เมื่อ “เชฟ” กลายเป็นอาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่ และอยากเป็น “เจ้าของธุรกิจ” ที่อิสระและรวยเร็ว การเปิดร้านอาหารจึงเป็นเป้าหมายในชีวิตอันดับต้นๆ ส่งผลให้ “ธุรกิจสอนทำอาหาร” เติบโตก้าวกระโดด
ทายาท 2 ตระกูลดัง เจาะตลาดคนรุ่นใหม่
การย้ายที่ตั้งโรงเรียนสอนทำอาหารระดับระดับอินเตอร์อย่าง “เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต” ในเครือโรงแรมดุสิตธานี จากมุมถนนสีลม–พระราม 4 มาอยู่บนตึกลอยฟ้า “เซ็นทรัลเวิลด์” ราชดำริ อีกนัยหนึ่งคือการปรับตัวของทายาทตระกูล “โทณวณิก” เพื่อรับมือกับการแข่งขันจากค่ายใหญ่ตระกูล “เจียรวนนท์” ที่เริ่มลงมาเล่นในสนามธุรกิจนี้
ภายใต้ชื่อว่า “โรงเรียนศิลปะการอาหารและผู้ประกอบการคูลิเนอร์” ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อกลางเดือนกันยายน 2561 บริหารโดย CPF บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และยึดห้างกลางใจเมือง “เอ็มโพเรียม” ตรงข้ามเอ็มควอเทียร์สุขุมวิทเป็นศูนย์บัญชาการใหญ่
ทำให้สถานการณ์การแข่งขันของธุรกิจโรงเรียนสอนทำอาหารดุเดือดขึ้นมาทันที! เพราะเป้าหมายต่างต้องการเจาะตลาดคนรุ่นใหม่กระเป๋าหนักและมีรสนิยม ทำเลที่ตั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ 2 ค่ายคิดเหมือนกัน
เทียบฟอร์มสองยักษ์ เลือกพันธมิตรสวิสฯ–ฝรั่งเศส
เป็นที่รู้อยู่แล้วว่า พี่ใหญ่อย่าง “เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต” ครองตลาดนี้มานานและเป็นที่ยอมรับ เพราะต่างเป็น “พันธมิตร” ที่แข็งแกร่ง ระหว่าง “ดุสิต อินเตอร์ฯ” เจ้าของโรงแรมชั้นนำของไทยและธุรกิจการศึกษาด้านการโรงแรม กับ “เลอ กอร์ดอง เบลอ” สถาบันระดับโลกจากประเทศฝรั่งเศสที่มีอายุยาวนานถึง 123 ปี เพราะก่อตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2438 โด่งดังเรื่องศิลปะการปรุงอาหาร บริการ และการท่องเที่ยว
ส่วนน้องใหม่ “คูลิเนอร์” เบื้องหลังก็แน่นปึ๊ก เพราะซีพีเอฟเลือกจับมือกับสถาบันจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเช่นกัน คือ 125 ปี เฉือนคู่แข่งที่มาก่อนไป 2 ปี พันธมิตรนี้มีชื่อว่า Lausanne Hospitality Consulting (LHC) หน่วยงานด้านการศึกษาของEcoleHoteliere de Lausanne (EHL) เป็นสถาบันสอนการโรงแรม ก่อตั้งปี พ.ศ. 2436
หากเทียบความเก๋ากันแล้วดูสูสี ทั้งแง่ภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และความเป็นอินเตอร์ จะต่างตรงที่ “เลอ กอร์ดอง เบลอ” ดูจะเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากกว่า
ยึดไพรม์แอเรีย เศรษฐีช่วยเศรษฐี
ประเด็นการเลือก “ทำเล” ถือเป็น “ยุทธศาสตร์” ที่ 2 ค่ายใหญ่มองทะลุ ในการตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าเป้าหมายย่านธุรกิจที่มีทั้งศูนย์การค้า ร้านค้า ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า โรงแรม และแหล่งรวมทันสมัยที่นักท่องเที่ยวต้องไป โดยมีจุดจอดรถยนต์ส่วนตัว และรถไฟฟ้าบีทีเอสช่วยให้เดินทางสะดวก เดินเข้าตึกได้ง่าย
“เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต” เลือกเซ็นทรัลเวิลด์ของตระกูล “จิราธิวัฒน์” เพราะทั้งคู่กำลังเป็นพันธมิตรใหม่ในการลงทุนอภิมหาโครงการมิกซ์ยูสระดับหลายหมื่นล้าน หลังจากโรงแรมดุสิตธานีหมดอายุการเช่าที่ดินจากสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ พร้อมต่อสัญญาใหม่โดยมีกลุ่มเซ็นทรัลเข้าร่วมทุน และประกาศทุบทิ้งโรงแรมในเดือนมกราคม 2562 หลังเลื่อนการรื้อทุบมา 1 ปีเต็ม
ทำให้ต้องมองหาที่ใหม่ และแน่นอน “เซ็นทรัลเวิลด์” ก็ต้องเป็นทำเลในดวงใจ เป็นใครไปไม่ได้ โดยเลือกอยู่บนชั้น 17-19 อาคารเซ็น ทาวเวอร์ และเพิ่มพื้นที่เป็น 3,000 ตารางเมตรสำหรับที่ใหม่ จากที่เดิมมีแค่ 2,000 ตารางเมตร ทำให้รองรับนักเรียนได้เพิ่มขึ้นอีก 600 คนต่อปี ทั้งเพิ่มจุดเด่นด้วยดีไซน์การตกแต่ง การวางแผนผังห้องเรียน และห้องปฏิบัติการงานครัว มีอุปกรณ์ทันสมัยครบเครื่อง
แม้ “คูลิเนอร์” ผู้มาใหม่จะไม่ได้บอกถึงเงินลงทุน แต่ทำเลที่ตั้งขนาดพื้นที่ 2,000 ตารางเมตร บนชั้น 5 ของห้างเอ็มโพเรียมก็ออกแบบห้องเรียนและห้องปฏิบัติการงานครัวได้ทันสมัย พร้อมอุปกรณ์การเรียนการสอนที่ทันสมัย เป็นแนว Innovative Learning สมกับเป็นเจ้าพ่อเทคโนโลยีค่าย TRUE โดยใช้ Smartboards และ e-books ซึ่งผู้เรียนหลักสูตรนานาชาติด้านอาหารและผู้ประกอบการจะได้แท็บเล็ตคนละเครื่อง
จะว่าไปแล้วเจ้าสัวน้อย “ศุภชัย เจียรวนนท์” ก็ผูกพันกับห้างนี้ทำเลนี้ ไลฟ์สไตล์ส่วนตัวจะชอบดูหนังโรงที่เอ็มโพเรียมกับภรรยาสองต่อสอง มาแบบไม่เอิกเกริก ทั้งได้ลงทุนเปิดร้านเบเกอรีแนวสตรีทแบรนด์จากอังกฤษ PAUL ที่ตัวเองชื่นชอบบนห้างนี้ด้วย ปรากฏว่าผลตอบรับดีมาก ลูกค้าไฮโซเข้าคิวซื้อ
ข้ามมาอีกฝั่ง “เอ็มควอเทียร์” ห้างคู่แฝด “เอ็มโพเรียม” ของตระกูล “โสภณพนิช–อัมพุช” ซีอีโอทรูคอร์ปก็ลงทุนเปิดร้านกาแฟพรีเมียมหรูเลิศ รองรับกลุ่มลูกค้าประจำและรายใหญ่ที่ใช้บริการค่ายทรู โดยให้ “อมตะ หลูไพบูลย์” ออกแบบ ซึ่งสถาปนิกท่านนี้เป็นบุตรชายของลูกน้องเก่าเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์”
นอกจากทำเลที่โดดเด่นสุดๆ แล้ว สายสัมพันธ์ ความชอบ และความผูกพันก็มีส่วนทำให้ทุกอย่างดูลงตัว
แข่งงัดหลักสูตร ตอบโจทย์–เทรนด์ตลาด
สำหรับหลักสูตรและแนวการเรียนการสอน “เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต” เน้น 4 หลักสูตรพื้นฐาน คือ อาหารคาว อาหารหวาน ขนมอบ และขนมปัง ใช้เวลาเรียน 180 ชั่วโมง หลักสูตรเด่น เช่น เทคนิคการทำอาหารแบบฝรั่งเศส “คลาสสิก ไซเคิล – Classic Cycle Programme”
ที่น่าสนใจ กลุ่มนี้ได้เปิดหลักสูตรใหม่ เช่น เรื่องการจัดการด้านอาหาร (Programme in Culinary Management) เพราะมองว่าน่าจะตอบโจทย์ลูกค้าที่อยากเปิดร้านอาหารตามแนวโน้มตลาดที่มีมากขึ้นเรื่อยๆจึงตัดสินใจเปิดหลักสูตรนี้และเน้นระยะสั้น
จากปกติมีอยู่แล้ว 30-40 หลักสูตร เช่น อาหารอิตาเลียน งานน้ำตาลและช็อกโกแลต การจับคู่ไวน์ ชีส และอาหารต่างๆ เพื่อตอบสนองเทรนด์ใหม่ๆ ของตลาด
ขณะที่ “คูลิเนอร์” มีหลักสูตรด้านการอาหารและผู้ประกอบการนานาชาติ เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียนที่มุ่งสร้างเชฟมืออาชีพและผู้ประกอบการร้านอาหาร ด้วยหลักสูตรตั้งแต่พื้นฐานด้านงานครัว การทำอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงมาตรฐานความปลอดภัย การบริหารบุคลากรและจัดการธุรกิจ เน้นสอนเป็นภาษาอังกฤษ ใช้เวลาเรียน 2 ปี และมีหลักสูตรระยะสั้นอีกมากที่สอนเป็นภาษาไทย ทั้งอาหารไทย อาหารตะวันตก ขนมอบ ขนมหวาน การออกแบบอาหาร และการจัดการเบื้องต้น ซึ่งออกแบบให้เข้ากับความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงเวลา และตอบโจทย์ตลาดในอนาคต
เห็นได้ชัดว่านอกจากการทำอาหารซึ่งมีอยู่แล้ว แต่ละค่ายได้เพิ่มเรื่อง “การบริหารจัดการ” เข้ามาด้วยเพื่อให้ผู้เรียนทำอาหารได้แล้วคุณต้องบริหารธุรกิจเป็นด้วยถ้าต้องการเปิดร้านอาหาร
รายการแข่งทำอาหาร สร้างกระแส “เชฟ” อาชีพในฝัน
ต้องยอมรับว่า รายการแข่งทำอาหารในจอทีวี ภายใต้รูปแบบเกมโชว์ ยังคงสร้างเรตติ้งได้ดีต่อเนื่อง เพราะดูสนุก มีสีสัน
ไม่ว่าจะเป็น “เชฟกระทะเหล็กประเทศไทย” หรือ Iron Chef ที่ซื้อลิขสิทธิ์มาจากญี่ปุ่น ออกอากาศที่ช่อง 7 ซึ่งต่างประเทศมี Iron Chef Kids กับ Iron Chef Celebrity
ส่วน “มาสเตอร์เชฟ ไทยแลนด์” เป็นเกมแข่งของผู้ใหญ่ และเกมเด็กๆ คือ “มาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ ไทยแลนด์” ที่มี “ป๊อก–ปิยธิดา” เป็นพิธีกร ดาราสาวคนนี้มีดีกรีการันตีจาก “เลอ กอร์ดอง เบลอ” เช่นกัน
ล่าสุด “ท็อป เชฟ ไทยแลนด์ – Top Chef Thailand” ของช่องวัน ก็ซื้อลิขสิทธิ์รายการจากอเมริกา มาออกอากาศชิงยอดคนดู
ทำให้ “เชฟ” กลายเป็น ”เทรนด์” หรืออาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่มีมากขึ้นต่อเนื่อง โรงเรียนสอนทำอาหารจึงเป็นแหล่งสร้างแรงบันดาลใจให้เป็นจริงของคนรุ่นใหม่
ดูเหมือนว่า “เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต” จะจับจุดถูก เพราะอายุผู้เรียนลดลงเหลือ 15-16 ปีแล้ว จากอดีตอายุ 21 ปีขึ้นไป ที่น่าทึ่งคือมีคนวัย 70 ปีมาสมัครเรียนด้วย
ส่วนสีสันในแวดวง ‘แก้ว–ปวีณ์นุช ยอดปรีชาวิจิตร’ นิสิตคณะนิเทศฯ จุฬาฯ ที่เพิ่งเรียนจบไปไม่นานก็มาเรียนทำอาหารต่อที่ “เลอ กอร์ดอง เบลอ” และคว้าแชมป์ MasterChef Thailandคนแรกของรายการ
นอกจากรายการเกมโชว์แข่งทำอาหารแล้ว “เซเลบ–ดารา” ก็ถือเป็นตัวแปรสำคัญของสังคมไทย เช่น “โย่ง–อาร์มแชร์” นักร้องนักแสดงหนุ่มชื่อดังที่ไปออกรายการแข่งทำอาหารและไปลงคอร์สเรียนทำอาหารอย่างจริงจังก็เป็นตัวจุดประกายปลุกกระแสให้ธุรกิจสอนทำอาหารยิ่งโตเร็วและโตแรง.