สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) โดยกลุ่มบริหารเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology Innovation Management Group – TIMG) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดงาน STI Forum & Outstanding Technologist Awards 2018 ขึ้น ภายใต้หัวข้อหลัก “Future Thinking” โดยมี นางสาววรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) กล่าวเปิดงาน โดยเน้นย้ำถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานที่ต้องการส่งเสริมผู้ประกอบการยุคใหม่ในเรื่องการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเปิดเวทีเพื่อการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคใหม่ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนไปในอนาคต
เวทีใหญ่ครั้งนี้ TMA ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกอย่าง นายฌอน เนส (Mr. Sean Ness) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ จากสถาบันเพื่ออนาคต ประเทศสหรัฐอเมริกา (Business Development Director, Institute for the Future: IFTF) มาบรรยายพิเศษภายใต้หัวข้อ “Technology & Innovation Foresight: How to prioritize R&D” ซึ่ง นายฌอน พูดย้ำเสมอว่าไม่มีใครสามารถทำนายอนาคตที่จะเกิดขึ้นได้ สิ่งที่ทำได้คือ การสังเกตและติดตามข้อมูลจากสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัว และดูอิทธิพลของเทคโนโลยีในทุกๆ ด้านที่มีต่อมนุษย์ ควบคู่กับพฤติกรรมที่มนุษย์ตอบสนองต่อกระแสเทคโนโลยีนั้น ๆ
บทเรียนสำคัญในการคาดการณ์อนาคต (Foresight) เพื่อการตัดสินใจ คือ กรณีของโนเกียที่เคยเป็นผู้นำของตลาดมือถือ และมีสัดส่วนการครอบครองทางการตลาดมากกว่าแอนดรอยด์ประมาณ 2.5 เท่า แต่ระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียว แอนดรอยด์สามารถยึดครองส่วนแบ่งการตลาด และกลายเป็นผู้นำในตลาดยุคปัจจุบัน ซึ่งจากกรณีดังกล่าว แอนดรอยด์สามารถมองเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค และหยิบเอาสิ่งนั้นมาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ จนตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ในที่สุด
การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลกระทบในด้านต่างๆ โดย นายฌอน เนส มองว่าเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นมาใหม่ มาจากความต้องการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบันที่สิ่งเดิมไม่สามารถตอบสนองได้ ซึ่งกระแสการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีรุ่นใหม่ จะมีสัญญาณบ่งบอกเล็กจากสิ่งใกล้ตัว เช่น ในด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ เห็นได้จากการพัฒนารถยนต์ในอนาคต เป็นการพิจารณาปัญหาทั้งในเรื่องรถติดและที่จอดรถไม่พอ ทำให้บริษัทผลิตรถยนต์พยายาม
เช่นเดียวกันกับงานในอนาคต จากแต่เดิม เราเป็นผู้ที่มองหางาน และสมัครงานผ่านช่องทางต่างๆ รอเรียกสัมภาษณ์ และเซ็นสัญญาเริ่มต้นการทำงาน แต่ในอนาคต จะมีลักษณะกลับกัน โดยตัวงานจะเป็นฝ่ายตามหาคนที่มาทำแทน (Work finds you) เพียงแค่ค้นหาใน google ก็มีผู้ที่พร้อมจะผลิตงานดังกล่าว ภายใต้ทางเลือกที่มากมาย
แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว นายฌอน เนส มองว่าจะเกิดขึ้นบนฐานของอินเทอร์เน็ต หรือที่ใช้คำว่า “Internet of Action” ในการอธิบาย ซึ่งหมายถึงการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นสื่อกลางและนำไปสู่การกระทำที่ตามมาภายหลัง ลองจินตนาการว่าหากเราต้องการเดินทางไปกินข้าวข้างนอก เราสามารถใช้เพียงปลายนิ้วในการเตรียมพร้อมทุกอย่าง ตั้งแต่การเช็คเส้นทางจราจร การหาร้านอาหาร การสั่งอาหาร การชำระเงิน ไปจนสิ้นสุดมื้ออาหารนั้นๆ ซึ่งการกระทำทั้งหมด สามารถเกิดขึ้นเพียงแค่การกดปุ่มๆ เดียว วิถีชีวิตของคนเราในอนาคตสามารถทำอะไรก็ได้ โดยอาจไม่จำเป็นต้องหยิบโทรศัพท์ออกมาใช้งานเลย
นายฌอน เนส อธิบายว่า “Internet of Action” สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ (1) ระยะสั้น – เป็นระยะที่ทุกคนถูกทำให้เชื่อมต่อกับ อินเทอร์เน็ต เพราะข้อมูลทุกอย่างอยู่บน อินเทอร์เน็ต ดังนั้น จึงทำให้โลกธุรกิจดำเนินไปด้วย อินเทอร์เน็ต แทบทั้งหมด (2) ระยะกลาง – เป็นระยะที่สิ่งต่างๆ จะถูกพัฒนาให้ฉลาดมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ และทำให้คนเราใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย เช่น Facebook ที่ช่วยเหลือคนที่มีแนวโน้มจะฆ่าตัวตายด้วยการส่งความช่วยเหลือ ซึ่ง Facebook ประมวลข้อมูลจากพฤติกรรมการใช้งานของผู้ใช้ (User) ดังกล่าว แต่ในอีกด้านหนึ่งผู้ใช้ก็ต้องแลกกับข้อมูลส่วนตัวที่ถูก Facebook คอยเก็บอยู่ตลอดเวลาการใช้งาน (3) ระยะยาว – เป็นระยะที่จะมี bots หรือหุ่นยนต์ที่มาช่วยในการติดตามพฤติกรรมการใช้งานของเรา และนำข้อมูลที่ได้ ไปประมวล วิเคราะห์ และนำเสนอสิ่งที่เราต้องการและเป็นประโยชน์กับผู้ใช้งานได้อย่างสูงสุด เช่น การควบคุมค่าใช้จ่ายส่วนตัว การช่วยนัดหมาย หรือการเช็คที่ว่างของลานจอดรถ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้จะมี bots หรือหุ่นยนต์คอยช่วยเหลือมนุษย์ผ่านการตั้งค่าระบบ แต่ทว่า มนุษย์เองกลับเป็นเรื่องท้าทายสำคัญ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่คาดเดาได้ยาก และมีการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ในทุกช่วงขณะ
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญในการคาดการณ์อนาคต(Foresight) อีกประการ คือ คุณค่าที่มนุษย์ให้ความสำคัญ ซึ่งคุณค่าดังกล่าว เกี่ยวข้องกับอารมณ์หรือความรู้สึกที่คาดเดาไม่ได้ของตัวมนุษย์เอง (Emotion) ซึ่งการวิจัยและพัฒนา (R&D) ของแต่ละองค์กร จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับองค์ประกอบดังกล่าว โดยอาศัยการพูดคุยกับทีมต่างๆ ทั้งทีมการตลาด ทีมการขาย ทีมวิศวกร เพื่อให้ได้มุมมองหลากหลาย เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ใช้งานมากที่สุด ในขณะเดียวกันสิ่งที่องค์กรต้องสนใจไปพร้อมกัน คือ (1) การบริหารทรัพยากรมนุษย์ (Staffing) เพื่อรักษาความสัมพันธ์ที่ดีภายในองค์กร และ (2) องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการเคารพกฎระเบียบและข้อบังคับทางกฎหมาย (Laws & Regulations) เพื่อทำให้สิ่งใหม่สามารถนำไปใช้ได้จริง ไม่ขัดต่อกฎหมาย อย่างกรณีบริษัทผลิตรถยนต์ที่ขึ้นชื่อว่ามีเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดอย่าง Tesla ก็พบข้อจำกัดด้านกฎหมายในช่วงพัฒนาโมเดลรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรก เนื่องจากมีความเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ฉะนั้นควรให้ความสำคัญกับคุณค่าของมนุษย์ เพราะมนุษย์สำคัญกว่าเทคโนโลยี โดยเทคโนโลยีต่างๆ ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นเครื่องมือช่วยทำงานแทนมนุษย์ สร้างความสะดวกสบาย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานต่างๆ ให้มนุษย์เท่านั้น
ทั้งนี้ มนุษย์จะต้องเตรียมความพร้อมให้ตัวเองด้วยการพัฒนาทักษะสำคัญติดตัวไว้ โดยด้าน Hard Skills ควรรู้วิธีรับมือกับหุ่นยนต์ หรือรู้วิธีการสร้าง หรือระบบปฏิบัติการของหุ่นยนต์ เพราะย่อมได้เปรียบ รัฐบาลต้องฝึกทักษะคนทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ หรือมีเวิร์คสกิล ทำงานร่วมกัน
และด้าน Soft Skills มี 2 ทักษะสำคัญที่หุ่นยนต์ทำได้ไม่เท่ามนุษย์ คือการเจรจาต่อรอง และการเอาใจเขามาใส่ใจเรา สุดท้ายแล้ว มนุษย์ยังชอบพูดคุย และมีบทสนทนาระหว่างกันมากกว่าสื่อสารกับหุ่นยนต์
ในช่วงสุดท้าย นายฌอน เนส เน้นย้ำว่าเทคโนโลยี เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่พัฒนาขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์เท่านั้น ดังนั้น หัวใจที่สำคัญที่สุด ก็คือ คุณค่าของมนุษย์ นั่นเอง