Reliance กงสีแห่งอินเดีย

อิษณาติ วุฒิธนากุล

ได้ดูละครเลือดข้นคนจางกันหรือป่าวครับ? มีท่านใดทายถูกบ้างว่าประเสริฐจะถูกน้องชายที่ดูสนิทกันที่สุดเป็นคนฆ่า? ตัวผมเองถูกคนรอบข้างหลายคนแนะนำให้ลองดูละครเรื่องนี้ซึ่งพอได้ดู ด้วยพล็อตเรื่อง ด้วยนักแสดง ก็ไม่แปลกใจนะครับว่าทำไมกระแสถึงดีขนาดนี้ อย่างหนึ่งคงเป็นเพราะละครเรื่องนี้ค่อนข้างมีความเสมือนจริง และชี้ให้เห็นถึงปัญหาภายในธุรกิจครอบครัวที่ก่อนหน้านี้เรามักจะได้ยินได้เห็นจากข่าวเท่านั้น

ปัญหาของธุรกิจครอบครัวเป็นปัญหาที่ไม่ได้เกิดเฉพาะในไทยเรานะครับ แต่ยังเกิดกับอีกในหลายวัฒนธรรม หลายประเทศทั่วโลก กลุ่ม Reliance ที่เรียกได้ว่าเป็นบริษัทเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศอินเดียก็ยังหนีปัญหานี้ไม่พ้นเช่นกัน ซึ่งนี่คือสิ่งที่ผมอยากเล่าให้ผู้อ่านทุกท่านฟังในวันนี้ แต่ก่อนจะพูดถึงประเด็นความขัดแย้งในครอบครัว ผมอยากให้ผู้อ่านทุกท่านเข้าใจก่อนว่ากลุ่ม Reliance คืออะไรเพราะจะยิ่งทำให้ปัญหาของครอบครัวนี้น่าสนใจมากขึ้น พร้อมกับที่ผมเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คงไม่เคยได้ยินชื่อบริษัทนี้มาก่อนเป็นแน่

Reliance Textile ถูกก่อตั้งขึ้นโดย Dhirubhai Ambani ในปี 1966 โดยก่อนจะสร้างบริษัทนี้ขึ้นมา Dhirubhai Ambani ต้องระหกระเหินไปถึงเยเมนเพื่อหางานทำก่อนจะรวบรวมประสบการณ์และคอนเนกชั่นและกลับมาทำธุรกิจที่อินเดียอีกครั้ง บริษัทเริ่มจากการขายโพลีเอสเตอร์ในตอนต้น ก่อนที่ Reliance Textile จะเติบโตอย่างรวดเร็วและถูกยอมรับจากผู้บริโภคชาวอินเดียผ่านแบรนด์เสื้อผ้า “VIMAL” ความสำเร็จของแบรนด์นี้มาจากการที่ Ambani ใช้กลยุทธ์ในการทำราคาสินค้าให้ถูกที่สุดและวางขายตามหน้าร้านต่างๆ ในจำนวนมาก ทำให้ผู้บริโภคหมู่มากสามารถเข้าถึงสินค้านี้ได้ เมื่อแบรนด์ได้ถูกยอมรับจากผู้บริโภค Ambani จึงเริ่มโมเดลธุรกิจใหม่คือการขายเฟรนไชส์ร้านเสื้อผ้า “VIMAL” และเพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทจะสามารถคงไว้ซึ่งความนิยมของผู้บริโภคได้เป็นเวลานาน Ambani ตัดสินใจทำโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ อย่างจริงจัง ทำให้ภาพลักษณ์ของแบรนด์นี้กลายมาเป็นตัวแทนแฟขั่นของวัยรุ่นคนหนุ่มสาว จึงทำให้ยอดขายรวมถึงผู้ที่ต้องการซื้อเฟรนไชส์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย

แน่นอนครับเมื่อแบรนด์ประสบความสำเร็จระดับนี้ Ambani ก็ย่อมต้องการที่จะพาบริษัทตัวเองเข้าตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม ในสมัยนั้นประชาชนทั่วไปของอินเดียแทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับตลาดหุ้นหรือการซื้อหุ้น ตลาดหุ้นในสมัยนั้นอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มคนจำนวนน้อย ซึ่งแทนที่ Ambani จะเปิดขายหุ้นทันที เขาตัดสินใจทำพีอาร์และโฆษณาหุ้นของบริษัทตัวเองให้ประชาชนทั่วไปฟังและแคมเปญนี้ก็ประสบความสำเร็จเป็นอันมาก นอกจากจะทำให้ราคาเสนอขายหุ้นครั้งแรก (IPO) เป็นไปตามที่ต้องการหรือเหนือกว่าราคาที่ต้องการแล้ว ยังทำให้หุ้นของบริษัทถูกกระจายไปยังประชาชนนับล้าน แทนที่จะกระจุกตัวในมือคนหมู่น้อยซึ่งอาจส่งผลกับบริษัทในอนาคตได้

การสร้างบริษัทจากศูนย์จนสามารถเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้อาจเป็นความฝันของใครหลายคน แต่ไม่ใช่สำหรับ Ambani เขาไม่ได้ต้องการที่จะหยุดเพียงแค่นั้น ในปี 1986 เขาก็ได้ก่อตั้งอีกหนึ่งบริษัทที่ชื่อว่า Reliance Capital ขึ้น โดยบริษัทนี้ให้บริการเกี่ยวกับเงินกู้ หลักทรัพทย์ และประกัน ปัจจุบัน Reliance Capital เป็นหนึ่งในบริษัททางการเงินที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย ในขณะเดียวกันในช่วงปลายปี 80 Reliance Textile ได้ควบรวมกับอีกหนึ่งบริษัทสิ่งทอ (Textile) และได้เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โดยเริ่มต้นดูเหมือนบริษัทจะสนใจเพียงแค่ที่จะผลิตสารโพลีเมอร์ที่ช่วยเกี่ยวกับธุรกิจสิ่งทอของตัวเอง อย่างไรก็ตาม ในที่สุด Ambani ก็ได้ตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจน้ำมันและก็สามารถทำให้บริษัทนี้กลายมาเป็นบริษัทปิโตรเลียมเอกชนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอินเดียได้ จนถึงปัจจุบันโรงกลั่นที่บริษัทนี้ได้สร้างไว้ช่วงปลายยุค 90 ก็ยังเป็นโรงกลั่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก

ตอนนี้เราเพิ่งเดินทางมาถึงช่วงกลางของอาณาจักรเครือ Reliance กันเท่านั้นเองครับ เพราะในปี 2002 ทางกลุ่มได้ก่อตั้ง บริษัท Reliance Infrastructure ซึ่งธุรกิจหลักคือ พลังงาน ก่อสร้าง และยุทโธปกรณ์ในด้านการทหาร คำว่ายุทโธปกรณ์แปลว่าบริษัทนี้สามารถผลิตและสร้างเรือรบและเครื่องบินรบให้กับประเทศอินเดียได้เลยทีเดียวนะครับ ซึ่งบริษัทก็ทำได้สำเร็จจริงในปี 2018 นี้ นับว่าเป็นการขยายธุรกิจที่แตกต่างจากธุรกิจหลักของตัวเองอย่างสิ้นเชิง มันต้องมีความกล้าและบ้าบิ่นอย่างมาก ใครจะเชื่อครับว่าบริษัทสิ่งทอจะสามารถสร้างเครื่องบินรบได้ในเวลาเพียงไม่กีปี

ทางกลุ่มยังไม่หยุดเพียงแค่นั้น เพราะต่อมายังมีการตั้ง Reliance Retail ซึ่งมีอีกกว่า 45 บริษัทย่อยที่อยู่ภายใต้ชื่อ Reliance Retail นี้ ธุรกิจของกลุ่มนี้ครอบคลุมธุรกิจมือถือ สื่อสาร ท่องเที่ยว เอนเตอร์เทนเมนต์ ธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ การศึกษา จิวเวลรี่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องนุ่งห่ม สินค้าอุปโภคบริโภค และอื่นๆ อีกมากมาย หากให้เทียบกับกลุ่มธุรกิจในบ้านเราแล้วที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงจะเป็นกลุ่มซีพี เพียงแค่ Reliance มีความหลากหลายมากกว่า และขนาดใหญ่กว่ามากโดยหากเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของไทยอย่าง ปตท. ตามการจัดอันดับบริษัทโลกของ Forbes ปีล่าสุด Reliance Industries อยู่ที่อันดับ 83 ในขณะ ปตท.ของไทยเราอยู่ที่ 156 หากดูจากมูลค่าตลาดแล้ว Reliance Industries มีขนาดใหญ่กว่า ปตท.ของไทยเกือบหนึ่งเท่าตัวเลยทีเดียว

ที่มา : Forbes, The World’s Largest Public Companies, June 2018

Dhirubhai Ambani หรือผู้ก่อตั้งกลุ่ม Reliance มีลูกชายด้วยกันสองคน หากคิดอย่างผิวเผินลูกชายสองคนควรที่จะรักใคร่ปรองดองกันมาก เพราะทั้งคู่ต่างก็ได้เห็นพ่อตัวเองเหน็ดเหนื่อยสร้างตัวมาจากศูนย์เหมือนๆ กัน อย่างไรก็ตาม อย่างที่ผมเรียนไปเบื้องต้นว่าปัญหาธุรกิจในครอบครัวและทรัพย์สินเป็นปัญหาที่ไม่เข้าใครออกใครอย่างแท้จริง ในปี 2002 ผู้ก่อตั้ง Reliance นาย Dhirubhai Ambani ก็ได้เสียชีวิตลงและชนวนความขัดแย้งของพี่น้องคู่นี้ก็ได้เริ่มขึ้น Dhirubhai Ambani หรือพ่อของทั้งสองนั้นไม่ได้มีการทำพินัยกรรมเอาไว้ จึงทำให้เกิดสุญญากาศและความคลุมเครือขึ้นว่าใครจะได้อะไรไป เพื่อให้บริษัทดำเนินงานต่อไปได้ การจัดการเบื้องต้นคือให้ลูกชายคนโตนาย Mukesh Ambani ขึ้นเป็นประธานและกรรมการผู้จัดการของกลุ่ม และน้องชายนาย Anil Ambani ดำรงตำแหน่งรองประธานของกลุ่ม

ที่มา : Buisnesstoday.in

ถึงแม้ Mukesh และ Anil จะเป็นพี่น้องกันแต่วิธีการบริหารและทิศทางของบริษัทที่ตัวเองต้องการให้เป็นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน ความขัดแย้งของพี่น้องคู่นี้ทวีขึ้นเรื่อยๆ จนในปี 2004 ความขัดแย้งได้ลุกลามใหญ่โต ข่าวไม่เพียงไม่สามารถหยุดอยู่ในแวดวงครอบครัวหรือเพื่อนฝูงได้เหมือนแต่ก่อน แต่ยังได้แพร่กระจายไปสู่ประชาชนทั่วไป จริงๆ ต้องบอกว่าข่าวความขัดแย้งของทั้งสองเป็นที่จับตาของประชาชนชาวอินเดียอย่างใกล้ชิด ในที่สุดแม่ของทั้งสองได้ปรากฏตัวต่อสื่อและสังคมโดยขอเป็นตัวกลางยุติความขัดแย้งนี้ด้วยตัวเอง การที่แม่ซึ่งเป็นผู้หญิงต้องเข้ามาจัดการกับปัญหานี้ต่อหน้าฝูงชนเรียกได้ว่า เป็นที่ผิดวิสัยของสังคมอินเดียที่ให้อำนาจผู้ชายในการจัดการเรื่องทำนองนี้เป็นอันมาก

สิ่งที่แม่ของทั้งสองได้เข้ามาจัดการคือการแยกอาณาจักรธุรกิจออกเป็นสองส่วน และให้สิทธิ์ขาดของธุรกิจนั้นแก่ลูกแต่ละคน โดยลูกชายคนโต Mukesh Ambani ได้ธุรกิจน้ำมันและก๊าซภายใต้ชื่อ Reliance Industries ไป และน้องชาย Anil Ambani ได้ธุรกิจสื่อสาร ไฟแนนซ์ และพลังงาน ภายใต้ชื่อ Reliance Group ไป ปัญหาดูเหมือนน่าจะจบลงจากการแบ่งธุรกิจออกไปสองส่วนแบบนี้ แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้ง่ายแบบนั้น หลังจากการแยกบริษัทเป็นสองส่วน มีข้อตกลงว่าบริษัทของ Mukesh พี่ชายจะขายก๊าซและน้ำมันให้กับธุรกิจโรงไฟฟ้าของน้องชายในราคาที่ถูกกว่าตลาด อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงนี้ได้ถูกสั่งให้ยกเลิกจากรัฐบาลโดย Anil น้องชายเชื่อมั่นว่าพี่ชายของตัวเองได้มีการพูดคุยและโน้มน้าวให้รัฐบาลเข้ามาจัดการเพื่อให้ข้อตกลงนี้เป็นโมฆะไป โดยขณะเดียวกันธุรกิจสื่อสารที่ Anil ได้ไปก็เริ่มมีทีท่าว่าไม่ค่อยดีแล้วเช่นกัน

สถานการณ์ความตึงเครียดของทั้งสองได้หวนกลับมาอีกครั้ง และหัวข้อการประจัญหน้าของทั้งสองได้กลายเป็นสิ่งที่ถูกคนวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย ทั้งคู่มีการต่อสู้กันผ่านสื่อ ล็อบบี้คนในรัฐบาล ส่งจดหมายหานายกรัฐมนตรี และฟ้องร้องกันในศาล จนในที่สุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอินเดียต้องออกมาเรียกร้องให้ทั้งสองยุติความขัดแย้งนี้ให้เร็วที่สุด เพราะความขัดแย้งของทั้งสองที่ต่างเป็นเจ้าของบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศได้ส่งผลกระทบไปสู่ตลาดหุ้นและเศรษฐกิจของอินเดีย ไม่น่าเชื่อนะครับว่าเพียงการทะเลาะของคนสองคนจะส่งผลต่อประชาชนและธุรกิจโดยรวมของทั้งประเทศได้…

ปัจจุบันเราอาจพูดได้ว่าพี่ชาย Mukesh เป็นผู้ชนะของสงครามครั้งนี้ เพราะในปีที่ผ่านมา Anil น้องชายถูกบังคับให้ขาย Reliance Communication หรือธุรกิจสื่อสารให้กับ Mukesh เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะล้มละลาย หากอยากเห็นภาพอย่างชัดเจน Reliance Group ของ Anil น้องชายมีมูลค่าตลาดอยู่ที่ 13.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่ทรัพย์สินรวมของ Reliance Industries ที่ Mukesh พี่ชายเป็นเจ้าของมีมูลค่าอยู่ราว130 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือต่างกันราว 10 เท่าเลยทีเดียวนะครับ นอกจากนั้น Mukesh ยังเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในอินเดียต่อเนื่องมาเป็นเวลา 11 ปี มีทรัพย์สินมากกว่าบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของไทยอย่าง ‘พี่น้องตระกูลเจียรวนนท์’ ในขณะที่น้องชายไม่ติด 50 อันดับแรกในปีล่าสุดด้วยซ้ำ

ถึงแม้ทั้งคู่ต่างเรียกได้ว่าเป็นมหาเศรษฐีแต่คงปฎิเสธไม่ได้ว่าความสัมพันธ์ที่เคยสนิทกันมากคงไม่มีทางเป็นเหมือนเดิมได้อีกต่อไป นอกจากบางสถานการณ์ที่ทั้งคู่ถูกบังคับให้ถ่ายรูปคู่หรือจับมือกันแล้ว การสื่อสารต่างๆ แทบจะเป็นศูนย์ทั้งๆ ที่บ้านของทั้งสองต่างอยู่ในละแวกเดียวกัน

เรื่องราวของพี่น้องคู่นี้ถึงแม้จะไม่มีการฆ่ากันแบบในเลือดข้นคนจางแต่ก็เข้มข้นไม่แพ้กัน และผมคงไม่แปลกใจหากวันหนึ่งมีการเอามหากาพย์ของตระกูลนี้มาสร้างเป็นหนังหรือละครในประเทศอินเดีย เพราะประวัติของตระกูลนี้มันคือพล็อตเรื่องที่เหมือนนิยายชัดๆ อาณาจักรที่ถูกสร้างขึ้นจากผู้ชายยากจนคนหนึ่งที่เริ่มจากการทำงานในปั๊มน้ำมันที่ประเทศเยเมนก่อนจะเริ่มขายสิ่งทอด้วยจักรยานสองล้อ การแก่งแย่งสมบัติของลูกชายสองคนที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจทั้งประเทศ ผลิตภัณฑ์และบริการของบริษัทที่ครอบคลุมทุกภาคส่วนของผู้บริโภคตั้งแต่เสื้อผ้า น้ำมัน มือถือ เครือข่ายสื่อสาร ทีวี เครื่องดื่มและอาหาร

ถึงแม้ Reliance เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของธุรกิจครอบครัวที่มีปัญหากัน แต่หากมองอย่างเป็นกลางแล้ว ธุรกิจครอบครัวหรือกงสีก็ไม่ได้มีแต่ส่วนที่แย่ทั้งหมดนะครับ ผมเคยเห็นในหลายกรณีที่คุณพ่อหัวหน้าครอบครัวเสียไป ทิ้งลูกทิ้งเมียเอาไว้ ก็ได้กงสีนี่แหละครับที่ช่วยประคับประคองส่งเสียครอบครัวนี้ต่อไป เพราะฉะนั้นการโทษทุกอย่างไปที่กงสีคงไม่ใช่เรื่องถูก ในขณะเดียวกันกงสีในปัจจุบันเองก็ต้องมีการปรับตัว พยายามจัดสรรปันส่วนให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างยุติธรรมและเป็นสัดเป็นส่วนมากที่สุด ผมเชื่อนะครับว่าหากครอบครัวไหนสามารถสอนให้พี่น้องรักใคร่ปรองดองกัน และพยายามทำให้ระบบระเบียบทุกอย่างยุติธรรม ระบบกงสีหรือธุรกิจครอบครัวก็ยังสามารถเจริญก้าวหน้าได้ถึงแม้จะอยู่ในยุคปัจจุบันเองก็ตาม คนเราอยากประสบความสำเร็จ อยากมีรายสูงๆ ได้ไม่ใช่เรื่องแปลก สิ่งที่แปลกสำหรับผมคือการที่หลายคนเลือกสิ่งนั้นมากกว่าครอบครัวหรือคนที่ตัวเองรัก เพราะสำหรับผมแล้วความสำเร็จหรือความร่ำรวยใดๆ จะไม่มีความหมายเลยหากวันนั้นไม่มีครอบครัวหรือคนที่เรารักอยู่ข้างกาย มันคงเป็นความสำเร็จที่อ้างว้างและโดดเดี่ยวเกินไป ทุกท่านล่ะครับคิดยังไงกับปัญหาเรื่องความขัดแย้งของธุรกิจครอบครัวหรือกงสีกันบ้างครับ?