ภายในปีนี้ 

พีรธน บอกว่า ปัญหาของทรู คือคอนเทนต์ยังผลิตออกมาไม่ทันกับแผนที่วางไว้ ต้องรอถึงปี 2019 จึงมีความพร้อม ดังนั้นจึงวางแผนไว้ 3 ปี ระหว่าง 2019-2021 เพื่อผลักทีวีดิจิทัล คาดหวังว่าจะสามารถขึ้นไปติดอันดับ 6 ในแง่เรตติ้งได้

คอนเทนต์บันเทิงที่อยู่ในแผนตอนนี้ มี 2 หมวด รายการประเภท Music Variety  และ ซีรีส์

Music Variety ที่อยู่ในแผนการผลิตเตรียมออกอากาศ เช่น รายการ Melody to Masterpiece และ High School Idol ซึ่งเป็นสองรายการดังของค่าย CJ ที่เกาหลี ที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว

โดย Melody to Masterpiece เป็นรายการที่เลือกนักแต่งเพลงของ 4 ค่ายดังมาแต่งเพลงให้ศิลปินที่มาร่วมรายการ รายการนี้มีแผนการออนแอร์ประมาณเดือนพฤศจิกายนปีนี้

ส่วน High School Idol เป็นรายการประเภท reality show คล้ายๆ AF ที่เคยประสบความสำเร็จสูงสุดมาแล้วจากทรูวิชั่นส์ ซึ่งทรูเชื่อว่ารายการนี้จะประสบความสำเร็จมากในไทย เพราะรูปแบบรายการเป็นการแข่งขันและสนุกสนานตอบโจทย์คนไทยได้ดี

เป้าหมายของเรา ต้องสร้าง original content ให้ แทนที่จะซื้อคอนเทนต์เหมือนในปัจจุบัน เพื่อจะขายไปในโลกได้

พีรธนกล่าว 

จับมือ Netflix เปิดตลาดซีรีส์ไทยในต่างประเทศ

ส่วนหมวดรายการดราม่า ที่มีเค้าโครงเรื่องมาจากซีรีส์เกาหลี ออนแอร์ไปแล้ว คือ Oh My Ghost และ Tunnel 

โดยช่องทางการออกอากาศของทรูจะมี 3 ช่องทางหลัก ทรูโฟร์ยู ออกอากาศสด, ทรูวิชั่นส์ ทั้งสดและย้อนหลัง และทรูไอดีดูย้อนหลัง ซีรส์แต่ละเรื่องจะออกช่องทางแตกต่างกัน ซึ่งทรูกำลังทดสอบตลาดหลายๆ ทาง และยังมีตลาดต่างประเทศ เป้าหมายหลักด้วย

อย่างเรื่อง Oh My Ghost ทรูได้จับมือ Netflix ออกอากาศหลังจากออนแอร์ในไทยไปแล้ว 1 ชั่วโมง เป็นการเปิดทางในตลาดต่างประเทศทั่วโลกสามารถรับชมได้ ซึ่งจะทำให้ทรูมีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ด้วยอีกทาง

ซีรีส์เรื่องก่อนหน้านี้ My Gril 18 มงกุฎสุดที่รัก ดังนั้นแม้เรตติ้งต่ำมาก ระดับ 0.0xx แต่ด้วยการที่ทรูขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศเพื่อออกอากาศพร้อมกัน 6 ประเทศ ไทย, จีน, ฮ่องกง, มาเก๊า, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย ทำให้ทรูได้ฐานคนดูเพิ่มขึ้นมาก เฉพาะที่จีนประเทศเดียวมากกว่า 160 ล้านคนไปแล้ว ทำให้มีรายได้เพียงพอกับต้นทุนการผลิต

เมื่อกระบวนการผลิตคอนเทนต์เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ พีรธนบอกว่าภายใน 3 ปี ทรูก็จะสามารถเป็นหนึ่งในผู้ผลิตคอนเทนต์รายสำคัญของตลาดไทย และจะทำให้ทรูโฟร์ยูเข้าสู่ช่องอันดับ 6 ได้ไม่ยาก เพราะอันดับเรตติ้งถือว่าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา เนื่องจากคนดูไม่ได้ผูกพันกับช่องใดช่องหนึ่ง ขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ที่ออกอากาศในช่วงนั้น

แม้ได้เรตติ้งสูงก็ยังไม่ได้การันตีว่าจะได้กำไร ดูจากสถานการณ์บางช่องที่ยังขาดทุนหนัก ดังนั้นรูปแบบของการบริหารช่องทีวีดิจิทัลที่ดีคือ ต้อง Balance ให้ได้ระหว่างเรตติ้ง ความนิยม และรายได้ที่จะต้องชัดเจนมากขึ้นด้วย การวัดจากผลประกอบการ จึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนที่สุด.