สร้างเข็มทิศทางการเงิน เติมเต็มชีวิตมั่งคั่งให้มั่นคง

โดย ตราวุทธิ์ เหลืองสมบูรณ์ CEO Jitta Wealth

เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ไม่ทันไรก็เข้าสู่ไตรมาส 2 ของปี 2566 กันแล้ว สุขภาพการเงินเป็นอย่างไรกันบ้างครับ ผมอยากชวนให้มาสำรวจกันบ้างว่า ขณะนี้สุขภาพการเงินของคุณแข็งแรงแค่ไหน

ผมไม่ได้หมายถึงเพียงเรื่องการออมเงิน พอร์ตการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ หรือเงินฝากต่างๆ ที่ออกดอกออกผลเติบโตเท่านั้น แต่ผมโฟกัสไปถึง ‘การเงินทั้งหมด’ แบบครบวงจรที่จะตอบโจทย์ ครอบคลุมทั้งการสร้างความมั่นคง มั่งคั่งให้กับการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ มีอิสระในระยะยาวหรือรองรับช่วงเวลาหลังเกษียณได้อย่างแท้จริง

ผมเข้าใจครับว่า เส้นทางสู่การสร้างสุขภาพการเงินแข็งแรง ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จริงๆ ก็ทำได้ไม่ยากมากครับ ขอเพียงให้คุณเริ่มต้นโดยเร็ว เพราะยิ่งเริ่มต้นทำตั้งแต่อายุน้อยๆ คุณจะมีโอกาสไปถึงเป้าหมายได้เร็วและมากกว่าคนที่เริ่มต้นช้า วันนี้ผมเลยขออาสามาแนะนำแนวทางการวางแผนการเงินในสไตล์จิตตะ (Jitta)

ก่อนอื่น คุณคิดเหมือนผมใช่ไหม ‘คู่แข่งตัวจริง’ ที่มีผลต่อสุขภาพการเงินของคุณ คือ โลกทุนนิยมที่พยายามโน้มน้าวสร้างกิเลสให้ผู้คนใช้เงินเยอะๆ ไปกับการซื้อของโน่นนี่ที่อยากได้ตามแต่ละช่วงวัยที่มีเงินในกระเป๋า

Photo : Shutterstock

เพราะเรื่องเงินๆ ทองๆ เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับเรามาตลอด หากเป็นช่วงวัยเด็กของคน Gen Y ขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่ก็จะมีรูปแบบการออมเงินให้ในรูปแบบของการฝากเงินกับธนาคารกันแทบทั้งนั้น แต่พอเด็กเหล่านี้เรียนจบหรือเริ่มทำงานใหม่ๆ พอมีรายได้เข้ามา พวกเขาส่วนใหญ่จะหาซื้อสิ่งของที่อยากได้เป็นรางวัลชีวิตก่อนตามโลกทุนนิยมดิจิทัล

ขณะที่สิ่งที่ Jitta อยากให้คุณพยายามทำไม่ว่าจะเป็นทำให้ตัวเองหรือให้คุณลูกๆ คือ แนะนำให้คุณสร้างความสมดุลด้านการเงิน ผมอยากชวนให้มาวางแผนการเงินส่วนบุคคลกันตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงวัยสูงอายุกันเลยครับ เริ่มต้นจากมีเงินน้อยก็จัดแบบน้อยๆ ไปก่อนครับ

วิถีจิตตะ 7 ขั้นตอนอุดรอยรั่ว สร้างสุขภาพการเงินแข็งแรง

มาดูกันว่า การวางแผนการเงินส่วนบุคคล กับ 7 ขั้นตอนง่ายๆ ที่คนโสดทุกคนทำตามได้ เพื่อใช้ชีวิตของตัวเองได้อย่างมีความสุข และถ้าทำไปเรื่อยๆ คุณจะชินและเกิดเป็นวินัยทางการเงินขึ้นมาเองอัตโนมัติครับ

ขั้นตอนแรก จดรายรับ-รายจ่าย เงินเข้าเงินออกต้องรู้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสุขภาพการเงินที่ดี การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย จะทำให้คุณรู้ว่ามีเงินไหลเข้ากระเป๋าจากทางไหน และไหลออกกับอะไรบ้าง ซึ่งเดี๋ยวนี้มีวิธีจดรายรับ-รายจ่ายเยอะมาก ไม่ว่าจะจดโน้ตง่ายๆ ในมือถือ หรือจะหาแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่ายและฟรีมีให้เลือกเยอะ เพียงหยิบมือถือออกมากดไม่กี่ปุ่มก็เสร็จแล้ว

ที่แปลกแต่จริง ก็คือถ้าคุณจดรายรับ-รายจ่ายติดกันสัก 2-3 เดือนแล้วเอามาทำบัญชีแบบง่ายๆ ในสมุดสักเล่มหรือโปรแกรม Spreadsheet คุณจะเริ่มขยับตัว หาทางทำให้ตัวเองมีเงินเหลือเก็บเองโดยธรรมชาติ ถ้าไม่เชื่อให้ลองทำตามดูครับ ใช้ชีวิตปกติของคุณไป แล้วจดให้หมดว่า จ่ายอะไรไปเท่าไรโดยไม่ต้องรู้สึกผิด อย่าลืมว่าคุณกำลังจัดระเบียบการเงินของตัวเองอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ

Photo : Shutterstock

ขั้นตอนที่สอง ตั้งงบประมาณ จัดระเบียบเงิน หลังจากที่คุณจดรายรับ-รายจ่ายมาสักพัก ก็จะเริ่มเห็นว่าในแต่ละเดือนคุณใช้เงินไปกับอะไรบ้าง และถ้าคุณอยากปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายในแต่ละเดือนให้เป็นไปตามที่ต้องการ ต้องทำยังไงบ้าง?

คำตอบคือ การ ‘ตั้งงบประมาณ’ สำหรับค่าใช้จ่ายแต่ละหมวด เช่น คุณอยากลดค่าใช้จ่ายในการดื่มกาแฟแต่ละเดือนลงจาก 4,000 บาท ให้เหลือ 3,000 บาท คุณอาจตั้งงบค่ากาแฟในเดือนถัดไปให้เหลือ 3,500 บาทก่อนเพื่อไม่ให้ตึงเกินไป แล้วค่อยลดเหลือ 3,000 บาทอีกทีก็ได้ หรือถ้าใครอยากให้รางวัลตัวเองทุกเดือนแบบไม่บานปลาย ก็ตั้งงบประมาณตรงนี้เอาไว้ได้เหมือนกันครับ

เพราะฉะนั้น การตั้งงบประมาณช่วยให้คุณคุมค่าใช้จ่ายได้เป็นระบบมากขึ้น แต่คุณก็ต้องมี ‘วินัย’ ที่จะไม่ใช่จ่ายเกินงบที่ตัวเองตั้งมาด้วย ขอย้ำว่าข้อนี้สำคัญมากๆ ครับ

ขั้นตอนที่สาม เคลียร์หนี้ระยะสั้น ก่อนพอกหางหมู หลังจากเห็นว่าเงินตัวเองไหลเข้า-ออกไปไหนบ้าง และเริ่มจัดระเบียบการใช้จ่ายได้แล้ว ถึงตอนนี้คุณน่าจะเห็นตัวเลขมีเงินเหลือเก็บในแต่ละเดือนกันแล้วครับ ซึ่งอาจจะยังไม่รู้ว่าเอาไปทำอะไรดี

ผมแนะนำว่าสิ่งแรกที่คุณควรทำคือการ ‘จ่ายคืนหนี้ระยะสั้น’ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้บัตรกดเงินสดที่คิดดอกเบี้ยสูง ซึ่งหนี้เหล่านี้พร้อมจะพอกพูนเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่ทำให้หลายคนติดกับดักจนหาทางออกไม่ได้ ดังนั้น ถ้าสามารถจ่ายคืนหนี้ระยะสั้นได้ ขอให้รีบเคลียร์เป็นอันดับแรกเมื่อมีเงินเหลือครับ

Photo : Shutterstock

ส่วนหนี้สินระยะยาว เช่น ค่างวดผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ที่ต้องจ่ายทุกเดือนและอยู่ในงบรายรับ-รายจ่ายอยู่แล้ว ถ้าสามารถโปะเงินต้นได้ก็ดีครับ แต่ถ้ามีเรื่องสำคัญกว่าที่ต้องใช้เงินก็ไม่เป็นไร อยู่ที่การบริหารเงินของแต่ละคน

ขั้นตอนที่สี่ เงินสำรองฉุกเฉิน มีหรือยัง? หลังจากที่เคลียร์หนี้ระยะสั้นหมดแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการป้องกันความเสี่ยง โดยเงินก้อนแรกที่ทุกคนต้องมีคือ ‘เงินสำรองฉุกเฉิน’ จำนวน 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือนครับ

สมมติว่าจากที่คุณจดรายรับ-รายจ่ายมา คุณใช้เงินเฉลี่ยเดือนละ 20,000 บาท คุณก็ควรมีเงินส่วนนี้อยู่ 6 x 20,000 = 120,000 บาท หรืออย่างน้อยมีสักครึ่งนึงก็ยังดี เพราะเงินก้อนนี้จะถูกใช้ในยามที่ชีวิตเดินเข้ามาถึงจุดเปลี่ยน เช่น ถูกให้ออกจากงาน ขาดรายได้กะทันหัน คุณจะยังพอมีเวลาให้ตระเตรียมหัวใจ ตั้งหลักให้ชีวิตอีกครั้ง แต่ห้ามใช้เงินก้อนนี้ไปกับเรื่องอื่นที่ ‘ไม่ฉุกเฉิน’ เด็ดขาดนะครับ

ขั้นตอนที่ห้า ทำแผนการออม พร้อมเกษียณอย่างสำราญ เมื่อคุณมีเงินก้อนนึงเตรียมไว้สำหรับเหตุฉุกเฉินที่จำเป็นสำหรับทุกคนแล้ว ก็เริ่มวางแผนใช้ชีวิตเกษียณให้มีความสุขได้แล้วครับ

วิธีคำนวณว่าต้องเก็บเงินเท่าไร ทำได้ง่ายๆ โดยการนำจำนวนเงินที่คุณวางแผนจะใช้ต่อเดือนในยามเกษียณ มาคูณด้วยจำนวนเดือนที่คุณ (คิดว่า) จะมีชีวิตอยู่แบบไม่มีรายได้ เพื่อหาจำนวนเงินที่ต้องเก็บได้เลย สมมติว่าคุณจะเกษียณตอนอายุ 60 ปี คิดว่าจะอยู่ไปถึงอายุ 80 ปี และน่าจะต้องใช้เงินเดือนละ 30,000 บาท (ไม่รวมเงินเฟ้อ) เท่ากับว่าคุณต้องเก็บเงินให้ได้อย่างน้อย 30,000 x 240 เดือน (20 ปี) = 7.2 ล้านบาท เงินก้อนนี้ คือเป้าหมายที่คุณต้องเก็บเงินไปให้ถึงเป็นอย่างน้อย เพราะจริงๆ แล้วต้องคิดถึงเรื่องเงินเฟ้ออีก โดยอาจวางแผนเก็บเงินทุกเดือน เดือนละกี่บาทก็ว่าไป เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนี้

Photo : Shutterstock

เห็นจำนวนเงินแล้ว คุณอย่าเพิ่งท้อครับ เพราะจริงๆ แล้วเราเก็บเงินคนเดียวก็ไปถึงจุดนั้นได้ ถ้าเรามีตัวช่วยที่เรียกว่า ‘การลงทุน’ เพื่อให้เงินช่วยเราทำงาน ซึ่งก็จะมีออกดอกออกผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมาได้

ขั้นตอนที่หก เรียนรู้การลงทุน ให้เงินทำงานแทน หลายคนพอเห็นคำว่า ‘การลงทุน’ อาจจะรู้สึกว่ายากจัง แต่ผมอยากบอกว่า เรื่องการลงทุน คุณไม่จำเป็นต้องลงทุนเก่ง ก็สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ปีละ 6-8% ได้ด้วย ‘การลงทุนอิงดัชนี’ หรือจะใช้กลยุทธ์ที่ทำตามง่ายแต่ได้ผลจริง คือ การลงทุนแบบ ‘DCA’ หรือ Dollar-Cost Averaging ซึ่งเป็นส่วนเสริมที่ทำให้พอร์ตกลับมาเติบโตและทำกำไรได้เร็วขึ้นจากการเฉลี่ยต้นทุน การมีวินัยที่ชัดเจนและสม่ำเสมอจะทำให้การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงราบรื่นขึ้นได้อย่างแน่นอน

แต่ถ้าคุณไม่เคยรู้จักคำเหล่านี้มาก่อน สิ่งสำคัญ คือ คุณต้อง ‘หาความรู้’ เรื่องการลงทุนเพิ่มเติมด้วยตัวเอง โดยอาจจะเริ่มจากหนังสือด้านการลงทุน อาทิ THE Jitta WAY (วิถีจิตตะเพื่อการลงทุนเน้นคุณค่า) คุณจะรู้หลักการลงทุน การเลือกซื้อหุ้นราคาถูก ธุรกิจมีอนาคต และอีกหลายๆ เรื่อง ที่ติดอาวุธลงทุน หรือหาข้อมูลแหล่งความรู้ฟรีบนอินเทอร์เน็ตที่มีเยอะมาก ยิ่งคุณมีความรู้ในการลงทุนมากขึ้นเท่าไหร่ แผนเกษียณของคุณก็จะยิ่งยืดหยุ่นมากขึ้นตามไปด้วย และไม่แน่ว่าพอศึกษาเรื่องการลงทุนมากขึ้นแล้ว คุณอาจจะมีเงินใช้ตอนเกษียณมากกว่าที่วางแผนไว้ครับ

ขั้นตอนที่เจ็ด การทำประกันภัย ต้องพร้อม หลังจากที่วางแผนเกษียณและการลงทุนแล้ว สิ่งที่ต้องมีต่อไป คือการจัดการความเสี่ยงและการสร้างความมั่งคั่งคู่ขนานกันไปตามความเหมาะสมของชีวิตแต่ละคนแล้วครับ

Photo : Shutterstock

ประกันภัย ถือเป็นเครื่องมือสำคัญช่วยบริหารความเสี่ยงชีวิตทางการเงินครับ เพราะทุกวันนี้ ‘เรื่องสุขภาพ’ ไม่เข้าใครออกใคร แม้เราจะพยายามดูแลสุขภาพออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารถูกหลักโภชนาการ แต่จู่ๆ มีโรคใหม่อุบัติขึ้น อย่างเช่น ‘โควิด-19’ ที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ ยังมีเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์อยู่ และในอนาคตอาจมีโรคใหม่อื่นๆ อีกก็ได้ ซึ่งเวลาที่คุณเกิดเจ็บป่วยหนักขึ้นมา กรณีไม่ได้ทำประกันสุขภาพไว้ คุณก็ต้องจ่ายเองหมด ไม่มีใครมาช่วงแบ่งเบาภาระได้ ยิ่งทุกวันนี้ค่ารักษาพยาบาลมีแต่แพงขึ้นทุกวัน อาจทำให้ฐานะการเงินที่มีอยู่ของคุณสั่นคลอนและเปราะบางลงในที่สุดก็ได้

การทำประกันสุขภาพหรือประกันชีวิตตามความเหมาะสมกับช่วงชีวิตนั้นๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญและต้องคิดให้ละเอียด เพื่อไม่ให้การเจ็บป่วยมากระทบกับแผนเกษียณที่คุณออกแบบมามากจนเกินไป

Trick คือคุณอาจเทียบค่าใช้จ่ายของโรงพยาบาลที่คุณใช้บริการบ่อยๆ เพื่อดูว่าต้องซื้อความคุ้มครองแค่ไหน หรือดูว่ามีคนที่รอรับรายได้ต่อจากคุณอยู่มากแค่ไหน โดยอาจจะเป็นพี่น้อง พ่อแม่หรือหลานๆ ก็ได้

ที่สำคัญคือเบี้ยประกันสุขภาพสามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย เป็นผลประโยชน์ต่อที่ 2 ที่เหล่าคนโสดสายมนุษย์เงินเดือนน่าจะรู้กันดี

จัดระเบียบการเงิน ปูพรมชีวิตมั่นคง มั่งคั่ง อุ่นใจ ถึงวัยเกษียณ

เรื่องเงินคือเรื่องสำคัญของชีวิตทุกคนครับ ถ้าคุณไม่อยากนั่งทนปวดหลังทำงานแต่ละวันไปแบบฟรีๆ ก็จะต้องหันกลับมามองตัวเองและเริ่มจัดระเบียบการเงินให้ตัวเองบ้างแล้ว มาเริ่มสร้างสุขภาพทางการเงินกันครับ

เพียงคุณเริ่มทำ 7 ขั้นตอนนี้ได้ คุณจะอุดรอยรั่วได้และเริ่มมีสุขภาพทางการเงินที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งผมก็เชื่อว่าทุกคนทำได้ครับ แม้ว่าการวางแผนการเงิน ช่วงแรกๆ หรือระหว่างทาง อาจจะไม่ได้ทำให้คุณร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น แต่อย่างน้อยเงินที่ได้จากน้ำพักน้ำแรงของคุณ ก็จะค่อยๆ ออกดอกออกผลในรูปแบบต่างๆ ตกมาถึงตัวคุณตามระยะเวลาบ้าง ที่สำคัญคุณจะได้มุมมองใหม่ๆ การบริหารจัดการเรื่องการเงิน และเริ่มเห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

และหากในอนาคต คุณพบคนที่ใช่ อยากจะสละโสดแล้วมาใช้ชีวิตคู่ด้วยกัน คุณก็จะมีรากฐานที่แข็งแรงเพื่อสร้างครอบครัวที่มั่นคงได้อีกระดับ เปรียบเสมือนคุณกำลังสร้างเรือที่แข็งแกร่งพร้อมฝ่ามรสุมชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดช่วงชีวิตของคุณ

ยิ่งไปกว่านั้น การวางแผนการเงินส่วนบุคคล ยังเป็นรากฐานให้คุณมีสุขภาพการเงินที่มั่นคง มั่งคั่งไปถึงเป้าหมายในชีวิตวัยเกษียณอย่างอุ่นใจ ใช้ชีวิตอิสระสุขเกษมสำราญบั้นปลายชีวิตกับลูกหลานครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอพูดในฐานะตัวแทนของ Jitta ซึ่งให้บริการดูแลลูกค้ามาจนเข้าสู่ปีที่ 11 แล้ว เราก็คงมีเป้าหมายที่อยากเห็นทุกคนมีสุขภาพการเงินแข็งแรงครับ และเราเองก็ต้องการขยายขอบเขตด้านการเงินและการลงทุนให้มากขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ทุกคนมีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรงได้ มาร่วมกันสร้าง Wealth & Health เติบโตไปด้วยกันนะครับ