พัสดุด่วนเดือดแน่! ซีเจ โลจิสติคส์ ควักเพิ่ม 5 พันล้านลุยตลาดไทย หวังชิงแชร์ตลาด 15% ภายใน 2 ปี ร่วมทุน-ควบรวมเบอร์ 1 ทางลัดปั้นธุรกิจโต

ซีเจ โลจิสติคส์ (CJ Logistics) เป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงประกาศอย่างมั่นใจว่าจะสามารถขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งขนส่งพัสดุด่วนในไทยได้ ทั้งที่ ณ ปัจจุบันนี้ ถามลูกค้าผู้ใช้บริการขนส่งพัสดุทั่วไป อย่าว่าจะติดหูกับชื่อนี้เลย แต่แค่พูดชื่อมาหลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหูหรือไม่รู้จักเสียด้วยซ้ำ

ซีเจฯ คือต้นกำเนิดของซัมซุงฯ

ซีเจฯ เป็นบริษัทจากเกาหลีใต้ ถ้าเอ่ยชื่อประเทศนี้หลายคนนึกถึงซัมซุงเป็นแบรนด์แรกเพราะรู้จักชื่อเสียงกันดีในหลายธุรกิจ แต่บริษัทอายุใกล้ร้อยปีในเกาหลีใต้ ซึ่งมีไม่มากเท่าญี่ปุ่น หนึ่งในนั้นคือซีเจ โลจิสติคส์ ที่มีดีกรีเป็นถึงผู้ให้กำเนิดบริษัทซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ อีกด้วย

“ซีเจ โลจิสติคส์ เป็นบริษัทที่เกิดก่อนซัมซุง โดยนำกำไรจากธุรกิจโลจิสติกส์ไปเปิดบริษัทซัมซุง ปัจจุบันดำเนินงานมาถึงรุ่นที่ 3 มีอายุกว่า 88 ปี เป็นโลจิสติกส์อันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ เช่นเดียวกับที่ซัมซุงเป็นบริษัทอิเล็กทรอนิกส์อันดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นเรามีดีเอ็นเอที่จะเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้ในตัว” ชา ทงโฮ หัวหน้าผู้บริหารซีเจ โลจิสติคส์ ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งบินจากเกาหลี กล่าวในงานแถลงข่าวของบริษัทเพื่อประกาศเป้าหมายขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจขนส่งพัสดุในไทย ภายในปี 2563 (2020) เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา

บทบาทของซีเจ โลจิสติคส์ในไทย

แม้ชื่อซีเจฯ จะไม่คุ้นหูผู้บริโภคไทย แต่จริงๆ แล้วบริษัทเข้ามาทำธุรกิจในไทยตั้งแต่ 2541 โดยเริ่มจากให้บริการขนส่งสินค้าในเครือบริษัทซัมซุงฯ ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทั้งระบบ รวมถึงการนำเข้าและส่งออกสินค้า ค่อยๆ ขยายการให้บริการไปยังบริษัทอื่นๆ ปัจจุบันมีลูกค้าประมาณ 100 ราย โดย 70% เป็นบริษัทจากเกาหลีด้วยกันเอง

ขณะเดียวกันก็เป็นพันธมิตรกับอีคอมเมิร์ซทุกแพลตฟอร์มในเมืองไทย อาทิ ลาซาด้า ช้อปปี้ ซีโอแอล ฯลฯ รวมทั้งมีการนำธุรกิจอื่นๆ ในเครือซีเจกรุ๊ปในเกาหลี เข้ามาดำเนินงานในไทยเพิ่มขึ้น เช่น การร่วมกับบริษัท จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จัดตั้งบริษัท ซีเจ โอ ช้อปปิ้ง เพื่อต่อยอดธุรกิจช้อปปิ้งทางทีวีไปสู่ธุรกิจออนไลน์

ล่าสุด ภายใต้บริษัท CJ E&M บริษัทในเครือซึ่งทำธุรกิจด้านบันเทิงครบวงจร ก็ร่วมลงทุนกับทรู จัดตั้งบริษัททรู ซีเจ ครีเอชั่นส์ จำกัด เพื่อนำลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากเกาหลีมาผลิตใหม่ในไทย เพื่อป้อนสู่วงการบันเทิงรวมไปถึงนำไปทำตลาดในต่างประเทศ โดยก่อนหน้านั้นยังได้ร่วมทุนกับธุรกิจโรงหนัง โดยร่วมกับบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป ตั้งบริษัท ซีเจ เมเจอร์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ อีกด้วย

แต่สำหรับการรุกตลาดโลจิสติกส์ ซึ่ง ชา ทงโฮ เดินทางมาประกาศอย่างเป็นทางการในครั้งนี้นั้น เป็นอีกแผนการรุกครั้งสำคัญ เพราะเล็งเห็นว่าศักยภาพการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยว่าเติบโตสูง แต่ละปีเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% ซึ่งธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะเติบโตได้ก็ต้องมีธุรกิจขนส่งพัสดุที่เติบโตไปคู่กัน

จากข้อมูลของซีเจฯ พบว่า ตลาดขนส่งพัสดุของไทย มีบริษัทที่ครองส่วนแบ่งสูงสุดคือ ไปรษณีย์ไทยและเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ซึ่งสองรายนี้รวมกันมีส่วนแบ่งประมาณ 80% ส่วนที่เหลือ 20% เป็นผู้ให้บริการอีกหลายรายรวมกัน เช่น ซีเจฯ ดีเอชแอล เอสซีจี โลจิสติกส์ ฯลฯ

“เราตั้งเป้าว่าปี 2563 เราจะมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 15%” ผู้บริหารของซีเจ กล่าว และเชื่อว่า ด้วยส่วนแบ่งตลาดระดับนี้จะสามารถทำให้บริษัทขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ในไทยได้ โดยส่วนแบ่งตลาดจะมาทั้งจากตลาดอีคอมเมิร์ซที่ขยายเพิ่มขึ้นและบางส่วนจากผู้ใช้บริการรายอื่น”

รวมทั้งจะทำให้รายได้ของซีเจ โลจิสติคส์ซึ่งปี 2560 ที่ผ่านมามีรายได้เพียง 1,000 ล้านบาท และเป้าหมาย 1,200 ล้านบาทในปีนี้ จะเพิ่มเป็น 6,000 ล้านบาท ในปี 2563

กลยุทธ์สร้างดีเอ็นเอของความเป็นหนึ่งสไตล์ซีเจ

เมื่อมองในภาพรวมของแล้ว ซีเจฯ ยังเป็นรองคู่แข่งค่อนข้างมาก การจะก้าวขึ้นเป็นอย่างน้อย Top 5 ของตลาดให้ได้ตามแผน โดยเฉพาะเป้าหมายที่จะขึ้นเป็น Top 5 ของการขนส่งพัสดุโลกภายในปี 2563 ตามเป้าหมายของบริษัทแม่

ถ้าดูจากสไตล์การลงทุนของซีเจฯ เท่าที่ผ่านมาในเมืองไทย จะเห็นว่ากลยุทธ์ที่บริษัทใช้ในทุกธุรกิจ คือการเฟ้นหาพันธมิตรที่เป็นเบอร์หนึ่งของแต่ละวงการ แล้วใช้วิธีร่วมทุน หรือแม้กระทั่งควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ซีเจฯ นิยมทำมาแล้วในหลายประเทศ และทำให้บริษัทกลายเป็นเบอร์หนึ่งของตลาดอย่างรวดเร็ว

โดยปัจจุบัน นอกจากซีเจ โลจิสติคส์จะเป็นเบอร์หนึ่งในเกาหลีใต้ มีส่วนแบ่งถึง 50% ของตลาดขนส่งพัสดุแต่ก็ยังสามารถขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งอย่างรวดเร็วในหลายประเทศในแถบอาเซียนและเอเชียด้วยวิธีดังกล่าว อีกทั้งเพิ่งจะรุกลงทุนหนักมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยเฉพาะในอาเซียน อาทิ

  • ควบรวมกิจการกับบริษัท Darcl ผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายใหญ่ของอินเดีย ที่เปิดกิจการมาตั้งแต่ 2529 จัดตั้งเป็นบริษัท CJ Darcl Logistics เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558
  • ควบรวมกิจการกับบริษัทขนส่งสินค้า ซึ่งมีบริการขนส่งแบบควบคุมอุณหภูมิเบอร์หนึ่งของจีน ซึ่งเปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2540 จัดตั้งเป็นบริษัท CJ ROKIN เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558
  • ปีต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2559 ร่วมทุนกับบริษัทอีกแห่งในจีนที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2547 จัดตั้งเป็นบริษัท CJ SPEEDEX
  • ควบรวบกิจการกับบริษัทโลจิสติกส์ในมาเลเซีย ซึ่งเปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2513 เมื่อเดือนตุลาคม 2559 จัดตั้งเป็นบริษัท CJ Century Logistics
  • ควบรวมกิจการกับบริษัทที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2538 แล้วจัดตั้งบริษัท CJ ICM Logistics ในตะวันออกกลางเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560
  • ควบรวมกิจการกับบริษัทขนส่งรายใหญ่ของเวียดนาม ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2533 จัดตั้งเป็นบริษัท CJ GEMADEPT Logistics เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา

“เราก็อยากได้พันธมิตรในไทย เพื่อร่วมเป็นหุ้นส่วน หรือจะควบรวมกิจการ ตอนนี้อยู่ระหว่างเจรจาอยู่ 2-3 ราย โดยจะเน้นพิจารณาบริษัทที่เป็นผู้นำอันดับต้นๆ ในตลาด เหมือนที่เราจะเลือกพันธมิตรจากคนที่เป็นเบอร์หนึ่งของแต่ละอุตสาหกรรม” ผู้บริหารซีเจ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่อยู่ในช่วงหาพันธมิตร ซีเจ โลจิสติคส์ยังคงลงทุนต่อเนื่อง งบลงทุนช่วง 3 ปีนี้ (2561-2563) รวม 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับบริการขนส่งพัสดุแบบครบวงจรในปริมาณที่มากขึ้นตั้งแต่พื้นที่คลังสินค้า จำนวนรถ พนักงาน ระบบและเครือข่ายการขนส่งทั่วประเทศ

โดยมีเป้าหมายทำสถิตการขนส่งพัสดุให้ถึงในวันรุ่งขึ้นภายในเขตกรุงเทพฯ และภายใน 2 วันสำหรับต่างจังหวัดให้สำเร็จได้ถึง 95% ของพัสดุที่มีการขนส่งทั้งหมด

“ด้วยแผนการขยายเครือข่าย กำลังขน หน่วยรถ รวมทั้งการนำระบบไอทีที่ทันสมัยจากเกาหลีใต้มาถ่ายทอดการใช้งานสู่คนไทย บวกกับบริการจากพนักงาน จะทำให้ซีเจ โลจิสติคส์ สามารถชนะใจลูกค้าไทยได้ในที่สุด เพราะแม้กระทั่งคนเกาหลีใต้ ซึ่งได้ชื่อว่าเอาใจยากที่สุดประเทศหนึ่ง เราก็สามารถเอาชนะใจมาแล้ว” ชา ทงโฮ กล่าวด้วยความมั่นใจ.