Thanatkit
เถ้าแก่น้อย เปิด “เถ้าแก่น้อยแลนด์พลัส” ร้านค้าปลีกขายของฝากนักท่องเที่ยว คว้า “เบลล่า” พรีเซ็นเตอร์ เตรียมแตกไลน์เข้าสู่ “ร้านอาหารจานด่วน” หวังลดเสี่ยงธุรกิจสาหร่าย
ถึงวันนี้ “ตลาดสาหร่ายแปรรูป” มูลค่า 3,500 ล้านบาท จะยังคงมีอัตราเติบโต 8-9% และตัว “เถ้าแก่น้อย” สามารถครองตลาดด้วยส่วนแบ่ง 70% ก็ตาม แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่ดี เพราะอัตราการเติบโตไม่หวือหวาเหมือนช่วง 3-4 ปีก่อน ที่เติบโตด้วยตัวเลข 2 หลัก
“ต๊อบ – อิทธิพัทธ์ กุลพงษ์วณิชย์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) บอกเองว่า โจทย์สำคัญของเถ้าแก่น้อยในวันนี้ คือ ภาพรวมของตลาดสาหร่ายมีการเติบโตที่ลดลง ด้วยไม่มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่พอจะสร้างความตื่นเต้นมานานกว่า 10 ปี ทำให้ตลาดนิ่ง ผู้บริโภคก็เริ่มเบื่อ
ถึงแม้เถ้าแก่น้อยพยายามจะออกนวัตกรรมให้ได้ปีละ 1 ชนิด อย่างปีนี้ก็ออก “สาหร่ายเทมปุระไข่เค็ม” ที่พอจะสร้างกระแสได้บ้าง แต่ใช่ว่าสินค้าใหม่ที่ออกมาจะประสบความสำเร็จทุกตัว ขอเพียง 1-2 ตัวไปได้ดีจากทั้งหมด 7-8 ตัวที่ออกมาก็พอใจแล้ว
ทางออกที่ดีที่สุดของ “เถ้าแก่น้อย” วันนี้จึงต้องมองหาธุรกิจอื่นๆ ที่จะเข้ามาลดความเสี่ยง ในที่สุดก็มาลงตัวที่ธุรกิจร้านอาหารจานด่วน หรือ QSR (Quick Service Restaurant) ที่มีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท
สังคมไทยเป็นยุคเร่งด่วน คนไม่ค่อยมีเวลาแต่ยังต้องการอาหารที่มีประโยชน์ ที่ไม่ใช่อาหารแช่แข็ง QSR จึงตอบโจทย์ที่สามารถกินได้เร็ว และมีโอกาสเติบโตมาก
อิทธิพัทธ์ยังไม่เปิดเผยชื่อแบรนด์ บอกแต่ว่าเป็นแบรนด์จากต่างประเทศ ซึ่งเป็นที่รู้จักหรือมีฐานลูกค้าคนไทยอยู่แล้ว เมื่อมาถึงไม่ต้องใช้งบการตลาดมากมายในการสร้างแบรนด์ อีกทั้งผู้บริโภคยังมีความต้องการอยู่มาก แต่ที่มีอยู่ในตลาดยังไม่ดีพอ
“ตอนแรกยังลังเลระหว่างแฟรนไชส์จากญี่ปุ่นหรือไต้หวันดี เพราะทั้ง 2 ประเทศขึ้นชื่อเรื่องอาหารทั้งคู่ แต่ในที่สุดก็เลือกแฟรนไชส์จากญี่ปุ่น ซึ่งค่อนข้างมีชื่อเสียงในโตเกียว เบื้องต้นจะทดลองตลาด 1 สาขาก่อนในกรุงเทพฯ ในร้านจะมีขายครบทั้งของคาว ของหวาน เครื่องดื่ม หากประสบความสำเร็จปีหน้าก็วางแผนที่จะทุ่มขยายสาขาสุดตัว”
เปิดโมเดลใหม่ “เถ้าแก่น้อยแลนด์พลัส”
ขณะเดียวกัน ต๊อบ-อิทธิพัทธ์ ให้ความสำคัญธุรกิจค้าปลีก “เถ้าแก่น้อยแลนด์” ล่าสุดได้เปิดโมเดลใหม่ ให้มีขนาดและสินค้าที่หลากหลายมากขึ้นโดยใช้ชื่อว่า “เถ้าแก่น้อยแลนด์พลัส”
เดิมร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ สาขาแรกที่ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ เปิดเมื่อ 8 ปีก่อน มีลักษณะเหมือนกับโชว์รูมให้กับลูกค้าคนไทย แต่หลังจากไปเปิดสาขาที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 อโศก แล้วพบว่าลูกค้าหลักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากต่างประเทศ
ต๊อบจึงตัดสินใจปรับกลยุทธ์จากที่เน้นคนไทยหันไปเน้นชาวต่างชาติมากขึ้น โดยจะเปิดสาขาในจุดที่มีนักท่องเที่ยวอยู่เยอะ มีโมเดล 2 รูปแบบคือ เถ้าแก่น้อยแลนด์ มินิ มีขนาด 20-50 ตารางเมตร ลงทุน 1-2 ล้านบาท และเถ้าแก่น้อยแลนด์ มินิ ขนาด 50 – 150 ตารางเมตร ลงทุน 2-3 ล้านบาท ตอนนี้มีรวมกันประมาณ 20 สาขา มีทราฟฟิกของคนที่ซื้อทุกสาขารวมกันประมาณ 10,000 คนต่อสัปดาห์
“ทั้ง 2 โมเดลที่เปิดไปเราพบจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน ที่เป็นฐานลูกค้าหลัก 70% อีก 20% เป็นเอเชีย เช่น เวียดนาม ไต้หวัน สิงคโปร์ ที่เหลือ 10% คนไทย คือถึงลูกค้าจะซื้อขนมในร้านไปเป็นของฝากก็จริง แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็ต้องไปซื้อสินค้าอื่นๆ ที่ร้านต่อไปอยู่ดี จึงเป็นที่มาของการเปิดเถ้าแก่น้อยแลนด์ พลัส เพื่อทำให้เป็น One Stop Shopping ลูกค้าจะได้ไม่ต้องไปร้านอื่นอีก”
เบื้องต้นได้เปิด 1 สาขา ตั้งอยู่ ณ ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นเตอร์พอยท์ ออฟ สยามสแควร์ เมื่อ 2 เดือนก่อน สิ่งที่เปลี่ยนไปในร้านคือขนาดที่ใหญ่ขึ้น ใช้พื้นที่เฉลี่ย 150 – 300 ตารางเมตร เงินลงทุน 5-10 ล้านบาท ภายในปีนี้จะเปิดเพิ่มอีก 1 แห่ง
สินค้าที่วางขายจะเพิ่มขึ้นเท่าตัว จากเดิม 1,000 SKU เป็น 2,000 SKU ได้แก่ กลุ่มสุขภาพ สปา บำรุงผิว สิ่งทอ ของฝาก และของที่ระลึกต่างๆ ในราคาที่จับต้องได้ เช่น พวงกุญแจ หรือที่นอนยางพารา เป็นต้น
สินค้าหลัก 60% จะเป็นอาหาร 40% เป็นสินค้าอื่นๆ โดยสินค้าแบรนด์เถ้าแก่น้อยและเฮาส์แบรนด์ของร้านมี 20% โดยสินค้าที่ขายดีที่สุดของร้านในแง่จำนวนคือ กลุ่มสมุนไพร เช่น ยาดม ยาหม่อง ส่วนอาหารก็ยังเป็นแบรนด์เถ้าแก่น้อยอยู่
งานเปิดตัว ได้ติดต่อ “เบลล่า – ราณี แคมเปน” เป็นพรีเซ็นเตอร์ของเถ้าแก่น้อยแลนด์ เหตุที่เลือกเบลล่าด้วยมองว่ามีความสามารถในการโปรโมตความเป็นไทยได้ดี อีกทั้งเริ่มมีชื่อเสียง มีฐานแฟนคลับทั้งคนไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังได้เตรียมงบ 20 ล้านบาทในทำการตลาดของเถ้าแก่น้อยแลนด์ หลักๆจะทำในสื่อออนไลน์
ต๊อบบอกว่าเป้าหมายของ “เถ้าแก่น้อยแลนด์พลัส” คือลูกค้าอยู่ในร้านนานและใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ถ้าเป็นร้าน “เถ้าแก่น้อยแลนด์” เดิมจะใช้เวลาเฉลี่ย 20-30% มียอดใช้จ่ายต่อบิล 400 – 500 บาท แต่หลังจากทดลองเปิดเถ้าแก่น้อยแลนด์พลัสได้ 2 เดือน ยอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็น 600 บาท ใช้เวลาในร้าน 30-60 นาที และมียอดใช้จ่ายต่อบิล 800 – 1,000 บาท
นอกจากนี้ยังได้เตรียมเพิ่มคีออสขายอาหารปรุงสดขึ้นมาใหม่ในร้าน ซึ่งบางเมนูจะใช้สาหร่ายมาเป็นส่วนประกอบด้วย ภายในร้านจะเป็นโต๊ะและเก้าอี้ให้นั่งประมาณ 10-15 ตัว
เปิดเถ้าแก่น้อยแลนด์ 4 ปี ต้องมี 100 สาขา
เถ้าแก่น้อยวางแผนขยาย “เถ้าแก่น้อยแลนด์” ภายใน 4 ปี ต้องเปิดให้ได้ 100 สาขา ใช้งบลงทุนทั้งหมด 150-200 ล้านบาท แบ่งเป็นมินิกับขนาดปรกติ 60 สาขา ที่เหลือ 40 สาขาจะเป็นขนาดใหญ่ ไปในทำเลที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องที่ยว โดยจะไม่ทำเป็นแฟรนไชส์เด็ดขาด
“เราต้องการให้เถ้าแก่น้อยแลนด์ขึ้นเป็นท็อปออฟมายด์ ร้านค้าขายของฝากทั้งของกินและของที่ระลึก หากสามารถขยายสาขาตามแผนที่วางไว้ เถ้าแก่น้อยแลนด์ จะกลายเป็นเชนที่ใหญ่ที่สุดของไทย เมื่อถึงตอนนั้นคาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 300 ล้านบาท”
ขณะเดียวกันในภาพรวมของบริษัทเถ้าแก่น้อยต็อบเกริ่นไว้ว่า กำลังอยู่ในระหว่างวางแผนปรับกลยุทย์และภาพลักษณ์ขององค์กรให้เป็น “Happiness Company” ซึ่งจะเห็นความชัดเจนในปีหน้า.