ป้ายปริศนา

ป้าย Mupi กลางใจเมืองและตามสถานีรถไฟฟ้า ราว 50 แผ่นป้าย เต็มไปด้วยรูปของ “นก สินจัย” “ก้อง สหรัถ” “ครูรัก- ศรัทธา ศรัทธาทิพย์ แห่งบ้านเอเอฟ” เสริมด้วยข้อความเพียงไม่กี่คำ สามารถดึงดูดความสนใจของคนผ่านไปมา และสร้างการจดจำได้เป็นอย่างดี เพราะพฤติกรรมคนไทยนั้นอยากรู้อยากเห็น ยิ่งปิดยิ่งอยากรู้

เป็นกลยุทธ์การเลือกใช้สื่อของ บริษัทไอเวิร์คส เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ เอสทู ออร์กาไนเซอร์ มาใช้ในการคอนเสิร์ต “สิงห์ คอร์เปอเรชั่น รียูไนท์ส ดิ อินโนเซ้นท์ คอนเสิร์ต”ซึ่งบริษัทฯ เคยทำสำเร็จมาแล้วในคอนเสิร์ตของหนุ่ม “เรน” เมื่อสองปีก่อนหน้านี้

โดยใช้ใบหน้าของแขกรับเชิญ และข้อความเพียงไม่กี่คำ ที่เกี่ยวข้องกับงานอย่างน้อยประมาณ 3-5 วัน ก่อนจะเปลี่ยนป้ายเฉลยออกมาว่าเป็นคอนเสิร์ต

คอนเสิร์ตครั้งนี้มีกลุ่มเป้าหมายเป็นวัยทำงานที่ยังชอบฟังเพลงในยุค 80 และแฟนคลับของดิ อินโนเซ็นท์ การใช้สื่อนอกบ้านบนรถไฟฟ้าสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรงและใช้งบน้อย เพราะพฤติกรรมการเดินทางของกลุ่มนี้จะเดินในเส้นทางเดิมๆ เป็นประจำและมีเวลาที่แน่นอน

แม้ว่าจะอยู่ในความสนใจของกลุ่มเป้าหมายแต่ช่วงเวลาในการปิดบังหรือช่วงเวลาแห่งปริศนาอย่านานเกินรอ เพราะนานเกินไปจะลดความสนใจให้กับโฆษณาชิ้นนั้นไปเลย เพราะทุกวันผู้คนที่เห็นป้ายโฆษณาจะพยายามมองเพื่อหาคำตอบอยู่ทุกวัน