วิชัย มาลีนนท์ ผู้ก่อตั้งบริษัท บีอีซีเวิลด์ เจ้าของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3HD, ช่อง 3SD และช่อง 3 FAMILY เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 99 ปี ช่วงเย็นของวันที่ 8 ต.ค. ที่ผ่านมา
วิชัย เริ่มต้นบุกเบิกช่อง 3 มาตั้งแต่ปี 2510 ด้วยการก่อตั้ง บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท โดยได้กลุ่มธนาคารเอเซียทรัสต์ เข้ามาถือหุ้น เพราะการตั้งสถานีโทรทัศน์ต้องใช้เงินลงทุนสูง
ช่วง 20 ปีแรกของการดำเนินธุรกิจ ช่อง 3 ต้องเผชิญกับความผันผวน ทั้งการล้มธนาคารเอเชียทรัสต์ ที่ถือเป็นวิกฤติครั้งสำคัญ รวมถึงการอยู่ภายใต้ระบบสัมปทานที่ต้องปรับเปลี่ยนไปตามนโยบายของหน่วยงานรัฐตลอดเวลา การขยายสัมปทานทำได้เฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
จนกระทั่งในปี 2534 เมื่อรัฐบาลมีมติอนุมัติให้ช่อง 3 ขยายเครือข่ายทั่วประเทศ และต่ออายุสัญญาออกไปจนถึงปี 2563 เป็นสองปัจจัยสำคัญช่วย “ปลดล็อก” พันธนาการ ทำให้ช่อง 3 ขยับขยายสู่กลุ่มคนดูทั่วประเทศ
ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการหันมาทุ่มเทเรื่อง “ละคร” ที่ได้กลายคอนเทนต์หลักที่ช่อง 3 ที่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งเบอร์ 1 อย่างช่อง 7 เรียกว่า ผลัดกันรุกและรับตลอดเวลา และสถานการณ์ของช่อง 3 ก็เริ่มดีขึ้นมาเรื่อยๆ จนนำไปสู่การนำบริษัท บีอีซี เวิลด์ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ช่อง 3 ถือเป็นธุรกิจครอบครัว ที่ดำเนินงานภายใต้ตระกูลมาลีนนท์มาตลอด วิชัยมีบุตรชายและบุตรสาวรวม 8 คน ประสาร (เสียชีวิต) ประชา ประวิทย์ รัตนา อัมพร นิภา รัชนีและประชุม โดยรับผิดชอบตามความถนัดแตกต่างกันไป
ลูกชาย 3 คนโต ประสาร ประชา และประวิทย์ เมื่อเรียนจบกลับมา ได้กลับมาช่วยวิจัย ร่วมกันแก้ไขปัญหา นำวิธีคิดใหม่ๆ มาลองผิดลองถูก จนกระทั่งสถานการณ์ของช่อง 3 เริ่มพลิกฟื้นกลับมาดีขึ้น
ถ้านับยุคของ “วิชัย” เป็นยุคผู้บุกเบิกช่อง 3 แล้ว ยุคของลูกชายทั้งสามของเขา ต้องถือเป็นยุคของการกอบกู้กิจการจากวิกฤติและวางรากฐานให้กับธุรกิจ
ประวิทย์เคยเล่าว่า พ่อจะมีวิธีสอนลูกตามสไตล์ชาวจีนยุคเก่า ที่เชื่อว่า ก่อนจะขึ้นมาบริหารงานได้ ต้องมีพื้นฐานความรู้ในธุรกิจ ด้วยการฝึกงานตามแผนกต่างๆ ดังเช่นพนักงานฝึกงานทั่วไป และทุกเย็นลูกชายทั้ง 3 จะต้องไปกินข้าวร่วมกับพนักงานทั่วไป ซึมซับความรู้ และปัญหาต่างๆ ได้ในคราวเดียวกัน
สำหรับ 5 คนสุดท้าย ประกอบไปด้วย ประชุม ลูกชายคนเล็ก รัตนา รับผิดชอบด้านบัญชีและการเงิน รัชนี ช่วยดูเรื่องการตลาดและขาย ส่วนนิภาไม่ได้มาร่วมบริหารเป็นแค่กรรมการของบริษัท
ส่วนอัมพร เนื่องจากความใกล้ชิดสนิทสนมกับ “วิชัย” ผู้เป็นพ่อที่มักจะติดสอยห้อยตามไปทำงาน ทำให้เธอได้ซึมซับเรื่องราวของธุรกิจ รวมถึง “ดีล” กับธุรกิจซื้อรายการ เรื่องสัญญากับผู้ผลิตจะต้องผ่านตาของ “อัมพร” และต่อมาเธอยังดูแลเรื่องรายการ ที่ถือเป็นตำแหน่งสำคัญที่คนในตระกูลจะต้องดูแลเอง
วิชัย นั้นค่อนข้าง low profile แม้ในวัยที่สูงขึ้นและปัญหาสุขภาพ แต่เขายังทำหน้าที่ประธานมาตลอด ห้องทำงานของวิชัย นอกจากจะมีโทรทัศน์ 7 เครื่อง เหมือนกับลูกๆ แล้ว ทุกๆ 10.00 น.ของทุกวัน ข่าวสารต่างๆ บนหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ ที่เกี่ยวกับสถานีโทรทัศน์เฉลี่ย 80% ข่าว จะต้องส่งมาถึงโต๊ะทำงานของวิชัย หลายครั้งที่การเปลี่ยนแปลงของช่อง 3 มาจากวิชัย
แต่แล้วตระกูลมาลีนนท์ และช่อง 3 ต้องมาเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง หลังจากการเปลี่ยนจากอนาล็อกเข้าสู่ทีวีดิจิทัล ทำให้มีคู่แข่งเกิดขึ้นมากมาย ช่อง 3 ตัดสินใจเข้าประมูลทีวีดิจิทัลพร้อมกันถึง 3 ช่อง และได้กลายเป็นต้นทุนหลัก ทำให้ช่อง 3 ต้องเผชิญกับปัญหาในเรื่องผลประกอบการ ผลกำไรลดต่ำลงต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันได้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานภายในตระกูลมาลีนนท์ โดยแต่งตั้งให้ ประชุม มาลีนนท์ ขึ้นเป็น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) หรือ BEC รับไม้ต่อจาก ประวิทย์ มาลีนนท์ ที่เคยเป็นแม่ทัพของช่อง 3 มาตลอดหลายปีผ่านมา
โดยได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ด้วยการนำผู้บริหารมืออาชีพจากภายนอกเข้ามาบริหารงาน เพื่อหวังจะช่วยกอบกู้สถานการณ์ในเรื่องรายได้.