หลังจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ผลิตสาหร่ายอบกรอบชื่อดังอย่างเถ้าแก่น้อยได้ประสบปัญหาจากการแพร่ระบาดของโควิด จนต้องปรับกลยุทธ์ รวมถึงต้องประคองตัวในช่วงที่ผ่านมา แต่ในปี 2023 เราอาจได้เห็นการเติบโตของแบรนด์สาหร่ายดังกล่าวนี้อีกครั้ง รวมถึงการปลุกปั้นแบรนด์ดังกล่าวให้กลายเป็นแบรนด์ระดับโลกด้วย
ต๊อบ อิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จํากัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงก้าวย่างของบริษัทในปีที่ 20 ว่าบริษัทได้ผ่านอะไรมาเยอะมาก ตั้งแต่โควิดได้รับผลกระทบ และกลับมาเเติบโตในปี 2022 มีสัดส่วนตลาด 65%
ขณะเดียวกันเขายังชี้ว่า โชคดีที่ตอนนี้ประเทศไทยได้กลับมาเปิดประเทศหลังการแพร่ระบาดของโควิดอีกครั้ง เขาคาดว่าไทยจะมีนักท่องเที่ยวมากถึง 30 ล้านคน เขายังคาดว่าสัดส่วนยอดขายที่มาจากนักท่องเที่ยวน่าจะมากถึง 10% ด้วย
เขายังมองว่ามองนักท่องเที่ยวจีนกลับมาแค่ 30% เท่านั้น และมองว่าหลังเดือนกรกฎาคมน่าจะมียอดขายเพิ่มมากกว่านี้
ทำแบรนด์เถ้าแก่น้อยให้ฟิตและเฟิร์มขึ้น
ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิดผู้บริหารของเถ้าแก่น้อยได้กล่าวว่า ยอดขายลดลง ทำให้ต้องมาโฟกัสกับการบริหารค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกสินค้าที่ขายไม่ค่อยดี เริ่มดูช่องทางการขายต่างๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ขณะเดียวกันก่อนการแพร่ระบาดของโควิด ต๊อบ เถ้าแก่น้อย ได้เล่าว่าบริษัทมีโรงงานอยู่ 2 แห่ง แต่หลังการแพร่ระบาดของโควิดทำให้บริษัทเหลือโรงงานผลิตที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ กำลังการผลิตดีมากขึ้น ทำให้มีการประหยัดต่อขนาด (Economy Of Scale) ส่งผลทำให้กำไรขั้นต้นของบริษัทเพิ่มมากขึ้น
เขาได้กล่าวว่าตอนนี้บริษัทวางแผนที่จะลุยผลิตภัณฑ์อื่นด้วย หลังจากที่ร่วมมือกับบริษัทไต้หวันในการผลิตชานม ขณะเดียวกันบริษัทได้ออกสินค้าใหม่คือสาหร่ายอบสไตล์เกาหลี ซึ่งผลตอบรับดีมาก และผลิตภัณฑ์ใหม่ดังกล่าวเขาเชื่อว่าเป็นตัวผลักดันกำไรกับยอดขายได้
อย่างไรก็ดีต๊อบได้เล่าว่าในการลุยผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่ไม่ใช่สาหร่าย เขาบอกว่ามีโอกาสล้มเหลว แต่อยากลอง มุ่งไปสู่จุดแข็ง แต่ก็ไม่ทำอะไรเกินฝัน
นอกจากนี้อิทธิพัทธ์ยังกล่าวว่าบริษัทยังทำระบบกระจายสินค้าด้วย จากเดิมที่ใช้ DKSH และตอนนี้มีศูนย์กระจายสินค้าเองแล้ว เขาชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงแบรนด์สาหร่ายได้มากขึ้น และทำยอดขายได้มากกว่าเดิม แม้จะมีอุปสรรคอยู่บ้าง แต่เขาคาดว่า 2-3 เดือนหลังจากนี้ดีขึ้น
กลับมาเปิดเถ้าแก่น้อยแลนด์อีกรอบ แต่ใช้โมเดลใหม่
ต๊อบได้เล่าถึงการปิดสาขาเถ้าแก่น้อยแลนด์ไปจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ตอนนี้กลับมาเปิดอีกรอบแล้วโดยใช้โมเดลธุรกิจใหม่คือเปิดสาขาพื้นที่ไม่เกิน 50 ตารางเมตร ทำให้การใช้เงินลงทุนลดลงเหลือเพียง 5 แสนบาทต่อสาขา จากเดิมที่ 2 ล้านบาทต่อสาขา โดยสาขาแรกตอนนี้อยู่ที่เอเชียทีค และคาดว่าจะเปิดได้ 5 สาขา
กลยุทธ์ในปีนี้ของบริษัทคือเปิดเถ้าแก่น้อยแลนด์เพียงแค่ 2 สาขา และกำลังดูพื้นที่ในละแวกที่มีนักท่องเที่ยวเยอะ เช่นไอคอนสยาม หรือแม้แต่สยามสแควร์ เขายังกล่าวติดตลกด้วยว่า “มองทุกวันคือโควิด จะได้ปรับตัวไปทุกๆ วัน”
เมื่อพื้นที่ของเถ้าแก่น้อยแลนด์เล็กลง ทางร้านจะขายแบรนด์เถ้าแก่น้อย หรือ House Brand ของบริษัทเท่านั้น อะไรที่ทัวร์ชอบจะทำ House Brand ส่วนสินค้าอื่นที่เอามาขายประกอบด้วยจะลดจำนวนลง ทำให้กำไรของเถ้าแก่น้อยแลนด์เพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันลูกค้าชาวต่างชาติที่มาเถ้าแก่น้อยแลนด์ เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน อินโด รวมถึงเกาหลีใต้ เขาชี้ว่าลูกค้าอาเซียนถือเป็นลูกค้าหลักไปแล้ว ขณะที่ลูกค้าชาวจีนยังมีสัดส่วนแค่ 20% เท่านั้น และคาดว่าในปีนี้เถ้าแก่น้อยแลนด์จะมีรายได้ต่อเดือนราวๆ 2 ล้านบาทต่อสาขา
ขณะเดียวกันเขาก็ชี้ว่า อาจเปิดมุมขายสินค้าของเถ้าแก่น้อยตามแลนด์มาร์กจุดท่องเที่ยวต่างๆ ในรูปแบบเล็กลงมา เน้นกลยุทธ์เน้นป่าล้อมเมือง ใช้งบลงทุนน้อยลง แต่ได้กำไรมากขึ้น
เจาะตลาดต่างประเทศนอกจากจีนเพิ่มเติม
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเถ้าแก่น้อยได้กล่าวว่า ยอดขายในสหรัฐอเมริกาในปีที่ผ่านมาเติบโตราวๆ 70% เขามองว่าปีนี้ยังเติบโตต่อได้ และบริษัทในสหรัฐอเมริกาตอนนี้มีกำไรแล้ว จากเดิมที่ขาดทุนช่วงโควิด ขณะที่ในประเทศจีนตอนนี้ได้แก้ปัญหาที่พบในช่วงที่ผ่านมาไปแล้ว ทั้งการเปลี่ยน Distributor และปัญหาอื่น
ในแผนการลุยต่างประเทศ (Go Board) ตอนนี้เถ้าแก่น้อยมีขายใน 50 ประเทศ เขาชี้ว่า 10 ประเทศมียอดขายมากกว่า 100 ล้านบาท
ต๊อบกล่าวว่ากลยุทธ์แต่ละประเทศนั้นจะแตกต่างไป เช่น ในสหรัฐอเมริกาเขาเน้นมาก โดยเฉพาะการกระจายสินค้า ขณะที่มาเลเซียขายดีมาก เริ่มใส่งบลงทุนไปบ้างแล้ว ขณะที่ประเทศจีนนั้นมีการไลฟ์ขายสินค้าต่อครั้งมียอดขาย 8-9 ล้านบาท บางครั้ง 10 ล้านบาทด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ต๊อบยังมองว่ายอดขายในจีนจะเติบโตกว่านี้ ซึ่งช่วงก่อนหน้านี้อยู่ที่ราว 2,000 ล้านบาท จนการแพร่ระบาดของโควิดทำให้ยอดขายต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท ไม่เพียงเท่านี้ ในการเจาะตลาดจีนครั้งใหม่มีการซื้อข้อมูลจาก AC Nielsen รวมถึงจะซื้อข้อมูลในประเทศอื่น เพื่อที่จะเจาะกลุ่มลูกค้าได้ถูกจุด
เขากล่าวว่าล่าสุดตอนนี้ยอดขายอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท และจะกลับไปสู่ยอดขาย 2,000 ล้านบาทที่มีกำไรที่ดีขึ้นและเขายังเสริมอีกว่า ยุโรป แคนาดา และ เวียดนาม มียอดขายดีมากขึ้น และจะทำให้มีการเจาะตลาดหรือแม้แต่ลงทุนเพิ่มเติมหลังจากนี้
ขณะเดียวกันเขาก็มีแผนว่าหลังจากนี้อาจไปตั้งโรงงานนอกประเทศ และอาจหาพาร์ตเนอร์ เพื่อทำให้ยอดขายสินค้ามากขึ้นสำหรับประเทศที่มียอดขายดีมาก
เปรยเตรียมปั้นเถ้าแก่น้อยให้เป็นแบรนด์ระดับโลกภายใน 1-2 ปี
ต๊อบยังกล่าวถึงแผนการที่จะทำให้แบรนด์เถ้าแก่น้อยเป็นแบรนด์ระดับโลก (Go Global) นอกจากนี้ยังมีแผนการที่จะบริหารบริษัทให้เป็นบริษัทระดับโลก โดยดูว่าบริษัทระดับโลกเป็นยังไง ดำเนินงานเช่นไร เพื่อที่จะยกระดับบริษัทขึ้นไป
นอกจากนี้ในเรื่องของแบรนด์เถ้าแก่น้อยที่จะปั้นให้เป็นแบรนด์ระดับโลกได้นั้น เขาให้เปรียบเทียบว่าเพราะทุกวันนี้เหมือนขายแบรนด์เถ้าแก่น้อยไปด้วย ตอนนี้มีพรีเซ็นเตอร์ต่างประเทศ เขากล่าวว่าในการปั้นแบรนด์เถ้าแก่น้อยให้เป็นแบรนด์ระดับโลกอาจต้องใช้แบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลกมากขึ้น รวมถึงแคมเปญการตลาดที่ใหญ่กว่าเดิม ซึ่งคาดว่าจะทำภายใน 1-2 ปีนี้ แต่เขาได้อุบว่าแบรนด์แอมบาสเดอร์ระดับโลกที่ดูไว้อยู่คือใคร
เขาได้กล่าวเสริมว่า “สร้างแบรนด์ก็ต้องสร้างไป ขายของก็ส่วนขายของ” ซึ่งแผนดังกล่าวนั้นเพิ่มเติมจากกลยุทธ์เดิมที่ใช้นั่นคือไอดอลมาร์เก็ตติ้ง
ขณะที่แบรนด์เถ้าแก่น้อยเดินทางมา 20 ปีแล้วนั้น ต๊อบมองว่าเป็นแบรนด์คนรุ่นใหม่ไฟแรง มีความสุขุมมากขึ้น เขามองว่าเทรนด์การตลาดเปลี่ยนแปลงไปตลอด และพยายามปรับตัวทุกวัน รวมถึงาต้องตามลูกค้าให้ทัน แต่เขาย้ำว่าอย่าตามเทรนด์มากเกินไป แต่ดูว่าผู้บริโภคต้องการอะไรมากกว่า คิดแคมเปญแล้วต้องปรับแคมเปญด้วยและต้องยืดหยุ่น
ผู้บริหารสูงสุดของเถ้าแก่น้อยยังมองมองว่าแบรนด์ต้องหาสตอรี่ใหม่ๆ และแบรนด์ต้องมีความวัยรุ่นตลอด ผู้บริโภคมีหลายกลุ่มมากขึ้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนนึง ซึ่งล่าสุดแบรนด์สาหร่ายรายดังกล่าวได้เลือก 3 แบรนด์แอมบาสเดอร์ ไม่ว่าจะเป็น กลัฟ คณาวุฒิ ไตรพิพัฒนพงษ์ และ ซี พฤกษ์ พานิช รวมถึง นุนิว ชวรินทร์ เพริศพิริยะวงศ์
ต๊อบยังมองว่าบริษัทอายุครบ 20 ปีตอบโจทย์ทั้งผู้บริโภค ทั้งพนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง เขามองว่า 10 ปีหลังจากนี้เถ้าแก่น้อยจะต้องเติบโตทั้งยอดชายและกำไร 2 หลักทุกปี ด้วยแนวคิด Work Togerther Win Together เขายังกล่าวเสริมอีกว่าพยายามผลักดันให้เป็นแบรนด์เถ้าแก่น้อยเป็นหนึ่งในแบรนด์ไทยที่ออกไปโตเมืองนอก เหมือนกับการส่งออก Soft Power ของไทยด้วย
เรื่องอื่นๆ หลังจากนี้
ผู้บริหารสูงสุดของเถ้าแก่น้อยยังกล่าวว่า บริษัทต้องดูในเรื่อง ESG รวมถึงกลยุทธ์โครงการลดก๊าซเรือนกระจก เพราะแบรนด์ระดับโลกเริ่มนำสิ่งเหล่านี้มาใช้มากขึ้นตอนนี้เห็นผลชัดสุดคือบริษัทได้ติดโซลาร์เซลล์ ซึ่งลดค่าไฟฟ้าได้ราวๆ 20% นอกจากนี้บริษัทยังมีแผนลดความสิ้นเปลืองแต่ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกันบริษัทก็ได้จับมือกับ SCG ในการทำ Packaging ผลิตภัณฑ์แบบใหม่ที่รักษ์โลกมากขึ้น แต่ตอนนี้ค่อย ๆ ทำไป มีผลิตภัณฑ์ออกมาเพื่อให้เห็นว่ามีแนวโน้มทำได้ ถ้าขายดีก็จะทำต่อไป
ในเรื่องของการซื้อกิจการอื่นนั้น เขากล่าวว่ามีโอกาสซื้อกิจการซื้อได้ก็ซื้อ ถ้าราคาสมเหตุสมผล
นอกจากนี้เขายังกล่าวว่าบริษัทยังไม่ได้ปรับราคาสินค้าขึ้นเลยด้วยซ้ำ แต่จะใช้วิธีออกสินค้าใหม่แล้วปรับราคาไปเลย ยกเว้นสินค้าเก่า แต่บริษัทอาจต้องปรับราคาบ้างถ้าหากต้นทุนนั้นเพิ่มสูงขึ้น